Skip to main content

เด็กเร่ร่อน และ แรงงานเด็ก

ด็กที่ออกมาเร่ร่อน ร่อนเร่ ขายพวงมาลัยอยู่ตามถนนหรือสถานที่ต่าง ๆ ส่วนหนึ่งมักเป็นเด็กที่หนีจากบ้านจากหลายสาเหตุด้วยกัน ส่วนมากเกิดจากความคับแค้นเพราะถูกทำร้ายทารุณทางร่างกายหรือจิตใจจากพ่อแม่ ญาติ หรือพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง เป็นต้น


ครอบครัวแตกแยกและความรุนแรงในครอบครัวเป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันเด็กออกจากบ้าน ความรุนแรงในที่นี้อาจจะเกิดจากการสั่งสมไว้ในระยะเวลานานตั้งแต่เด็ก ๆ ยกตัวอย่าง เช่น เด็กโดนดุด่าว่ากล่าวอยู่เป็นประจำ ก็จะมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ด้อยค่า ไม่มีใครรัก ก็จะเริ่มหันไปหาเพื่อนเที่ยว หรือเป็นกลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ชอบดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ และเพื่อนกลุ่มเสี่ยงนั้นยอมรับตน เด็กบางคนจึงมีความรู้สึกว่านี่เป็นกลุ่มที่ยอมรับตนและสมัครใจที่จะเข้าร่วมกลุ่มเพราะได้รับการยอมรับจากเพื่อน


เด็กเองก็คงเหมือนกันกับผู้ใหญ่ทุกคนนั่นแหละที่ต้องการการยอมรับ ดังนั้นการเป็นเด็กหลังห้อง การเป็นเด็กเกเรในเด็กบางคนนั้นไม่ได้หมายความว่า เด็กนั้นอยากแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเสมอไป แต่เขาเหล่านั้นกำลังหาวิธีทำให้คนอื่นยอมรับตนเองในวิธีที่แตกต่างกันไป


การเร่ร่อนไม่มีหลักแหล่งของเด็กนี่เองที่ทำให้เด็กไม่ได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้จากการได้รับการบริการทางการ-ศึกษา บริการสาธารณสุข ทั้งการให้ความรู้ด้านเอดส์ เพศศึกษา อนามัยเจริญพันธุ์ รวมไปถึงการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างถูกต้องและเป็นธรรม รวมทั้งความรู้ที่เพียงพอและที่ดีจากรัฐ และการที่เด็กต้องหาอยู่รอด จึงมักจะจับกลุ่มกันและถูกชักจูงโดยกลุ่มเพื่อนหรือผู้ใหญ่ทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อของธุรกิจบริการทางเพศ ยาเสพติดและการกระทำผิดกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งเด็กจำนวนมากตกไปเป็นผู้ต้องหา และไปอยู่ในวงจรของปัญหาเด็กกระทำความผิดที่ไม่ได้รับการคุ้มสิทธิที่เพียงพออีกวงจรหนึ่ง



(ภาพประกอบจาก http://www.childrensworld.org/wcpswe/childrensrights/barnkonventionen/thai
/hurmarbarnen.asp
)


โดยส่วนใหญ่อีกเช่นเดียวกันที่เด็กมักจะตกเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่ในการล่อลวง ด้วยความที่เด็กรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลายท่านอาจจะเคยได้อ่านผ่านหูผ่านตามาบ้างจากข่าวว่ามีเด็กหายไปจากบ้าน แม่มาพบที่แยกไฟแดงในขณะที่ลูกชายตัวเองกำลังขายพวงมาลัย แม่จึงไปแจ้งตำรวจให้มาช่วยเหลือ ผลปรากฏว่า เด็กคนนั้นหนีออกจากบ้านไปเองโดยการชักชวนของเพื่อนวัยเดียวกัน (ประมาณ 13 -14 ขวบ) ซึ่งบอกว่าหากมาอยู่ด้วยกันจะมีกาวให้ดม บุหรี่ให้สูบ มีที่นอน อาหาร แต่ต้องแลกด้วยการทำงานขายพวงมาลัย ซึ่งเด็กเองก็เต็มใจมาเพราะว่าที่บ้านแม่ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ เอาแต่ดุด่าว่ากล่าว ทำให้เกิดความน้อยใจและเต็มใจมาอยู่กับเพื่อน


ในกรณีนี้เด็กก็ถูกส่งตัวกลับมาที่บ้านได้อย่างปลอดภัย และแก๊งค์นั้นก็เปิดหายเข้ากลีบเมฆ(ตามแบบฉบับการปราบปรามของตำรวจไทย ปิดคดีได้ก็ไม่ขยายผลต่อแล้วละ ประเดี๋ยวเหนื่อยแย่!!) ซึ่งตามกฎหมายแล้วไม่ว่าจะกรณีไหนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เต็มใจหรือไม่เต็มใจหากไปอยู่กับใครแบบนี้ ถ้าผู้ปกครองเขาจะเอาผิดล่ะก็ผิดเต็มประตู ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว ฯลฯ


การแก้ปัญหานี้จะต้องดูกันอันดับแรกคือครอบครัว การปลูกฝังเลี้ยงดูเด็กให้สามารถเจริญเติบโตได้ตามพัฒนาการของวัยหรือไม่ ครอบครัวใส่ใจที่จะให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกหรือไม่ นี่เป็นการปลูกฝังในระดับสังคม ที่หากชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ก็จะดีมาก ส่วนกฎหมายคุ้มครองเด็กนั้นก็ดูกันเอาเองเถอะครับว่ามีผลในทางปฏิบัติเพียงใดในการคุ้มครองสิทธิเด็กเร่ร่อนเหล่านี้
ส่วนเรื่องแรงงานเด็ก มีกฎหมายตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 138 เรื่องการห้ามการใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่ากำหนด คือ ห้ามใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานได้เฉพาะที่ไม่เป็นงานอันตรายและต้องอยู่ในเงื่อนไข แต่จะว่าไปกฎหมายก็คือกระดาษนั่นแหละครับ ยังมีข่าวการจับกุมโรงงานนรกกันให้เห็นกันอยู่


ตามสถานประกอบการเล็ก ๆ บางแห่งก็มีการใช้แรงงานเด็กอยู่มาก เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตรวจการเรื่องการใช้แรงงานเด็กก็มีน้อย ทำให้การตรวจตราไม่ทั่วถึง ซึ่งก็จริงแหละครับ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเราเอาเวลาไปต้อนรับเจ้านาย ทำเอกสารให้ท่านติดตามนายท่านกันอยู่ เลยไม่มีเวลามาใส่ใจเรื่องเด็ก ๆ เพราะปากท้องตัวเองก็ยังต้องดูแล แล้วไหนจะต้องมีการเลื่อนขั้นเลื่อนซีมาค้ำกะลาหัวอยู่ (เดี๋ยวอดสองขั้นล่ะซวยเลย)


สถานประกอบการบางแห่งก็เลือกใช้แรงงานเด็กต่างด้าว ซึ่งไม่มีหลักฐานการแสดงอายุแต่เมื่อถูกตรวจสอบจะแจ้งว่าอายุเกิน 18 ปี (อ้างเหมือนกับพวกที่แอบค้าบริการทางเพศ) อีกกรณีหนึ่งที่มีการใช้แรงงานเด็กโดยเลี่ยงกฎหมาย ด้วยวิธีการกระจายการผลิตไปผลิตตามบ้านโดยให้ชาวบ้านรับไปผลิตในลักษณะการจ้างทำของและคิดค่าแรงตามผลผลิตแทนการจ้างแรงงานมาผลิตในโรงงาน และเด็กจะถูกเกณฑ์โดยครอบครัวให้มาช่วยงานผลิต ในลักษณะนี้ต้องมีการกำหนดรูปแบบ และวิธีการลงโทษที่ชัดเจนต่อไป


ผมไม่แน่ใจว่า แรงงานเด็กในประเทศไทยมีกี่แสนคน ลองไปดูข้อมูลที่ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ (ยูนิเซฟ) กันเองนะครับ เท่าที่เคยเห็นผ่านหูผ่านตาก็ราว ๆ สามแสนคน โอ้พระเจ้าจอร์จ บ้านนี้เมืองนี้ ปฏิบัติตามมาตรฐานแล้วนะเนี่ย



(ภาพจาก e-mail ส่งต่อมาเรื่อยๆ)


มีอยู่วันหนึ่งผมไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยว ที่ร้านข้างถนนแถว ๆ มหาวิทยาลัยที่สอนให้เรารักประชาชน มีเด็กเสิร์ฟหน้าตาจิ้มลิ้มสองคน ชวนคุยไปชวนคุยมา ปรากฏว่าอายุ 15 และ 17 ปี คนนึงมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อีกคนมาจากเหนือสุดแดนสยาม ถามไปถามมาอีกก็ได้ความว่า เข้าเมืองกรุงมาทำงานกับเถ้าแก่ชาวไทยเชื้อสายจีน ได้เงินเดือน ๆ ละ 5 พันบาท กินอยู่กับเขา ไม่มีเอกสารอะไรทั้งนั้น มีแต่บัตรประชาชน บัตรทงบัตรทองนี่ลืมไปได้เลย อีกคนดีหน่อย เถ้าแก่พาไปลงทะเบียนต่างด้าวแล้ว


แต่รู้มั้ยครับว่า ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ได้นอนวันละ 5 ชั่วโมง เพราะต้องตื่นแต่เช้าไปซื้อของ มาให้เถ้าแก่ในตอนเช้า เฮ้อ นี่น่ะเหรอมาตรฐานแรงงานเด็ก ที่เขียนนี่ไม่ได้มีเจตนาว่าร้ายองค์กรที่ทำงานนะครับ เพราะเรื่องแบบนี้ อย่างที่บอกว่าเจ้าหน้าที่เราไม่พอ ไม่มีเวลามาเดินถามกันหรอก แต่ผมเองก็ได้คุยกับเถ้าแก่ว่าช่วยดูแลเด็ก ๆ หน่อย ซึ่งหลังจากพูดคุยกันอยู่ช่วงหนึ่งเถ้าแก่ก็รับปากว่าจะดูแลให้ด้วย เรื่องประกันสุขภาพต่าง ๆ เพราะสามารถทำได้เลยไม่ยุ่งยากมากแล้วก็ดีเหมือนกันตนเองจะได้ไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล แต่เรื่องงานของเด็ก ตัวเถ้าแก่เถียงว่างานนี้คงไม่หนักนัก เพราะช่วงเวลาขายของบางทีเด็กก็จะได้พักไปในตัวไม่ได้หนักหนามาก ก็ถือว่าสบายใจไปได้เปราะหนึ่ง แล้วอีกหลายสัปดาห์ถัดมาพอกลับไปอีกครั้ง ปรากฏว่า เด็กก็ได้รับการดูแลจากเถ้าแก่จริง ๆ ก็น่ายินดีกับเด็กสองคนนั้นไป


แต่กี่คนจะโชคดีเหมือนในกรณีนี้ หากยังมีเด็กอีกนับแสนที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้แรงงาน และเด็กอีกนับร้อยนับพัน ที่ยังเร่ร่อนอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง


ใครจะประกันได้ว่า เด็กเหล่านั้นจะได้รับบริการที่ดีพอจากรัฐ หรือจากนายจ้าง ???