Skip to main content

วิธีดูโรงพยาบาล

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดทำคู่มือ 3 เล่มเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้ประโยชน์เมื่อเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล


หนึ่งคือ ข้อมูลพื้นฐานหน่วยบริการ สองคือ คู่มือคุณภาพสำหรับประชาชน สามคือ คู่มือผู้ป่วย


เล่มแรก จะบอกข้อมูลพื้นฐานของโรงพยาบาล ช่วยให้ประชาชนทำความรู้จักโรงพยาบาลที่ตนเองจะไปรับการรักษาคร่าว ๆ


เล่มที่สอง จะแนะนำวิธีสังเกตระดับคุณภาพของโรงพยาบาล


ส่วนเล่มที่สาม จะบอกวิธีประพฤติปฏิบัติตัวเมื่อต้องเป็นผู้ป่วย ไม่เฉพาะเรื่องสิทธิตามหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนควรมีควรได้ แต่รวมถึงวิธีประพฤติปฏิบัติตัวเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลให้สามารถดูแลรักษาเราอย่างดีและปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


วันนี้จะอธิบายเล่มแรกคือ เรื่องข้อมูลพื้นฐานของโรงพยาบาล เพราะเข้าใจว่าแม้จะมีเอกสารจัดพิมพ์ออกเผยแพร่แล้ว แต่ประชาชนซึ่งมิได้เรียนแพทย์เรียนสาธารณสุขก็อาจจะไม่เข้าใจข้อมูลที่ปรากฏ รวมทั้งอาจจะเข้าใจข้อมูลเหล่านั้นผิดทิศผิดทางซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งต่อระบบสาธารณสุข ผู้ป่วย และตัวโรงพยาบาลเอง


ข้อมูลพื้นฐานหน่วยบริการเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Hospital Profile เป็นเอกสารที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลตามระบบ HA หรือ Hospital Accreditation ต้องจัดทำอยู่แล้ว พบว่ารายละเอียดที่ปรากฏนั้นมีมากเกินกว่าที่ประชาชนจะใช้ประโยชน์ จึงได้มีความพยายามที่จะลดทอนและทำข้อมูลบางประการให้ง่ายต่อประชาชน ที่จะเข้าใจและใช้ประโยชน์ได้


คู่มือเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเป็นภารกิจของ "คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข" ตาม "พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545" มาตรา 50 (9) นั่นคือ "สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อให้ประกอบการตัดสินใจในการเข้ารับบริการสาธารณสุข"


คู่มือเหล่านี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนใช้ตัดสินใจเข้ารับบริการสาธารณสุข แต่ยังมีประโยชน์สำหรับโรงพยาบาลด้วยกันเอง ที่จะใช้ประโยชน์เพื่อประกอบการตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วย


ข้อมูลที่ปรากฏใน "คู่มือข้อมูลพื้นฐานหน่วยบริการ" สำหรับประชาชนน่าจะมีดังต่อไปนี้


สถานที่ตั้งพร้อมแผนที่ ชื่อเจ้าของหรือต้นสังกัด จำนวนเตียงผู้ป่วย ประวัติการก่อตั้ง


วิสัยทัศน์ พันธกิจ ปรัชญา และเกียรติประวัติ


ประเภทของการเข้าร่วมในระบบประกันสุขภาพ เป็นหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือเป็นประกันสังคมหรือทั้งสองอย่าง


รายชื่อสถานพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายและรายชื่อสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบส่งต่อ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์เพื่อให้ความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียน


ประเภทของระบบคุณภาพที่โรงพยาบาลกำลังพัฒนา เช่น ใช้ระบบ HA หรือ ISO หรืออื่น ๆ


ข้อมูลที่ดีมาก คือข้อมูลกำลังคน ได้แก่ จำนวนแพทย์ จำนวนแพทย์สาขาต่าง ๆ เช่น จำนวนศัลยแพทย์ จำนวนศัลยแพทย์เด็ก จำนวนแพทย์โรคหัวใจ จำนวนแพทย์โรคไต เป็นต้น รวมทั้งจำนวนทันตแพทย์ จำนวนพยาบาล และจำนวนบุคลากรทุกหน้าที่ ร่ายยาวไปจนถึงจำนวนนักจิตวิทยา จำนวนแพทย์แผนไทย จำนวนนักกายภาพบำบัด เป็นต้น


ข้อมูลเรื่องกำลังคนเป็นส่วนที่สำคัญ และให้ประโยชน์แก่ประชาชนได้มาก หากท่านพอมีความรู้อยู่บ้างว่าความเจ็บป่วยของบุตรหลานควรได้รับการผ่าตัดจากศัลยแพทย์เด็ก เช่น ลำไส้อุดตันในเด็ก ท่านจะได้สืบเสาะได้ด้วยตนเองว่าโรงพยาบาลนั้นมีศัลยแพทย์เด็กหรือไม่ หากไม่มีใครจะเป็นผู้ผ่าตัดแทน หากส่งต่อควรส่งต่อไปที่ใด เป็นต้น


หากท่านพอมีความรู้อยู่บ้างว่า ความเจ็บป่วยของบุพการีของท่านควรได้รับการช่วยเหลือจากนักกายภาพบำบัด เช่น อัมพาต ท่านจะได้สืบเสาะด้วยตนเองว่าโรงพยาบาลนั้นมีนักกายภาพบำบัดมากน้อยเพียงใด พอเพียงที่จะดูแลบิดามารดาของเราหรือไม่ หากไม่มีหรือไม่เพียงพอควรจะส่งต่อไปที่ใด เป็นต้น


การเรียกร้องบุคลากรที่มีวุฒิและความสามารถเป็นผู้รักษาญาติมิตรของเรา มิใช่เป็นไปเพื่อกดดันโรงพยาบาล แต่เป็นไปเพื่อร่วมกันคิดว่าโรงพยาบาลจะช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างไรให้ดีที่สุด


หากไม่มีบุคลากรจะให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยอย่างไรว่าผู้รักษาที่ทำหน้าที่แทนนั้นมีความสามารถเพียงพอ หากไม่มั่นใจควรทำอย่างไรจึงมั่นใจ หากทำอะไรไม่ได้ควรวางระบบส่งต่อในเครือข่ายอย่างไร ควรร้องขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลในระบบส่งต่ออย่างไร ทั้งหมดนี้ควรช่วยกันคิดร่วมมือกันทำทั้งสิ้น


ที่สำคัญคือ จะได้เป็นข้อมูลให้รัฐหรือผู้รับผิดชอบรับทราบว่า ประเทศของเราขาดแคลนศัลยแพทย์เด็กมากน้อยเพียงใด ขาดแคลนนักกายภาพบำบัดมากน้อยเพียงใด เป็นต้น จะได้เร่งผลิตบุคลากรสาขาขาดแคลนออกมาให้พอใช้งาน


มิใช่ผลิตบุคลากรสาขาที่ล้นตลาดอยู่แล้วออกมาอีก