Skip to main content

สิทธิเด็ก สิทธิของใคร ?

เคยมีใครไม่เคยเป็นเด็กบ้างไหม เคยมีใครไหมที่ไม่ร้องไห้ตั้งแต่จำความได้และจำความไม่ได้ ทุกคนในสังคม แทบจะบอกได้ว่าทุกคนล้วนแต่เคยผ่านการเป็นเด็กมาแล้วทั้งสิ้น


ใครบ้างเคยผ่านการร้องไห้ กระจองอแง ผ่านความอยากได้ของเล่น ผ่านความลำบาก หรือความสบาย มาตั้งแต่วัยเด็ก หากลองมองย้อนกลับไปในวันนี้คงจะยังจำกันได้ดีว่า ขณะที่ท่านเป็นเด็กนั้นมีความสุข หรือความทุกข์อย่างไร


วัยเด็กเป็นวัยที่สำคัญกับชีวิต กำลังเริ่มเรียนรู้และเปิดหัวใจของตัวเองออกมาไปสู่โลกที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่ก่อนที่เด็กเหล่านั้นจะได้เติบใหญ่ขึ้นมา เขาอาจจะต้องพานพบอุปสรรค ความยากลำบากนานาประการ หลายคนก็จดจำและเก็บมันไว้ ไม่ได้บอกใครรู้ หลายคนก็เลือกที่จะทำตัวเองให้เป็นเหมือนดังบุคคลตัวอย่างที่เคยพบเห็นมา









ภาพโปสการ์ด ที่วาดโดยเด็กจากประเทศเนปาล


จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า สิทธิเด็กคืออะไร ?


สิทธิเด็กเป็นเรื่องที่ว่าด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน โดยระลึกว่าเด็กมีสิทธิพิเศษที่จะได้รับการดูแลช่วยเหลือ และคุ้มครองทั้งจากครอบครัวและสภาพแวดล้อมอื่น ๆ และเด็กทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพทั้งปวงที่กำหนดไว้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด ๆ อาทิเช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น ต้นกำเนิดทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิดหรือสถานะอื่น



ภาพของยูนิเซฟ จาก ไขข้อข้องใจของพ่อแม่เกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก


ปัญหาเรื่องเด็ก ๆ เรื่องเล็ก ๆ หรือเรื่องของพวกเราทุกคน ?


ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาการกระทำทารุณกรรมเด็กได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงการล่วงละเมิด ถูกกระทำทารุณกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากบุคคลในครอบครัว เช่น บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือ จากบุคคลภายนอก เช่น ครู เพื่อนบ้าน หรือ นายจ้าง เป็นต้น หรือเด็กบางส่วนมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ก้าวร้าว รุนแรง หรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่ตัวเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อสังคม และทรัพยากรมนุษย์โดยรวมด้วย


สำหรับเรื่องของสิทธิเด็กนั้น จะพบว่าเกิดปัญหาการทารุณกรรมและปล่อยปละละเลยเด็ก ทำร้ายร่างกายเด็ก ด้านการล่วงละเมิดทางเพศนั้นผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นบุคคลใกล้ชิด โดยเด็กส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองไม่ได้บอกให้คนรอบข้างได้รับรู้และไม่ได้ยอมรับความช่วยเหลือจากผู้ใด เพราะอะไร ? เพราะเขาไว้ใจสังคมรอบข้างเขาได้หรือไม่? เพราะเขารู้จักหรือไม่ว่าหากเขาเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น เขาจะไปหาใคร? เพราะเขาไม่มีสิทธิอย่างนั้นหรือ?


หรือเพราะค่านิยมของสังคมของเรา ด้วยความเป็นวิถีแห่งชุมชน จึงเชื่อว่ามันเรื่องของกรรมเวรแต่ชาติปางก่อน แต่จะว่าไปก็ไม่ถูกนักหรอกที่จะบอกว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม เพราะด้วยประเพณีวัฒนธรรมของเรานั้น เป็นแนวที่น่ายึดถือปฏิบัติ และสอนกันมาอย่างดีงาม ให้มีความเคารพซึ่งกันและกัน ให้ผู้ใหญ่สอนลูกสอนหลานให้อยู่ในทำนองคลองธรรม ประพฤติปฏิบัติตัวเป็นคนดีของสังคม ร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่น่าอยู่ให้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ณ วันนี้หลายครอบครัว คิดว่าบุตรหลานเป็นสมบัติของตนเอง เป็นทรัพย์สินของตนเอง จะจัดการกับเด็กอย่างไรก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะเด็กก็ต้องการความเป็นส่วนตัว ต้องการแสดงความคิดเห็น และต้องการความเป็นตัวของตัวเองโดยที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรจะทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมศักยภาพต่างๆเหล่านั้นให้เด็กอย่างเต็มที่ และเพียงแต่หากจะปรับคำสอนเหล่านั้นมาเป็น ผู้ใหญ่สอนลูกสอนหลานให้เป็นคนดี ผู้ใหญ่เองก็ต้องร่วมรับฟังความคิดเห็นและร่วมกิจกรรมกับเด็กด้วย


อนึ่ง สาเหตุของการละเมิดสิทธิเด็ก เช่น เกิดการทารุณกรรม และปล่อยปละละเลยเด็กนั้น จากการเฝ้าสังเกตของผู้เขียนจากเอกสารทางวิชาการ การพบเห็นในชีวิตประจำวันและข่าว พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการสภาพเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพครอบครัว จากเกษตรกรรมที่เคยเป็นอยู่ก็กลายเป็นครอบครัวใหญ่ ทิ้งให้ปู่ย่าตายายดูแลลูกหลาน ซึ่งวัยชราเองก็ต้องการคนรักเอาใจใส่เช่นเดียวกัน


อุตสาหกรรมก็มุ่งแต่จะหารายได้เข้ากระเป๋า พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนภูมิปัญญาอันดีงามของสังคม ชุมชน หรืออาจเข้ามาหางานทำที่เมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพ ดังนั้น ความสนใจครอบครัว และบุตรหลานจึงน้อยลง มีความเครียดในชีวิตประจำวัน มีการทะเลาะวิวาทภายในครอบครัว สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการพัฒนาการและชีวิตเด็กเป็นอย่างมาก แต่จากสภาพเศรษฐกิจก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่อยู่ครอบครัวที่สภาพเศรษฐกิจดีพร้อม เป็นครอบครัวที่มีฐานะจะไม่โดนละเมิด ดังจะเห็นได้จากกรณีที่มีข่าวว่าผู้ดีฐานะส่งลูกไปเรียนเปียโน ก็ยังมีครูที่ละเมิดทางเพศเด็ก ที่เกิดข่าวเพราะพ่อแม่ของเด็กนั้นเอาเรื่องครูคนนั้นและเกรงว่าเด็กคนอื่นจะตกเป็นเหยื่อ และอาจจะมีกรณีเดียวกันนี้ที่ไม่เป็นข่าวซึ่งเราไม่รู้อีกว่ามีอยู่อีกเท่าไร เนื่องจากผู้มีฐานะทางสังคมเหล่านั้น เกรงว่าหากมีข่าวออกไปจะกระทบกับวงตระกูลของตนเอง


ในอดีตที่ผ่านมา กฎหมายและกลไกของรัฐที่มีอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการปกป้อง คุ้มครองตลอดจนป้องกันมิให้เด็กกระทำความผิด รวมทั้งการให้บริการช่วยเหลือเด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรมยังด้อยคุณภาพ และไม่ทั่วถึง ดังนั้นต่อให้มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ . ศ .2546 ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงวิธีปฏิบัติต่อเด็กให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้เด็กได้รับการอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม อันเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันครอบครัว รวมทั้งป้องกันมิให้เด็กถูกทารุณกรรม หรือตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฉบับนี้ ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง


ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ จำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน กฎหมายลูกที่จะออกมารองรับ ข้อกฎหมายที่มีความขัดแย้งกันเอง เช่น พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (การได้รับชื่อและสัญชาติของเด็กชายขอบ) การคุ้มครองแรงงานเด็กอย่างทั่วถึง ความรู้ความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการบังคับใช้อย่างจริงจังให้เกิดประโยชน์กับเด็ก ไม่อย่างนั้น ไม่ว่าจะออกกฎหมายมาสักกี่ฉบับ ถ้าไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง กฎหมายก็เป็นแค่กระดาษที่จะนำมาอ่านเมื่อเกิดปัญหาแล้วเท่านั้น


อีกทั้งการที่ สังคมส่วนใหญ่ยังมองเด็กว่าเป็นปัญหาของสังคม อยากให้เรามองย้อนมาที่ตัวของผู้ใหญ่เองในปัจจุบันนี้ว่า ผู้ใหญ่ใจดีในสังคมเป็นแบบอย่างการปฏิบัติตัวที่ดีแล้วหรือยัง หรือสื่อที่เรารับอยู่ทุกวันนี้มันกลั่นกรองแล้วหรือยัง หนังสือลามก หรือซีดีวาบหวิว ที่วางขายเกลื่อนกลาดหาได้ทั่วไปตามตลาดนัด หรือแหล่งชุมชน มันเป็นการยั่วยุให้เด็กและเยาวชนได้รับสื่อที่ไม่ดีหรือไม่ หากเด็กและเยาวชนคิดได้เองและเก่งกาจเหมือนผู้ใหญ่ ก็คงไม่เป็นเด็กไม่ต้องลองผิดลองถูกหรอก ดังนั้นเลยอยากให้มองกันว่า เด็กและเยาวชนไม่ใช่ตัวปัญหา แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบต่างหาก


ดังนั้นเรื่องสิทธิเด็ก จึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งที่ต้องมารับผิดชอบ ผมอยากให้ทุกคนลองคิดว่าถ้าหากพวกเด็ก ๆ ที่ท่านพบเห็นเหล่านั้นเขาเป็นลูกหรือเป็นหลานของท่านเอง ต้องโดนผลกระทบ โดนละเมิดแบบนั้น ท่านจะรู้สึกอย่างไร ท่านอย่าคิดแต่ว่าเขาไม่ใช่ลูกไม่ใช่หลานเราแล้วก็คิดว่าช่างมันเถอะไม่เกี่ยวกับเราซักหน่อย ผมอยากให้ทุกคนลองคิดว่าสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายจะทำเพื่อเด็กนั้นเกิดจากความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนที่ต้องมีต่อเด็ก ร่วมกันให้ความช่วยเหลือ ชี้ช่องทางแก้ไขปัญหาให้คำปรึกษากับเด็ก ด้วยความรัก ความเข้าใจ เปิดกว้างไม่มีอคติ และที่สำคัญ เมื่อท่านคุยกับเด็ก ก็ต้องรักษาความเป็นเด็กในตัวของท่านเอาไว้ด้วย


ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งเด็กไทยทุกคนจะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน


ครั้งหน้า เราจะมาว่ากันด้วย ความเป็นมาของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และสิทธิต่าง ๆ ของเด็กที่พึงได้รับกัน