Skip to main content

เรื่องของความพิการกับสิทธิเด็ก

หลังจากห่างหายไปประมาณ 1 เดือนมีเรื่องราวมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ผมได้เห็นชีวิตของเด็กและเยาวชนหลายๆกลุ่มผ่านการเดินทางไปร่วมกิจกรรมกับเพื่อนเยาวชนเหล่านั้น และขอแสดงความยินดีกับเพื่อนๆเยาวชนจากสี่จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านการอบรมพัฒนาศักยภาพเยาวชนภาคใต้ โดยกรมสุขภาพจิตจัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงวันที่ 14- 25 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมา ดีใจด้วยนะครับ :-)


ระหว่างกลับจากค่ายพัฒนาศักยภาพ ผมมองออกไปข้างทางในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา เห็นเด็กพิการคนหนึ่งนั่งขอทานอยู่ริมถนน ภาพนั้นติดตาผมจนมาถึงกรุงเทพ และขณะที่ผมเขียนนี้ผมอยู่ที่เชียงใหม่ก็ยังเห็นภาพของเด็กที่มาขายดอกไม้ตามข้างทาง :-( เด็กบางคนเป็นกะเหรี่ยงที่ยังไม่ได้รับสัญชาติด้วยซ้ำไป ถึงเด็กๆที่มาขายดอกไม้กลุ่มนี้จะไม่ได้เป็นเด็กพิการ แต่ก็ทำให้คิดถึงเด็กคนพิการคนอื่นๆ ที่อยู่แถวกรุงเทพฯหรือคนพิการที่ยังไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ที่มีให้เห็นอยู่อย่างดาษดื่น


การดูแลและคุ้มครองเด็กพิการในประเทศไทยยังเป็นปัญหาต่อเนื่องตลอดมา เด็กพิการส่วนใหญ่มักไม่ได้รับสิทธิ ในการศึกษาและพัฒนาศักยภาพ เหมือนเช่นเด็กคนอื่นๆ
อีกทั้งมาตรการที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือ เฉพาะเด็กพิการบางกลุ่ม(เช่น เด็กตาบอด, หูหนวก เป็นต้น)ต้องการอุปกรณ์พิเศษเพื่อช่วยให้ศึกษาได้เท่าเทียมกับเด็กปกติ รัฐก็จัดให้ได้ไม่เพียงพอ


การให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มนี้ก็ยังมีน้อย ไม่ได้สร้างสภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้พิการตามที่ควรเพื่อให้เด็กพิการได้ใช้ชีวิตอย่างเด็กปกติ เป็นเสมือนการเลือกปฏิบัติกับเด็กพิการ เช่น การคมนาคม ที่ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่เพียงพอสำหรับผู้พิการ ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ (ปัจจุบันพบเห็นได้มากขึ้น) ทางเดินสำหรับผู้พิการโดยการทำเครื่องหมายสำหรับคนตาบอด ทางลาดสำหรับผู้พิการที่ต้องใช้รถเข็น อาคารของส่วนราชการต่าง ๆ ไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นทางลาดเพื่อผู้พิการได้ใช้สิทธิของตนในการติดต่อเพื่อทำธุระกับราชการได้เช่นคนปกติทั่วไป ทำให้เด็กพิการต้องอยู่ในสถานที่ที่จำกัดและต้องใช้ชีวิตอย่างผู้พิการที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะทำให้เด็กพิการได้ช่วยตนเองและพัฒนาให้สามารถดูแลตนเองได้


ในอดีตที่ผ่านมามักจะสร้างระบบความคิดให้กับเด็กพิการว่าไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ต้องรอความช่วยเหลือดูแลจากคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับบุคคลอื่น เป็นการสะท้อนทัศนคติของสังคมและรัฐว่าเป็นไปในลักษณะของการสงเคราะห์มากกว่าการมีแนวความคิดเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิของเด็ก


ปัจจุบันการดำเนินการเพื่อให้เด็กพิการสามารถพัฒนาและช่วยตัวเองให้มีชีวิตปกติได้เช่นเด็กอื่น ๆ ยังไม่ครอบคลุม จำนวนเจ้าหน้าที่ และสถานบริการที่เอื้อเฟื้อต่อผู้พิการยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้พิการ นอกจากนั้นรัฐยังปล่อยให้เด็กพิการถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เช่น การถูกนำมาบังคับให้เป็นขอทานเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น :-/


บางกรณี การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการดูแลเด็กพิการแก่ครอบครัวของเด็กก็ยังมีน้อยอยู่ทำให้บางครอบครัวไม่ดูแลบุตรหลานพิการของตน ปล่อยให้เติบโตตามยถากรรม กลายเป็นอีกปัญหาหนึ่งของสังคม
ผมไม่อยากกล่าวโทษแต่กระบวนการของรัฐเพียงอย่างเดียว เพราะบางทีครอบครัวของเด็กเองก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลเด็ก อาจเป็นเพราะด้วยความจน ความไม่รู้ ไม่เข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง ดังนั้นรัฐจะต้องจัดระบบเพื่อรองรับในการดูแลเด็กพิการเหล่านั้นโดยรวมถึงการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ครอบครัวที่มีเด็กพิการอาศัยอยู่ด้วยและการสร้างระบบให้เจ้าหน้าที่ในระดับชุมชนสามารถเข้าถึงการดูแลเด็กพิการด้วย


เด็กพิการ ก็คือเด็กคนหนึ่ง คนพิการ ก็คือคนคนหนึ่ง สิทธิของพวกเขาก็มีไม่ต่างจากสิทธิที่เราทุกคนมีกัน สิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิที่จะได้รับการดูแลและเลี้ยงดู สิทธิที่จะได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เหมือนที่พวกเราทุกคนมี


ผมขอฝากพวกเราทุกคนหากพบเห็นเด็กพิการ เด็กขอทาน หรือเด็กเร่ร่อน ขอให้ท่านรีบแจ้งไปที่สำนักงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พัฒนาสังคม ประชาสงเคราะห์ สถานีตำรวจ ที่อยู่ใกล้บ้านท่านโดยพลันครับ เพราะท่านเหล่านั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงและสามารถช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาแก่ท่านได้ครับ


ในช่วงวันหยุดยาวกลางเดือนเมษยานี้ ขอให้ทุกคนมีความสุขกับครอบครัว ในวันครอบครัว วันผู้สูงอายุ และวันสงกรานต์ ที่กำลังจะมาถึง โปรดระมัดระวังในการขับรถและการดื่มสุราด้วยนะครับ เพราะหากดื่มแล้วขับมันอันตราย อย่าเพิ่มจำนวนผู้พิการเพราะอุบัติเหตุเลยนะครับ