Skip to main content

แต่งตัวให้คอมฯ (๕) - จระเข้ใจดี

คอลัมน์/ชุมชน


สวัสดี เช่นเคยครับ เพื่อนทั้งหลาย !


วันนี้ผมยังจำเป็นต้องชวนเพื่อนคุยเรื่องสุขภาพของคอมฯ เพราะแม้ผมจะรู้สึกว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย และอยากนำเรื่องที่ตื่นเต้น ๆ มานำเสนอต่อเพื่อนบ้าง เช่น โปรแกรมแต่งคอมฯ ให้สวย แต่งรูปถ่ายให้แจ๋ว โปรแกรมล่องอินเตอร์เน็ตชมเว็บไซต์ที่คุณทักษิณห้ามไม่ให้ชม เป็นต้น


แต่เรื่องสุขภาพของคอมฯ ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าจะให้คอมฯ ใช้งานได้ดี และในวันนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องการป้องกันและการขจัดโปรแกรมร้ายที่เรียกกันว่า " แอ๊ดแวร์" [Adware] (ไม่เกี่ยวกับวงคาราบาว) กับ " สปายแวร์" [Spyware] (ไม่เกี่ยวกับไวน์คูลเลอร์) ซึ่งของนิ่มทั้งสองแบบเป็นโปรแกรมที่ไม่ใช่ไวรัส จึงไม่สามารถป้องกันและกำจัดด้วยโปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่ผมเคยกล่าวถึงมาแล้ว และในบางกรณีโปรแกรมชนิดนี้ยังมีฤทธิ์เดชที่ร้ายยิ่งไปกว่าไวรัสส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ ทั้งยังเข้าไปอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างง่ายดายเสียด้วย


โปรแกรมทั้งสองแบบนี้เป็นโปรแกรมที่ส่วนใหญ่ถูกต้องตามกฎหมาย (อย่างคาบเส้น) ซึ่งผลิตและเผยแพร่เพื่อสร้างกำไรให้แก่บริษัทเจ้าของโปรแกรม และบางบริษัทมีกำไรมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมที่มีแบรนด์เนมว่า " เกเต้อร์" ( Gator) ของบริษัทชื่อเดียวกัน ซึ่งมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปจระเข้ใจดี มีอีกชื่อที่ใช้ควบคุ่กัน ได้แก่ " เกน " ( Gain Network ) และในขณะนี้บริษัทดังกล่าวได้เริ่มใช้ชื่อใหม่เป็น " คลาเรีย" (Claria) เพื่อเป็นการปรับปรุงภาพลักษณ์ของตน


เพื่อนทราบไหมครับ ว่าขณะนี้มีคอมพิวเตอร์ทั่วโลกประมาณ ๓๕ ล้านเครื่องที่บรรจุของนิ่มของบริษัทนี้ ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่นำโฆษณาต่าง ๆ ที่บริษัทได้สรรหามาให้เป็นของขวัญ มาขึ้นบนจอเพื่อให้ผู้ใช้คอมฯ ได้ชมไปพลาง ๆ ในขณะที่กำลังเปิดเครื่องใช้งาน และโดยเฉพาะในขณะที่กำลังล่องอินเตอร์เน็ต โฆษณาที่ขึ้นบนจอดังกล่าวจะตรงกับรสนิยมของผู้ใช้คอมฯ อย่างน่าทึ่ง เพราะเจ้าเข้ใจดีนั้นได้ศึกษาพฤติกรรมการล่องอินเตอร์เน็ตของผู้ใช้มาตลอดและได้รายงานออกไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัท เช่นในกรณีที่ผู้ใช้คอมฯ ชอบเข้าชมเว็บไซต์เกี่ยวกับรถยนต์ก็จะถูกป้อนโฆษณารถยนต์ ชอบดูหนังโป๊ก็จะได้ชมโฆษณาเว็บไซต์หนังโป๊ ชอบเรื่องสุขภาพก็จะได้รับโฆษณายาสมุนไพร เป็นต้น


โปรแกรมประเภทนี้จึงเป็นโปรแกรมสอดส่องพฤติกรรมของผู้ใช้คอมฯ และป้อนโฆษณาที่เลือกเฟ้นมาเป็นพิเศษให้แก่ผู้รับโดยเฉพาะ สมดังชื่อ " แอ๊ดแวร์" และ" สปายแวร์" และเป็นของนิ่มที่หน้าด้านที่สุด จนสุดที่จะพรรณนาได้ เหมือนกับนักการเมืองบางคนที่ผมรู้จัก !


หน้าด้านอย่างไรหรือ ? เดี๋ยวผมจะค่อยสาธยายให้เพื่อนเกิดความรู้สึกแค้นใจสุดขีดครับ เริ่มต้นด้วยแบนเนอร์บนโฮมเพจของบริษัท " คลาเรีย" ที่แสดงว่าบริษัทนี้มีคุณธรรม ต่อต้าน " สปายแวร์"! เพื่อนลองเข้าไปชมพลางกัดฟันได้ที่ http://www.claria.com


มีความเป็นไปได้ที่เจ้าจระเข้ใจดีหรือโปรแกรมทำนองเดียวกัน (ซึ่งมีจำนวนนับพันชนิด) อาจจะอาศัยอยู่บนเครื่องคอมฯ ของเพื่อนอยู่แล้ว ... เป็นไปได้อย่างไรหรือ ? ก็เพราะเพื่อนอาจเป็นผู้ยินยอมตกลงให้มันเข้าไปอยู่เอง !


ยินยอมได้อย่างไรหรือ ? ก็ตอนที่เพื่อนดาวน์โหลดวอลเปเปอร์หรือสกรีนเซเวอร์สวย ๆ เพื่อมาประดับเครื่องคอมฯ หรือติดตั้ง " ทูลบาร์" ให้ใช้ควบคู่กับ " อินเตอร์เน็ตเอ็คซ์พลอเรอร์" เพื่อการค้นหาเว็บไซต์ที่ต้องการได้อย่างสะดวก หรือตอนที่เพื่อนติดตั้งโปรแกรม " คาซาร์" เพื่อดาวน์โหลดเพลงประเภท " เอ็มพี ๓" หรือภาพยนตร์ประเภท "DivX" หรือ " เมเซ็นเจอร์พลัส" เพื่อการแชทกับเพื่อน ๆ ในบรรยากาศที่โรแมนติก (อย่าเข้าใจผิดว่า " เมเซนเจอร์พลัส" เป็นของบริษัท " ไมโครซอฟท์" นะ แม้จะมีสัญลักษณ์ที่หน้าตาคล้ายกับสัญลักษณ์ของ " เอ็มเอ็ซเอ็น" ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เลย ! )


เพื่อนคงจะไม่ได้อ่านรายละเอียดของข้อตกลงในการติดตั้งของนิ่มต่าง ๆ เหล่านี้ เพียงแต่กดคำว่า " ตกลง" ไปโดยอัตโนมัติ และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เพื่อนก็จะมาหาว่าเจ้าจระเข้ใจดีได้เข้าไปบุกรุกเครื่องคอมฯ ของเพื่อนไม่ได้เลยนะ ! เพราะเพื่อนเป็นผู้ที่กดปุ่มตกลงอนุญาตให้มันเข้าไปเอง !


มีนักวิจัยคนหนึ่งพบว่าข้อตกลงในการติดตั้ง " คลาเรีย" ควบคู่กับ " คาซาร์" เป็นข้อความที่ยาวถึง ๕๖ หน้า นับจำนวนคำโดยรวมได้ ๕๕๔๑ คำ ซึ่งเป็นข้อความที่ยาวกว่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาถึง ๙๒๕ คำ ภายในข้อตกลงดังกล่าวมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า หากเจ้าของคอมฯ พยายามถอดถอนการติดตั้ง " คลาเรีย" ออกจากคอมฯ ของตน โดยวิธีการที่บริษัท " คลาเรีย" ไม่อนุญาต เจ้าของคอมฯ จะมีความผิด ! บอกแล้วไงว่ามันหน้าด้าน !


เจ้าจระเข้ใจดีนั้นจึงมีลักษณะเป็นกาฝากที่เกาะติดกับโปรแกรมอื่น ๆ ที่ผู้ใช้คอมฯ ต้องการดาวน์โหลดมาใช้งาน มันสามารถแสดงโฆษณาได้หลายรูปแบบ เริ่มต้นมันจะเปลี่ยนโฮมเพจในบราวเซอร์ใหม่ให้เป็นหน้าโฆษณาของตัวมันเอง นอกจากนี้มันอาจติดตั้งทูลบาร์ของมันบนบราวเซอร์ " อินเตอร์เน็ตเอ็คซ์พลอเรอร์" เพื่อลิงค์ไปยังเว็บไซต์ที่มันต้องการประชาสัมพันธ์ แล้วโฆษณาต่าง ๆ ของมันจะปรากฏในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้คอมฯ เข้าไปชม (บางครั้งวางทับซ้อนกับโฆษณาเดิมที่อยู่ในเว็บไซต์นั้น) แล้วมันยังมีโฆษณาประเภทเด้งขึ้นเองหรือ " พ๊อพอัพ" และประเภท " แบนเนอร์" ที่แปะไว้บน เดสค์ทอพอีกด้วย ความจริงแล้วมันเป็นปีศาจที่แปลงร่างเข้าไปสวมอยู่ในวิญญาณของ " อินเตอร์เน็ตเอ็คซ์พลอเรอร์" และที่สำคัญมันเขมือบทรัพยากรต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ได้ถึง ๑๕% ทำให้คอมฯ ทำงานอืดอาดกว่าเดิมมาก


การถอนการติดตั้งโปรแกรมประเภทนี้ทำได้ยากมาก อย่าหวังเลยว่าจะถอนได้เหมือนโปรแกรมทั่วไป ปกติวิธีเดียวที่จะถอนได้สำเร็จต้องถอนการติดตั้งทุกโปรแกรมที่เคยได้รับการติดตั้งควบคู่กับตัวมัน แต่ถ้าเกิดข้อผิดพลาดใด ๆ หรือถ้าพยายามลบตัวมันออกจากแผ่นแข็งโดยลำพัง มันจะแผลงฤทธิ์ล๊อคคอมฯ ไม่ยอมให้ล่องอินเตอร์เน็ตอีกต่อไป ยกเว้นการเข้าชมหน้าโฆษณาของตัวมันเอง แถมมันจะโปรยโฆษณาออกมายิ่งมากกว่าเดิม ทำให้คอมฯ แทบจะใช้งานอื่นไม่ได้เลย


เมื่อไม่นานมานี้เครื่องคอมฯ ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ได้เกิดปัญหาดังที่กล่าวมานี้ ผมได้พยายามถอนการติดตั้งเจ้าจระเข้ใจโหดนี้โดยการถอนโปรแกรมต่าง ๆ ที่นำมันเข้ามา แต่ก็ไม่สำเร็จ พยายามใช้โปรแกรมต่าง ๆ ที่มีหน้าที่กำจัดแอ๊ดแวร์และสปายแวร์ ก็ไม่ได้ผล ในที่สุดผมแก้ปัญหาได้โดยการเปิดยูเซ่อร์ (ผู้ใช้) คนใหม่ในระบบวินโดวส์เอ็กซ์พีมืออาชีพ แล้วย้ายแฟ้มเอกสารของยูเซอร์เก่าทั้งหมดมาใช้กับยูเซอร์ใหม่ คราวนี้จึงสำเร็จ


อย่างที่ได้กล่าวแล้ว โปรแกรมประเภทแอ๊ดแวร์และสปายแวร์มีเป็นจำนวนนับพัน และบางตัวสามารถเข้าไปอยู่ในคอมฯ ในระหว่างการล่องอินเตอร์เน็ตเฉย ๆ โดยไม่ต้องให้การยินยอมใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นคอมฯ ทุกเครื่องควรจะต้องติดตั้งโปรแกรมเพื่อป้องกันและกำจัดกาฝากพวกนี้ ซึ่งโปรแกรมป้องกันและกำจัดกาฝากก็มีจำนวนนับพันเช่นเดียวกันและส่วนใหญ่จะต้องควักกระเป๋าเพื่อให้ได้มา ทำให้ผมสงสัยว่าในบางกรณีผู้ผลิตโปรแกรมสปายแวร์กับผู้ผลิตโปรแกรมกำจัดสปายแวร์น่าจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน


ขณะนี้ไม่มีโปรแกรมใดในโลกที่สามารถกำจัดแอ๊ดแวร์และสปายแวร์ทุกชนิดได้โดยลำพัง ดังนั้น ในที่นี้ผมจะแนะนำเพื่อนให้ติดตั้งโปรแกรมประเภทนี้ที่ฟรีจริง ๆ รวมแล้ว ๔ โปรแกรมดังต่อไปนี้




  • Microsoft Windows AntiSpyware (Beta) ถ้าเพื่อนใช้หน้าต่างรุ่น ๒๐๐๐ หรือเอ็กซ์พี ผมขอแนะนำอย่างแรงให้ติดตั้งโปรแกรมนี้เพราะขณะนี้เป็นโปรแกรมที่ที่ดีที่สุดที่สามารถใช้งานทั้งป้องกันและกำจัดกาฝาก แต่ใช้ได้เฉพาะกับวินโดวส์สองรุ่นดังกล่าว เพื่อนสามารถดาวน์โหลดมันได้ที่ http://tinyurl.com/ 5jhcs และไม่ต้องไปกลัวกับการกดปุ่ม "Continue" ที่โยงเข้ากับการตรวจสอบความถูกต้องของวินโดวส์ที่ติดตั้งบนคอมฯของเพื่อน (ลองอ่านข้อความท้ายคอลัมน์ตอนที่แล้ว) เพียงเมื่อผ่านเข้าไปในหน้าถัดไป ขอให้เพื่อนเลือกตรงกับข้อความ "No, do not validate Windows at this time, but take me to the download." แล้วกด "Continue" อีกครั้ง ในระหว่างการติดตั้งควรเลือกตัวเลือกที่บริษัทไมโครซอฟท์แนะนำทุกประการซึ่งจะทำให้โปรแกรมนี้ทั้งป้องกันและตรวจสอบกาฝากและอัพเดทตัวเองโดยอัตโนมัติ เป็นประจำ โดยเพื่อนไม่ต้องออกแรงเอง



  • Ad-Aware SE Personal Edition 1.06 ใช้ได้กับหน้าต่างทุกรุ่น เป็นโปรแกรมเดียวที่สามารถกำจัดเจ้าจระเข้ใจโหด (แต่บางกรณีก็กำจัดไม่ได้) รุ่นที่ฟรีนั้นสามารถใช้ตรวจสอบและกำจัดกาฝากได้เป็นอย่างดี แต่ใช้ป้องกันไม่ได้ ควรใช้ตรวจสอบแผ่นแข็งเป็นระยะๆ ประมาณสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ต่อครั้งและควรอัพเดทก่อนใช้ทุกครั้ง เพื่อนสามารถดาว์นโหลดได้ที่ http://tinyurl.com/yu 6cm



  • Spybot - Search & Destroy 1.4 ควรใช้ควบคู่กับโปรแกรมหมายเลข ๒. มีลักษณะที่คล้ายกัน แต่มักจะพบกาฝากบางชนิดที่หมายเลข ๒. หาไม่พบ จึงใช้เสริมกันได้ดี ดาว์นโหลดได้ที่ http://tinyurl.com/yrwy 2



  • SpywareBlaster 3.4 เป็นโปรแกรมป้องกันเพียงอย่างเดียวซึ่งก็ช่วยได้อีกแรงหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันกาฝากได้ทั้งหมด เมื่อติดตั้งแล้วก็ควรอัพเดทเป็นระยะๆ และตั้งค่าให้ป้องกันกาฝากทุกชนิด "Enable all protection" ดาว์นโหลดได้ที่ http://tinyurl.com/g1d9
ถ้าเพื่อนได้ติดตั้งโปรแกรมเหล่านี้ครบชุดเท่าที่ติดตั้งได้ แล้วอัพเดทและใช้งานเป็นประจำ พร้อมทั้งอัพเดทวินโดวส์เป็นประจำด้วย (ความจริงเรื่องนี้สำคัญที่สุดด้วยซ้ำ) และก่อนที่จะดาวน์โหลดโปรแกรม " ฟรี" ต่าง ๆ ถ้าเพื่อนได้ศึกษาดูว่าไม่มีโปรแกรมประเภทกาฝากพ่วงมาด้วย เครื่องคอมฯ ของเพื่อนน่าจะไม่ต้องพบกับปัญหาการถูกรบกวนดังที่ได้บรรยายไว้ข้างต้น

ขอให้เครื่องคอมฯ ของเพื่อนจงสุขภาพดี อายุยืนยาวเทอญ !


หมายเหตุ : ผมขอรับรองว่าโปรแกรมฟรีที่ผมแนะนำทั้งหลาย จะเป็นโปรแกรมที่ไม่มีกาฝากประเภทแอ๊ดแวร์หรือสปายแวร์พ่วงอยู่ด้วย ขอให้เพื่อนสบายใจได้



โลโก้จรเข้ใจดี



ตัวอย่างข้อตกลงให้ติดตั้งเจ้าจระเข้



ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อพยายามถอนการติดตั้ง