Skip to main content

อนิจจังของ " บาง" และ " ลำพู"

คอลัมน์/ชุมชน

 



เย็นวันนั้น … ลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ตกกระทบยอดพระที่นั่งงามตายิ่งนัก....


ผู้คนขวักไขว่ มุมหนึ่งของพื้นที่สีเขียวริมน้ำ ชีวิตดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย เร็วบ้าง … ช้าบ้าง


ณ มุมหนึ่ง … ผู้คนกระโดดทำท่าทางชวนหวาดเสียวประกอบเพลง และอีกมุมหนึ่ง ฝรั่งผมทองนั่งอ่านหนังสืออย่างสงบริมเจ้าพระยาไหลเอื่อย


ผมนั่งอยู่มุมหนึ่งของป้อมพระสุเมรุยามเย็น … เป็นเย็นย่ำที่สวนสันติไชยปราการเป็นเวทีให้ภาพชีวิตเหล่านี้ได้เคลื่อนไหวตามจังหวะชีพจร… " ชีพจร" ที่ใครบางคนเรียกว่า " จังหวะชีวิต" เหมือนเคย


แต่ความคิดผมก็ลอยไปไกล จากการมองไปยังมุมเล็ก ๆ ที่ปลายสายตาผม ที่มุมหนึ่งของสวนสันติไชยปราการ … ที่ ๆ จังหวะชีวิตเก่าแก่ยังคงดำรงอยู่กลางย่าน " บางลำพู"… " ลำพู" ต้นสุดท้ายพร้อมกับชีพจรที่ดำเนินมาศตวรรษกว่า ๆ ยังคงสถิตอยู่ ณ ที่แห่งนี้



- 1 -





ลำพูต้นสุดท้าย...ต้นไม้เก่าแก่ที่เป็นดั่งชายชราผู้ผันผ่านกาลสมัยยาวนานร้อยปีเศษ


ท่านเพิ่งถูกค้นพบได้ไม่นานโดยครูโรงเรียนมัธยมธรรมดาคนหนึ่งจากลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งผูกพันและสอนหนังสืออยู่ใกล้ลำพูต้นนี้เพียงระยะเดินราว 70 ก้าว


ครูสมปอง ดวงไสว แห่งโรงเรียนวัดสังเวช คือคนที่ผมกำลังกล่าวถึง ครูคือผู้ตามหาและพลิกฟื้นลำพูต้นสุดท้ายขึ้นมาพร้อมการเปลี่ยนแปลงบริเวณป้อมพระสุเมรุ (ที่เดิมรกเรื้อจนใครเดินผ่านไม่วายต้องคิดถึง " ผี" และ " จี้ปล้น" ) ให้กลายเป็นสวนสันติชัยปราการของทางกรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาเป็นสวนสาธารณะแห่งเดียวของเมืองกรุงที่ตั้งอยู่ริมน้ำและมีบรรยากาศดีติดอันดับ หากเทียบกับบรรดาสวนสาธารณะที่มีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน


หนังสือ " คนเลี้ยงม้า" ของธีรภาพ โลหิตกุล เล่าเหตุการณ์ครั้งที่ครูสมปองพบลำพูต้นนี้ใหม่ ๆ ว่าราวปี 2540 …" ครูหนุ่มกับนักเรียนในชุดลูกเสือ 4-5 คนก้ม ๆ เงย ๆ ลูบ ๆ คลำ ๆ ไม้ใหญ่ริมน้ำเจ้าพระยาต้นหนึ่ง ถ้าพวกเขาลงมือขัดถูที่เปลือกของมันสักครั้งเดียว ก็แทบไม่ต่างอะไรกับพวกนักเล่นหวย แต่พวกเขากลับบันทึกภาพ เอาสายเมตรมาวัดเส้นรอบวงของโคนต้น วัดความสูงของรากอากาศ ปีนขึ้นไปเก็บดอกและผลของมันมาดูอย่างพินิจพิเคราะห์…"


การค้นพบลำพูในครั้งนั้นของ " ครู" กับความร่วมมือขององค์กรเอกชนอย่าง " บางกอกฟอรั่ม" และความตื่นตัวของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทำให้การสืบค้นหาความถูกต้องของคำว่า " บางลำพู" ที่ห้างร้านหน่วยงานราชการแถบนั้นใช้ต่างกันทั้ง " บางลำพู" และ " บางลำภู" เริ่มขึ้นควบคู่ไปกับคำยืนยันจากนักพฤกษศาสตร์ ว่านี่คือต้นลำพู " ต้นสุดท้าย" จริงที่ยังหลงเหลือในย่านที่ชื่อของต้นไม้ต้นนี้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อบาง


ผลออกมาว่า " บางลำพู" นั้นถูกต้อง เพราะ " บางลำภู" แปลว่าลำของภูเขาซึ่งเป็นคนละเรื่อง


ในที่สุดส่งผลให้ " ลำพูต้นสุดท้าย" ได้รับการดูแลรักษาและรอดชีวิตจากโครงการสร้างเขื่อนริมน้ำของกรุงเทพมหานครจนทุกวันนี้สามารถยืนหยัดเป็นสง่าคู่ " พระที่นั่งสันติไชยปราการ" ที่สร้างขึ้นเพื่อถวายในหลวงในวโรกาสมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา ถึงทุกวันนี้



- 2 -



ต้นเดือนมีนาคม 2548 …


ผมไม่คาดคิด ว่าจะมีโอกาสเจอกับ " ครู"


ในวันนั้น ชายวัยกลางคนนั่งปะปนกับนักศึกษาอยู่มุมหนึ่งที่งานสัมมนาค่ายเล็ก ๆ ซึ่งรุ่นน้องผมจัดขึ้นพร้อมกับนักเขียนสารคดีท่านหนึ่งที่มาอบรมเทคนิคให้หนุ่มสาวที่กำลังจะไปออกค่ายขีด ๆ เขียน ๆ


" คนนี้ล่ะ ครูสมปอง ดวงไสว ที่มีส่วนรักษาลำพูต้นสุดท้ายเอาไว้ให้กับบางลำพู" นักเขียนท่านนั้นกล่าวแนะนำในวง


หลังงานตามโปรแกรมวันนั้นจบลง ผมมีโอกาสคุยกับ " ครู" คนนี้ไม่นานนัก ประเด็นที่เราสนทนาก็คือ " ต้นลำพู" และ " บางลำพู" ทุกวันนี้เป็นอย่างไร ? หลังลำพูได้รับการรักษาชีวิตเอาไว้จนสำเร็จ


โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ที่คืบคลานเข้ามาช้า ๆ และก่อความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับสวนแห่งนี้ หรือแม้แต่ความเป็นอนิจจังของชุมชนบางลำพู …


ชุมชนที่บางส่วนจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้นคือเต็มใจ … ที่จะโดยสารรถด่วนขบวนโลกาภิวัฒน์อย่างไม่คำนึงถึงอะไรมากมาย


" ตอนเราคิดเริ่มต้น หนึ่ง นึกถึงบางลำพูหาสัญลักษณ์ไม่ได้ จนเจอต้นสัญลักษณ์ เมื่อก่อนคงเยอะเพราะหลักฐานบอก ตอนเจอนั้นเหลือต้นใหญ่ 1 ต้น ต้นเล็กอีก 1 ต้น เหมือนจะไม่รอด หนึ่งน้ำท่วม สองจะโดนปิดจากการสร้างเขื่อน เมื่อ กทม. มาทำเขื่อนปิดเปิดให้โอเค..รอด และปรับปรุงภูมิทัศน์ก็ถือว่าดีและทำได้งดงาม"


" แม้ว่าความรู้สึกต้นไม้กับซีเมนต์ที่มันโดนบล็อกอยู่บ้าง มองอีกแง่ก็ยอมรับได้คือลำพูมีชีวิตอยู่ การทำเขื่อนข้างหน้ากันคลื่นและขยะ ถือว่าช่วยรักษาชีวิตของลำพูให้อยู่รอดยาวๆ ได้ เพราะต้นเก่าแล้ว มันดีแต่เหมือนนกน้อยในกรงทอง แต่ระหว่างนกไร้ชีวิตกับนกมีชีวิตคงต้องเอานกมีชีวิตไว้ก่อน เสรีแบบเดิมคงอยู่ไม่ได้เพราะภาวการณ์เปลี่ยนไป คงต้องยอมรับสภาพที่เป็นตรงนี้อยู่ ถามว่าดีไหมก็อยู่ในภาวะที่พอใจ"


ถึงวันนี้ ลำพูต้นเล็ก ๆ กำลังเติบโตอยู่ข้าง ๆ ลำพูต้นเก่าแก่ จากสายตาก็สามารถนับได้ 5-6 ต้น แต่หลายคนแม้กระทั่งครูเองก็อดเป็นห่วงและกังวลลึก ๆ ไม่ได้ว่ากาลข้างหน้าเมื่อต้นไม้เหล่านี้โตเต็มที่ทั้งหมดแล้วจะเกิดปัญหากับคอกซึ่งมีพื้นที่จำกัดหรือไม่


" ถ้าถามอนาคต ผมคิดว่าสภาพต้นไม้กับภาวการณ์คงไม่ถึงกับมีหิ่งห้อยให้ดู สภาพน้ำ อากาศคงไม่ถึง การปลูกต้นใหม่ขึ้นมาถือว่ามีส่วนทำให้ดูดีขึ้น จริงๆ แล้วทุกต้นมันโตขึ้น วันหนึ่งไม่แน่ใจว่าจะแน่นขนาดไหน วันนี้ดูพอดี ดูโปร่ง แต่วันข้างหน้าเมื่อต่างคนต่างต้นใหญ่ขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้นก็จะดูเหมือนป่าลำพูซึ่งมีกระจุกเดียวอยู่ในบางลำพู ก็เป็นมิติที่ดี (หัวเราะ)… แต่ข้อด้อยอยู่ตรงที่ของใหม่เกิดรากอากาศมันเจอกับซีเมนต์ก็ลำบาก นั่นคือประเด็น"


สวนสันติไชยปราการวันนี้ ครูสมปองพอใจที่สามารถรักษาชีวิตของ " ลำพู" ต้นสุดท้ายเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสทำความรู้จัก แต่สิ่งที่ครูบอกผมว่าน่ากังวลใจยิ่งกว่าเรื่องลำพูต้นน้อยที่กำลังโตซึ่งครูเชื่อว่าอย่างไรก็อยู่ได้ ก็คือพฤติกรรมของบุคคลที่เข้ามาในสวนสาธารณะแห่งนี้


" วันที่รัฐบาลถวายพระที่นั่ง ในหลวงท่านรับสั่งว่า เกรงพระที่นั่งจะบังต้นลำพู และถ้าสร้างสีสันมากไปจะบดบังโบราณสถานอย่างตัวป้อมกระสุเมรุ ถามว่าพระองค์ดำริขนาดนี้ คนมาใช้สวนคิดอะไร มานั่งเล่น มาออกกำลังก็ทำไปเถิด แต่อะไรที่มันผิดอย่าไปทำ แต่โดยธรรมชาติคนเราควรรู้ สวนที่มีพระที่นั่งกับไม่มีต่างกันครับ"


เอาเข้าจริงหลายครั้ง ผมเองก็มีหนังสดดูทุกครั้งที่แวะเข้าไปแวะทักทายลำพูตอนโพล้เพล้เช่นกัน



- 3 -



16 เมษายน 2548 … รุ่งเช้า


โทรทัศน์ออกข่าวพนักงานทำความสะอาดของกรุงเทพมหานครต้องนำน้ำนับแสนลิตรออกมาล้างผงแป้งสีขาวและขยะที่กองระเกะระกะอยู่ทั่วพื้นผิวสัญจรในย่านบางลำพู ตั้งแต่ถนนข้าวสารยันราชดำเนิน


หลายครั้งสงกรานต์ก็เป็น " อนิจจัง" กับเขาเหมือนกัน ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งที่บางลำพู


ช่วงหยุดสงกรานต์ … ผมหลบบรรดาขาโจ๋ผู้ชื่นชอบสาดน้ำมั่วอยู่กับบ้าน การนั่งดูโทรทัศน์ทำให้ผมเห็นอะไรบางอย่าง


การเต้นจ้ำบ้ะเล่นสาดน้ำพร้อมเปิดเพลงอัดใส่ลำโพงขนาดยักษ์ ณ พอศอนี้เป็นความสนุกของสงกรานต์เมืองไทยที่ถนนข้าวสาร กล่าวให้ตรงไปตรงมาคือเรื่อง " ธรรมดา" ที่ผู้รายงานข่าวบอกว่า " สนุกสนาน" ได้โดยไม่เคอะเขิน


การเล่นสงกรานต์อย่างไม่เห็นคุณค่าของน้ำอาจจะเป็นคำกล่าวที่เชยตกสมัย เพราะยุคนี้ไม่มีใครคิด ยิ่งกล่าวถึงแก่นของสงกรานต์แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะทุกวันนี้สงกรานต์คือเทศกาลน้ำ …


"Water Festival" ซึ่งแก่นอยู่ที่การเล่นน้ำ ไม่ได้อยู่ที่หลักคิดซึ่งบรรพบุรุษของเราส่งสืบต่อกันมา


ครูบอกผมว่า " สงกรานต์คือการตั้งสต คุณแก่ขึ้นอีกหนึ่งปี ทบทวนสังขารตัวเอง วันเนาสงกรานต์ให้อยู่กับที่ ทำความดี ไม่ไปไหน วันเถลิงศกใหม่คือการตั้งต้นชีวิตใหม่ ทำดีต่อไป ให้สติคน การทำบุญกับบรรพบุรุษคือการนึกถึงรากเหง้าตัวเอง กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ มีการสรงน้ำพระเพื่อทำให้ใจฉ่ำเย็น แต่วันนี้คืออะไร "



* * *



เย็นวันนั้น ผมนั่งครุ่นคิดกับต้นลำพู.. นอกจากครูสมปองแล้ว จะมีใครในบางลำพูฉุกคิดบ้างไหม …


หรือนี่คือ " อนิจจัง" ที่ต้องทำความเข้าใจ แล้วปล่อยไปตามยถากรรม




เอกสารอ้างอิง


สมปอง ดวงไสว. ลำพู สัญลักษณ์ประวัติศาสตร์ของบางลำพู. กรุงเทพฯ : สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนวัดสังเวช, 2541.


สมปอง ดวงไสว. พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จวัดสังเวชวิศยาราม. กรุงเทพฯ : สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนวัดสังเวช, 2544.


ธีรภาพ โลหิตกุล . คนเลี้ยงม้า. กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน, 2546.