Skip to main content

วิธีดูโรงพยาบาล ตอนที่2

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดทำคู่มือ 3 เล่มเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้ประโยชน์เมื่อเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล


หนึ่งคือข้อมูลพื้นฐานหน่วยบริการ สองคือคู่มือคุณภาพสำหรับประชาชน สามคือคู่มือผู้ป่วย


ครั้งที่แล้วได้แนะนำคู่มือพื้นฐานของโรงพยาบาลไปแล้วบางส่วน ครั้งนี้จะแนะนำส่วนที่เหลือ


ข้อมูลที่น่าสนใจคือ สถิติการรักษาโรคที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อมูล 10 อันดับโรคผู้ป่วยนอก 10 อันดับโรคผู้ป่วยใน 10 อันดับโรคผู้ป่วยในที่ถูกส่งต่อ ข้อมูล 5 อันดับโรคแรกที่มีการผ่าตัด ที่ชวนถกเถียงคือข้อมูลการตาย 10 อันดับโรคแรก และข้อมูลการเสียชีวิตในมิติอื่น ๆ


ประชาชนในท้องถิ่น ผู้ป่วย และญาติสมควรล่วงรู้ข้อมูลต่าง ๆ นานาในย่อหน้าที่แล้วหรือไม่ รู้แล้ว จะมีประโยชน์อะไร รู้แล้วจะทำอะไรได้บ้าง รู้ไปแล้วจะช่วยอะไรโรงพยาบาลได้บ้าง รู้ไปแล้ว จะช่วยเหลือญาติของตนที่กำลังเจ็บป่วยได้อย่างไร บางทีมีแต่ประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตอบ


เช่น ข้อมูล 10 อันดับโรคแรกที่โรงพยาบาลแห่งนั้นรักษาบ่อย น่าจะบอกเป็นนัยว่านายแพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลนั้นมีความเชี่ยวชาญโรคนั้นตามสมควร เพราะตรวจรักษามามาก ส่วนข้อมูล 10 อันดับโรคแรกที่ถูกส่งต่อก็น่าจะบอกเป็นนัยว่าแพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลนั้นมีข้อจำกัดบางประการทำให้ไม่สามารถรักษาโรคนั้น ๆ ได้จนถึงที่สุดกระบวนการ จำเป็นต้องส่งต่อเพื่อให้ผู้ที่เชี่ยวชาญกว่าหรือโรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือหรือเวชภัณฑ์ยาที่พร้อมกว่าช่วยเหลือต่อไป


นี่คือการให้ความเห็นในแง่มุมที่ดี ความสามารถของนายแพทย์และเจ้าหน้าที่จะเพิ่มพูนขึ้นตามประสบการณ์ การเรียนการอ่านหนังสือเป็นเพียงการเริ่มต้น การสัมผัสผู้ป่วยจำนวนมากจึงเป็นของจริง อย่างไรก็ตามหากจะมองในอีกแง่มุมหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้ป่วยและญาติบางท่านอาจจะเข้าใจข้อมูล 10 อันดับโรคแรกเป็นว่าผู้ป่วยยิ่งมาก นายแพทย์และเจ้าหน้าที่กลับจะทำงานไม่รอบคอบ


ส่วนข้อมูล 10 อันดับโรคแรกที่ถูกส่งต่อจะยิ่งทวีความซับซ้อน มุมมองในแง่ดีคือ เมื่อนายแพทย์และเจ้าหน้าที่รักษาผู้ป่วยจนถึงที่สุดแล้วพบข้อจำกัดที่จะรักษาต่อก็สมควรส่งต่อให้โรงพยาบาลที่พร้อมกว่าเก่งกว่าดูแลต่อ หากผู้ป่วยและญาติรับทราบข้อมูลนี้ก็จะทำให้รู้ว่าตนเองที่เป็นโรคเดียวกันกับ 10 อันดับโรคแรกนี้อาจจะถูกส่งต่อ ซึ่งหากถูกส่งต่อก็เท่ากับได้เตรียมใจไว้แต่แรกแล้ว แต่ถ้าไม่ถูกส่งต่อจะให้หมายความว่าอย่างไร


เช่น การรักษายังไม่ถึงที่สุดจึงยังไม่จำเป็นต้องส่งต่อ หรือเป็นผู้ป่วยที่ง่ายต่อการรักษาจึงไม่จำเป็นต้องส่งต่อ หรือเป็นโรงพยาบาลยังไม่พบข้อจำกัดสำหรับรายนี้จึงยังไม่จำเป็นต้องส่งต่อ เหตุผลในทางตรงข้าม เช่น เพื่อพัฒนาฝีมือ เป็นกรณีหมดหวัง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องตามจ่าย


มองในแง่มุมการพัฒนาระบบ หากท้องถิ่นรับทราบว่าโรงพยาบาลมีข้อจำกัดในการรักษาโรคใดบ้างก็อาจจะสามารถช่วยเหลือโรงพยาบาลพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคนั้น ๆ ให้มากขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่ต้องส่งต่อได้


การมองในแง่มุมการพัฒนาระบบอาจจะฟังดูเหลือเชื่อสำหรับบ้านเราทุกวันนี้ แต่ก็เป็นกรณีท้าทายว่าวันหนึ่งท้องถิ่นจะก้าวเข้ามาช่วยเหลือผู้บริหารโรงพยาบาลพัฒนาโรงพยาบาลได้อย่างไร


ข้อมูลการผ่าตัด 5 อันดับแรกก็เป็นทำนองเดียวกัน กล่าวคือยิ่งผ่ามากยิ่งเก่ง นี่เป็นกรณีที่พูดกันมานานว่าแท้จริงแล้วโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยมิได้เก่งกว่าหรือชำนาญกว่าโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลชุมชนทุกเรื่อง หากเป็นโรคยากหรือซับซ้อน จึงสมควรเป็นภาระของโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย หากเป็นโรคง่าย ๆ เช่น ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ แท้จริงแล้วโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยกลับจะเชี่ยวชาญน้อยกว่าเพราะพบน้อยกว่า


ผู้เขียนเคยเล่าเรื่องกรณีเช่นนี้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เป็นตอนหนึ่งของการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Return to Black Jack เกี่ยวกับชีวิตแพทย์ฝึกหัดในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ตัวเอกตัดสินใจย้ายผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดหัวใจออกจากโรงพยาบาล เพราะรับทราบว่าที่แท้แล้วอาจารย์แพทย์เคยผ่าตัดหัวใจน้อยครั้งมาก เมื่อเทียบกับนายแพทย์ที่โรงพยาบาลจังหวัดใกล้เคียง


มาถึงข้อมูลละเอียดอ่อนคือข้อมูลการตาย 10 อันดับโรคแรกและข้อมูลการเสียชีวิตในมิติอื่น ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่โรงพยาบาลมีไว้เพื่อพัฒนาตนเอง คำถามมีว่าประชาชนควรล่วงรู้ด้วยหรือไม่?