Skip to main content

สิทธิเด็กกับการได้รับการปกป้อง และคุ้มครอง ตอนที่ 2

ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดหัวใจกับเพื่อนทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ…
โดยเฉพาะกับผู้สูญเสียที่ภาคใต้


I just hope all people in the south are well…
There is not much one can say in moments like this...
My deepest sympathy to all families in need...


สุขสันต์วันปีใหม่ คิดสิ่งใดขอให้ตั้งใจทำ ให้สมปรารถนา และได้มาในทางที่ถูกที่ควรครับ
ปีใหม่นี้คงมีเด็กอีกมากมายที่โดนทำร้าย ขอให้ช่วยกันสอดส่องดูแลด้วยนะครับ

1. ปัญหา เด็กที่ถูกทำร้าย

ปัญหาการทารุณกรรม ทำร้าย เด็กมีมานานแล้วในสังคมไทย และยังจะมีต่อไปอีกด้วย ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะตราบใดที่ผู้ใหญ่ในสังคมไทยยังยึดติดกับค่านิยมที่ไม่ให้เด็กได้พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด หรือไม่เปิดโอกาสให้อธิบาย ก็ยังจะมีการทำร้ายกันต่อไป เคยได้ยินสุภาษิตไทยหรือไม่ ที่บอกว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ถ้าหากเคยรู้ก็คงจะบอกได้ว่า อ้อ ก็เพราะรักสิถึงตี แต่บางคนตีแล้วไม่ยอมอธิบายเหตุผลหรือบอกให้รู้ว่าทำไมเขาถึงโดนตี ตีไปตีมาชักจะมันละเหวย เอาให้ตายคามือไปเลยก็แล้วกัน แบบนี้ก็มีมาก ที่ตีเพราะเขาผิด หรือว่าเพราะพ่อแม่อยากจะระบายอารมณ์กับเด็กๆ ก่อนจะตีลูกคิดก่อนซักนิด คุยกันก่อนสักหน่อยไม่ใช่เอะอะก็ตีเพียงอย่างเดียว


ที่เป็นแบบนี้อาจจะเป็นไปได้เพราะครอบครัวสมัยนี้ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป จากสภาพสังคมเกษตรเพื่อนบ้านรู้จักกันเกือบหมดหมู่บ้านมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม จากไม่เคยมีรั้ว บ้านก็มีรั้ว ตามแผนพัฒนา จากเคยแบ่งปัน ก็หันมาแก่งแย่ง นี่สิการพัฒนาชุมชนของรัฐ


ลักษณะการแก้ปัญหาก็เป็นการตามแก้ปัญหาเสียมากกว่า ตามแก้กันเข้าไป ถ้าไม่มีข่าวตีลูกฆ่าลูกเสียก่อนคงไม่มีใครออกมาปกป้องเด็กๆที่ไม่มีทางสู้เหล่านั้นหรอก สงสัยว่าจะมีอีกหลายมูลนิธิที่ต้องเหนื่อยกับระบบการจัดการที่แสนจะทันสมัยของรัฐบาลไทย การเฝ้าระวังก็ไม่เป็นระบบ ทั้งจากภาครัฐเองซึ่งตัวบทกฎหมายก็เหมือนกับกำหนดบทบาทหน้าที่ออกมา แต่ก็เหมือนไม่ได้ให้อำนาจในการทำงานอย่างจริงจัง น่าสงสารเด็กๆ ที่กำลังจะโดนทำร้ายอีกไหร่ก็ไม่รู้


ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลใกล้ชิดกับเด็กนี่ก็น่าเป็นห่วงมากๆ เพราะว่า เด็กจะได้รับความกดดัน เกิดความเครียด และ ขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีปัญหาดังกล่าว และหากผู้กระทำผิดที่เป็นคนในครอบครัวได้รับการลงโทษ เมื่อพ้นโทษแล้วก็ต้องกลับมาอยู่กับครอบครัวอีก ซึ่งในกรณีนี้กระบวนการทางกฎหมายไม่มีการกำหนดกลไกทางเลือกอื่นที่ในการแก้ปัญหานอกจากการดำเนินคดี และไม่มี ไม่มีจริงๆ นะ กับระบบการตามช่วยเหลือเด็ก หลังจากเกิดเหตุ ( หรือถ้าหากมันมีแล้ว ผมก็ต้องขออนุโมทนาสาธุการกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ )ซึ่งจะมีก็แต่มูลนิธิต่างๆ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยกลไกของรัฐ และระบบราชการที่ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันแก้ปัญหาด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของภาคเอกชนแต่เพียงอย่างเดียว เอ้า มาสู้ไปด้วยกันนะครับ



ในบางกรณี เด็กโดนทำร้ายทางเพศ สื่อมวลชนเองก็ไม่เคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก ให้ข่าวในลักษณะที่ไม่เหมาะสม สื่อประโคมข่าวจนสร้างความยากลำบากแก่เด็กในการอยู่ในชุมชนสังคมและมีผลเสียต่อเด็กในระยะยาว ไม่ใช่แค่ระยะสั้นๆ สื่อก็ควรระวังในข้อนี้ด้วย รวมถึงบางครั้งเด็กเองก็ไม่สามารถฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายได้ แต่ ณ ปัจจุบันมี พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ฉบับปี พ.ศ.2546 ออกมาแล้ว ทำให้มีกระบวนการที่เด็กสามารถฟ้องร้องสื่อได้ และก็จะมีในส่วนของศาลอาญาที่สามารถสั่งจ่ายค่าเสียหายในบางกรณีได้ทันที โดยศาลอาญา หรือศาลที่พิจารณาคดีอาญาโดยที่ผู้เสียหายไม่ต้องพิจารณาคดีแพ่งใหม่แต่อย่างใด


การสืบพยานเด็ก ณ ปัจจุบันนี้ ก็ได้มีการออกกฎหมายว่า ต้องมีทีมสหวิชาชีพร่วมกันได้แก่ พนักงานสอบสวน นักสงคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา พนักงานอัยการและบุคคลที่เด็กร้องขอ ทำให้การสอบสวนคดีอาญามีผลดีมากขึ้น ในการสืบพยานขึ้นศาล หากศาลเห็นสมควรก็ให้จัดผู้เสียหรือพยานที่เป็นเด็กอยู่คนละท้องกับห้องพิจารณาแล้วเบิกความตอบผู้พิพากษา พนักงานอัยการและทนาย ผ่านทางโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งเป็นการคุ้มครองเด็กที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมายอาญาวิธีหนึ่ง รวมทั้งมาตรการการชี้ตัวพยานโดยไม่ให้ผู้ต้องหาเห็นผู้เสียหายและพยานเด็กที่ชี้ตัว การสืบพยานไว้ก่อนเนื่องจากความจำของเด็กสั้นกว่าผู้ใหญ่


แต่กฎหมายได้สร้างภาระในการจัดการแก่บุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมอย่างมากจึงได้แก้ไขให้ใช้วิธีการนี้กับความผิดบางประเภทเท่านั้น (บางประเภทก็คดีที่จะมีผลกระทบกับจิตใจของเด็ก เช่นกรณีคดีทำร้ายทางเพศ ทำร้ายร่างกายโดยคนใกล้ชิด เป็นต้น)เพื่อให้ทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรมสามารถจัดการกับคดีที่จำเป็นต้องรับการคุ้มครองดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ในกรณีนี้ไม่ใช่กรณีเด็กถูกทำร้ายอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ ที่ทีมสหวิชาชีพจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสอบสวน ก็จะมีปัญหาที่เกี่ยวกับคดีทางเพศ, เด็กกระทำความผิด, เด็กกับยาเสพติด, การค้าเด็ก และประเด็นอื่นๆ ที่เป็นเรื่องที่ต้องปกปิดความเป็นส่วนตัวของเด็กและคำนึงถึงวุฒิภาวะของเด็กด้วยเป็นสำคัญ


ทางออกของปัญหานี้แม้จะไม่ใช่ปัญหาที่ไม่มีกฎหมาย แต่อยู่ที่จะสร้างความเข้าใจของคนได้อย่างไร จะสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ให้กับคนในชุมชนได้อย่างไร ให้ช่วยกันดูแลและเฝ้าระวังลูกหลานของตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการกระทำต่างๆที่จะมีผลกระทบกับเด็ก หรือจะยังบอกอยู่ว่า เรื่องของเค้าไม่ใช่เรื่องของเรา แล้วถ้าหากวันหนึ่งเรื่องราวเหล่านี้มันมาเกิดกับท่านเมื่อไหร่ละก็อย่าหาว่าผมไม่เตือน วันนี้แสดงความรักกับลูกหลานในชุมชนของท่าน ให้เหมือนกับที่ท่านแสดงความรักกับลูกหลานของตนเองเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งกันเถอะ


สุดท้าย ไม่ว่าจะมี กฎหมาย ระเบียบวิธีปฏิบัติ ข้อบังคับ กฎกระทรวง พระราชกำหนด และพระราชบัญญัติ หรือกฎต่างๆ แต่ถ้าหากไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง และใส่ใจในการทำงานจริงๆ แล้วละก็ ปัญหาการทารุณเด็กก็จะเกิดซ้ำๆ ขึ้นเป็น วัฏจักรในสังคมไทยอย่างแน่นอน

บทความหน้า ผมจะว่ากันเรื่อง ปัญหาเด็กที่ถูกนำมาใช้ในการกระทำผิดทางเพศ โปรดติดตามกันต่อไป เด้อ


อ้อ ก่อนจะจบบทความนี้ สวัสดีปีใหม่ และสุขสันต์กันถ้วนหน้าทุกคนนะครับ