Skip to main content

แต่งตัวให้คอมฯ ( ๔) - กำแพงเบอร์ลิน

คอลัมน์/ชุมชน











































































































































สวัสดี ไม่ได้พบกันตั้งนานแต่ไม่ลืมเพื่อนหรอกครับ เพื่อนทั้งหลาย !

 

 ที่ไม่ได้พบกันตั้งนาน ก็เพราะว่าผมมีอารมณ์ไม่ค่อยดีมาประมาณเจ็ดเดือนแล้วครับ เพราะนึกว่าตัวเองอยู่ในฝันร้ายมาตลอด พอหยิกตัวเองให้ตื่นก็พบว่ายังอยู่ในฝันร้ายเรื่องเดิมอยู่ดี

 

เอาล่ะ ฝันร้ายยังคงอยู่ ... แต่หมอกเริ่มจางลงบ้าง ... ประชาชนเริ่มจะเข้าใจกันและกันมากขึ้น ผู้นำประเทศเปลี่ยนท่าทีไปบ้างแล้ว กระบวนการสมานฉันท์เริ่มต้นแล้ว ผมก็เลยกลับมาแต่งตัวให้คอมฯ ต่อ พยายามทำใจให้สงบและมุ่งให้ทุกคนที่เข้ามาอ่านคอลัมน์นี้ทำใจให้สงบด้วย ขอให้เราอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี ด้วยสันติภาพ ด้วยสันติสุขเทอญ

 

วันนี้จะพูดเรื่อง สุขภาพของคอมฯ ต่อนะครับ เพราะนอกจากการใช้ยาต้านไวรัสที่ได้กล่าวถึงแล้ว ยังมีมาตรการอื่นที่จำเป็นต้องใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คอมฯ เป็นไข้หวัดนกหรือไข้เลือดออก หรือโรค " เดสมอเร่ " นั่นเอง

 

เรายังจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันการสอดรู้สอดเห็นและสอดแนมจากบุคคลภายนอกที่ไม่หวังดี ทั้งยังต้องคำนึงถึงการป้องกันไม่ให้บราวเซอร์ถูกใช้เป็นป้ายโฆษณา และการป้องกันไม่ให้คอมฯ แอบโทรศัพท์ไปต่างประเทศนานเป็นชั่วโมง ( เสมือนเป็นลูกสาววัย ๑๕ ปีที่แฟนไปเที่ยวต่างประเทศ ๒ วัน ) แถมยังมีเรื่องของการป้องกันการรับอีเมล์ที่เต็มไปด้วยภาพอุบาทว์ตาอีกด้วย ( อุบาทว์เสียจนต้องเข้าไปตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีลิงค์ปรากฎในอีเมล์นั้น )

 

มาตรการแรก คือ การสร้างกำแพงเบอร์ลินล้อมรอบคอมฯ ของเรา เพื่อน ๆ คงจะจำได้ว่ากำแพงเบอร์ลินเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลยสำหรับชาวเยอรมันตะวันออกในอดีต เพราะนอกจากจะเป็นการกั้นไม่ให้บิ๊กแมค เค . เอฟ . ซี . พิซซ่าฮัท หรือ เซเว่นฯ นำความเจริญก้าวหน้าเข้าไปสู่ดินแดนแห่งนั้นแล้ว ยังทำให้ชาวเยอรมันตะวันออกที่พยายามปีนข้ามกำแพงมาสู่โลกเสรีจำนวนไม่น้อยต้องพบกับความตาย ( ไม่ต่างกับผู้ที่อยู่กันอย่างสงบหรือมาชุมนุมกันโดยสงบในดินแดนแห่ง " บินหลา " ทุกวันนี้ )

 

แต่สำหรับคอมฯ นั้น กำแพงเบอร์ลินเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ต่อสุขภาพ เพราะนอกจากจะป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของคอมฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตในขณะที่ต่ออินเตอร์เน็ตแล้ว กำแพงเบอร์ลิน ( ชื่อจริงคือ " ฟาเยอร์วอล " ซึ่งแปลว่า " ผนังกันไฟ ") ยังป้องกันไม่ให้โปรแกรมสายลับที่อาจเข้ามาแอบซ่อนตัวอยู่ในแผ่นแข็งของคอมฯ ส่งข้อมูลออกไปให้เจ้านายของมันทางอินเตอร์เน็ตอีกด้วย

 

เอ๊ะ ... ( เพื่อนคงสงสัย ) ... ถ้าเราติดตั้งกำแพงแบบนี้แล้ว คอมฯ ของเราจะติดต่อกับโลกภายนอกได้อย่างไร ?

 

     ไม่ยากเลยครับ เพื่อน สำหรับโปรแกรมในคอมฯ ที่เพื่อนประสงค์จะให้ติดต่อภายนอกทางอินเตอร์เน็ต เมื่อเพื่อนเปิดใช้งานโปรแกรมดังกล่าว กำแพงเบอร์ลินก็จะรายงานมาว่าโปรแกรมดังกล่าวกำลังขอเดินทางออกนอกประเทศเพื่อล่องอินเตอร์เน็ต แล้วหากเพื่อนเห็นว่าการติดต่อภายนอกของโปรแกรมนั้นตรงกับความประสงค์ของเพื่อน เพื่อนก็สามารถออกหนังสือเดินทางให้ แล้วเพื่อนยังสามารถเลือกได้ว่าจะออกหนังสือเดินทางให้แบบชั่วคราวหรือแบบถาวร

 

 ยกตัวอย่างเมื่อเพื่อนเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแล้วเปิดโปรแกรมอินเตอร์เน็ตเอ๊กซ์พลอเรอร์ กำแพงเบอร์ลินจะถามทันทีว่าคุณต้องการออกหนังสือเดินทางให้เจ้าอินเตอร์เน็ตเอ๊กซ์พลอเรอร์ หรือเปล่า แน่นอนเพื่อนก็ต้องตอบว่า " ใช่ " เพราะเพื่อนตั้งใจใช้มันไปเก็บข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว และถ้าเพื่อนขี้เกียจออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้มันบ่อย ๆ เพื่อนก็สั่งออกหนังสือเดินทางถาวรให้มันก็ได้ ( แต่ก็ยังสามารถยึดหนังสือเดินทางกลับหากเมื่อใดพบว่าโปรแกรมนี้มีพฤติกรรมผิดเพี้ยน )

 





อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติอยู่ดี ๆ กำแพงเบอร์ลินของเพื่อนรายงานมา ว่า " ขณะนี้เจ้า ‘ นกขมิ้น ’ ขอติดต่อภายนอก " " เอ๊ะ ... เจ้า ‘ นกขมิ้น ’ เป็นใคร ? ไม่เคยรู้จักมาก่อน แล้วก็ไม่ได้เรียกมาใช้งาน " - แสดงว่าน่าจะเป็นโปรแกรมสายลับ ... ทีนี้เพื่อนก็เพียงแต่ตอบว่าไม่อนุญาตออกหนังสือเดินทางให้ก็หมดเรื่อง มันก็จะติดต่อเจ้านายของมันไม่ได้
 
เพื่อนรู้ไหมว่า มีโปรแกรมสร้างปัญหาบางชนิด ( พวก " ไดแอลเลอร์ " หรือพวก " ต่อโทรศัพท์ ") ที่เมื่อแทรกเข้ามาซ่อนตัวในเครื่องคอมฯ แล้ว หากเพื่อนไม่มีกำแพงกันไฟ พอเผลอหน่อยมันจะแอบต่ออินเตอร์เน็ตด้วยตัวมันเอง แต่เป็นการต่ออินเตอร์เน็ตแบบโทรทางไกลข้ามทวีบชนิดนาทีละหลายสิบบาท เพื่อดาวน์โหลดรูปโป๊มาให้เพื่อน กว่าเพื่อนรู้ตัวอาจจะเสียค่าโทรศัพท์ข้ามทวีบไปแล้วหลายพันบาท
 
 
ข้อดีอีกข้อหนึ่งของกำแพงเบอร์ลินสำหรับคอมฯ คือมัน จะทำให้บุคคลข้างนอกมองไม่เห็นคอมฯ ของเพื่อนเลย ยกเว้นบุคคลภายนอกที่เพื่อนเลือกที่จะติดต่อเอง หรือที่ติดต่อเพื่อนทางอีเมล์ หรือแมสเซ็นเจอร์ หรือทางโปรแกรมอื่นที่เพื่อนเป็นผู้ติดตั้งเอง ดังนั้นจึงเป็นการยากที่บุคคลภายนอกจะเข้ามาสอดรู้สอดเห็นหรือเข้ามาควบคุมการดำเนินงานของคอมฯ ของเพื่อน
 
 
ที่ดีมาก ๆ คือฟาเยอร์วอลของเพื่อนอาจจะสามารถ ช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทซอฟท์แวร์ยักษ์ใหญ่เช่นไมโครซอฟท์ ส่งสายลับเข้าไปตรวจสอบคอมฯ ของเพื่อนว่ามีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้นหรือไม่ ( ในประเทศไทยผมขอท้าเลยว่าเครื่องคอมฯ กว่า ๙๙ % บรรจุของนิ่มที่ผิดกฎหมายไม่มากก็น้อย )
 
 
  เพื่อนอาจจะอยากรู้ว่า จะหาและติดตั้งฟาเยอร์วอลได้อย่างไร ?
 
 
หากคอมฯ ของเพื่อนติดตั้งหน้าต่างประเภท " เอกซ์พี " ขอแจ้งให้ทราบว่าหน้าต่างของเพื่อนมีกำแพงเบอร์ลินบรรจุไว้อยู่แล้ว และหากหน้าต่างของเพื่อนเป็น " เอกซ์พี " รุ่น " เอ็สพี ๒ " หรือตั้งค่าไว้ให้อัพเดทโดยอัตโนมัติ กำแพงเบอร์ลินนั้นจะทำงานอยู่แล้ว ยกเว้นเพื่อนได้ปิดมันไว้โดยเจตนา ซึ่งเพื่อนสามารถเข้าไปเปิดใหม่หรือปรับค่าได้ทางแผงควบคุม " คอนโทรลแพเนล
 
 
เท่าที่ผมเคยทดสอบดู ผมพบว่ากำแพงเบอร์ลินของหน้าต่าง " เอกซ์พี " เป็นกำแพงเบอร์ลินที่ใช้ได้ดีพอสมควร ประการแรกมันจะรบกวนเจ้าของเฉพาะเมื่อจำเป็นจริง ๆ ( น้อยมาก ) ประการที่สอง ผมพบว่าผลการทดสอบกำแพงตัวนี้ทางอินเตอร์เน็ตมักจะได้ผลเป็นคะแนนเต็ม ดังนั้น หากเพื่อนมีไว้ใช้อยู่แล้วจึงอาจไม่จำเป็นจะต้องใช้กำแพงเบอร์ลินชนิดอื่น
 
 
 แต่หากเพื่อนใช้หน้าต่างรุ่นอื่น ๆ เช่น " ๙๕ " " ๙๘ " หรือ " ฉันเอง " ขอแนะนำกำแพงเบอร์ลินชนิดฟรีที่ชื่อ zonealarm ซึ่งดาวน์โหลดได้ที่ http://tinyurl.com/2ckju
 
 
และเมื่อคอมฯ ของเพื่อนติดตั้งฟาเยอร์วอลแล้ว เพื่อนสามารถทดสอบประสิทธิภาพของมันได้ที่ http://tinyurl.com/sovd
 
สัปดาห์หน้าเราจะคุยกันต่อเรื่องสุขภาพของคอมฯ ในประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาด้าน " แอ๊ดแวร์ " และ " สปายแวร์ "
 สวัสดีครับ
 
 

" ผลการทดสอบกำแพงเบอร์ลินของหน้าต่าง เอ็กซ์พี"
 

รู้แล้ว ไม่เสียหาย



     เดี๋ยวนี้เวลาจะดาวน์โหลดโปรแกรมดีๆ จากเวบไซท์ของไมโครซอฟท์วินโดวส์ เช่น เครื่องเล่นมีเดียรุ่นที่ ๑๐จะต้องกดปุ่มที่มีข้อความทำนองว่า " โปรแกรมนี้สำหรับลูกค้าที่มีหน้าต่างของแท้ กดปุ่มนี้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของวินโดวส์ของท่าน "



    เพื่อน ๆ ที่มีความผิดทางอาญาบางประการคงจะหยุดชะงัก ไม่กล้ากดต่อไป แต่หากเพื่อนลองรวบรวมความกล้าหาญกดต่อไปแล้ว จะพบกับเว็บหน้าใหม่ที่ให้ทางเลือกก่อนการดาวน์โหลดว่าจะตรวจสอบความถูกต้องของวินโดวส์ก็ได้ หรือจะดาวน์โหลดโดยไม่ตรวจสอบก็ได้ ... แล้วแต่ความสมัครใจ !



     นี่คือกลยุทธ์ที่ทำให้เกิดอาการใจหายใจคว่ำของไมโครซอฟท์ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเพื่อนทุกคนคงจะไม่เกี่ยงที่จะพิสูจน์ความถูกต้องของหน้าต่างบนเครื่องของเพื่อนก่อนการดาวน์โหลด จริงไหมครับเพื่อน ?