Skip to main content

60 ปีแห่ง " ตะวัน" รออรุโณกาล (ตอนที่ 1)

คอลัมน์/ชุมชน

 


" ออง ซาน ซูจี"



ตอนที่ 1


 


" ดิฉันหวังว่าชาวพม่าจำนวนมาก จะตระหนักถึงสัญชาตญาณภายใน ที่กระตุ้นให้เราพยายามมองหาสวรรค์และเสียงอันหนักแน่นที่คอยพร่ำบอกแก่เราว่า เบื้องหลังก้อนเมฆที่เรียงรายสลับซับซ้อน ยังคงมีพระอาทิตย์ที่คอยเวลาอันเหมาะสม ที่จะโผล่พ้นออกมาให้แสงสว่างคุ้มครองแก่เรา"


ออง ซาน ซูจี


จาก " ออง ซาน ซูจี 60 ปีแห่งตะวันหลังก้อนเมฆ"









ภาพอองซาน ซูจี วาดโดยกงพัด จรุงกิจอนันต์

- 1 -


ปลายปี 2547 … ชายแดนไทย-พม่า เมืองพญาตองซู ตรงข้ามจังหวัดกาญจนบุรี


ผมจำดวงตา และคำพูดของชายขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างคนนั้นได้ดี …


สำหรับผมกับเขาเหมือนมีเพียงภาษาที่ขวางกั้น แต่เมื่อคำว่า " ออง ซาน ซูจี" ถูกกล่าวจากปากผม เขายิ้มและพยักหน้าเป็นนัยว่ารู้จัก แต่ไม่ขอพูดอะไรมากกว่านั้น


เขาเตือนผม ว่าสายลับของทางการมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า …


ครึ่งปีให้หลัง... ผมนึกถึงสีหน้าและดวงตาของเขาขึ้นมาได้ เมื่อ 19 มิถุนายน 2548 ใกล้เข้ามา


น้อยคนนักจะทราบว่านี่คือ วันเกิดของสตรีที่ใช้ชีวิตทั้งชีวิตเดิมพันประชาธิปไตยให้บ้านเกิดเมืองนอน



- 2 -


" ประชาชนในประเทศของดิฉันกำลังเรียกร้องประชาธิปไตย และในฐานะลูกสาวของพ่อ


(นายพล ออง ซาน) ดิฉันรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ดิฉันต้องเข้าร่วมด้วย "



สหภาพพม่า มีนาคม 2531 …


ดอว์ ออง ซาน ซูจี เดินทางถึงสนามบินย่างกุ้ง แล้วตรงกลับบ้านด้วยความเป็นห่วงมารดาที่กำลังป่วยหนัก และขณะที่เธอไม่ค่อยสบายใจกับอาการของมารดานั้นเอง บรรยากาศความสงบก่อนเกิดพายุก็ส่อเค้าอยู่รอบตัว


ประชาชนที่เดินขวักไขว่บนท้องถนนเวลานั้นต่างมีสีหน้าเคร่งเครียด เพราะรัฐบาลพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party - BSPP) เพิ่งประกาศยกเลิกเงินจั๊ตคือธนบัตรใบละ 25 35 และ 75 อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีการชดเชยให้ประชาชนแต่อย่างใด จนมีผลเกิดความสั่นสะเทือนจากแรงแค้นของประชาชนทั่วพม่าพุ่งตรงไปยังรัฐบาล


จะไม่แค้นได้อย่างไร ?


ตัวอย่างง่าย ๆ … แม่คนหนึ่งที่อดออมทั้งชีวิตเพื่อส่งลูกเรียนท่ามกลางเศรษฐกิจพม่าที่ถูกปิดล้อมจากตะวันตก (เพื่อกดดันรัฐบาลทหาร) ธนบัตรในลิ้นชักที่จะนำไปจ่ายค่าเทอมลูก กลายเป็นเศษกระดาษในพริบตาเดียวที่รัฐบาลประกาศยกเลิกธนบัตรโดยไม่ให้เหตุผล


วันนั้น … .ใครเลยจะรู้ว่า เหตุนี้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายของความอดทนต่อระบอบการปกครองในพม่าซึ่งถูกทหารขโมยประชาธิปไตยไปกว่า 26 ปี และพร้อมจะปะทุเป็นคลื่นมหาชนในเวลาไม่นาน


26 ปีภายใต้ท็อปบู๊ต … 26 ปีภายใต้การเข่นฆ่าและเอาเปรียบประชาชน บรรดาทหารและญาติพี่น้องร่ำรวยมหาศาลจากการคอรัปชั่น แต่ประชาชนพม่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ กลับอยู่ในสภาพ " แร้นแค้น" จนถึงที่สุด


ปัญญาชนและผู้คิดต่างจากรัฐต้องหลบซ่อน พวกเขามีทางเลือกเพียง 2 อย่าง คือ หันหน้าเข้าหาวัด คนไหนกล้าพูดกล้าคิด ก็ต้องสู้กับการทรมานของรัฐบาลในคุก หรือจับปืนร่วมรบกับชนกลุ่มน้อยตามชายแดน


ในเดือนเดียวกันกับที่ซูจีกลับบ้าน การทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นที่ร้านน้ำชาแห่งหนึ่ง ตำรวจจับนักศึกษา เกิดการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว แต่ได้รับการตอบโต้จากเจ้าหน้าที่ด้วยการยิงใส่ผู้ชุมนุมเสียชีวิตหลายคน เป็นเชื้อเพลิงให้เกิดการจลาจลทั่วประเทศ จนมีการปราบปรามยังผลให้มีคนเสียชีวิตนับร้อยศพ


พม่าในช่วงนั้นแทบเรียกได้ว่าไม่มีความสงบสุข ข่าวลือสะพัดทั่วเมืองถึงการยึดอำนาจกันเองระหว่างทหารกลุ่มต่าง ๆ เป็นระยะ ไม่มีใครในกลุ่มผู้นำพูดถึงการ " คืนอำนาจ" ให้ประชาชนแต่อย่างใด แม้เหตุการณ์จะถึงขั้นมิคสัญญีแล้วก็ตาม


3 สิงหาคม 2531 … .กฎอัยการศึกถูกประกาศ สถานการณ์จลาจลในพม่าอยู่เหนือการควบคุม


ย่างกุ้ง … ซูจีกำลังพยาบาลมารดาและรับรู้เหตุการณ์อย่างสงบ ขณะนั้นเธอคิดถึง " พ่อ" ที่จากเธอไปตั้งแต่อายุ 2 ขวบ " พ่อ" ที่สำหรับคนพม่านับสิบล้านแล้วเขาคือ… " วีรบุรุษเพื่ออิสรภาพของประเทศพม่า"



@@@@



19 กรกฎาคม 2490 … . เสียงปืนนัดนั้นมิได้ดังกึกก้องเพียงบริเวณรัฐสภาพม่า แต่ยังดังก้องไปในจิตใจของชาวพุกามประเทศทั้งหมด หลายสิบปีให้หลัง พวกเขาก็พบว่ากระสุนที่ทะลวงร่างนายพลออง ซาน นัดนั้นยังได้ทำลายความหวัง รวมถึงอนาคตที่มีสันติภาพของประเทศนี้แทบหมดสิ้น


เพราะ ‘ สนธิสัญญาปางโหลง’ ที่บิดาซูจีทำกับชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในครั้งนั้น เมื่อไม่มีเขาอยู่ คนที่ร่วมอุดมการณ์กับเขาซึ่งมีอำนาจในรัฐบาลต่างจงใจละเมิดและลืมสาระสำคัญเรื่องนี้ไปหมดสิ้น โดยเฉพาะสาระที่ว่า หลังร่วมมือปลดแอกประเทศจากอังกฤษได้แล้ว 10 ปีต่อมา ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิแยกตัวออกไปหรืออยู่รวมกับพม่าก็ได้ มีการเขียนระบุลงไปแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญ


แต่เมื่อเนวินพร้อมคณะทหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีพลเรือน อูนุ ทุกอย่างจบลง ประชาธิปไตยถูกริบ ชนกลุ่มน้อยจับปืนลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลกลาง …


โศกนาฏกรรมครั้งนั้น ซูจี วัย 2 ขวบ ลูกสาวคนเล็กของ ดอว์ ขิ่น จี ภรรยานายพลออง ซาน เด็กเกินไปจนไม่สามารถรับรู้ได้มากนัก เธอรู้แต่ว่าแม่เป็นคนเลี้ยงเธอพร้อมพี่ชาย 2 คน มาตลอด หลังบิดาเสียชีวิต ครอบครัวซูจียังต้องพบความสูญเสียซ้ำอีก เมื่อพี่ชายคนรองของซูจีจมน้ำเสียชีวิต


หลังความเศร้าโศก มารดาซูจีได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาล (อูนุ) ให้ดำรงตำแหน่งทูตประจำอินเดีย ซูจีและพี่ชายได้รับการศึกษาในต่างประเทศ เวลานั้นเธอมีชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไปและพบรักกับ ไมเคิล อริส นักศึกษาอารยธรรมธิเบตที่ออกฟอร์ด ขณะเรียนต่อในอังกฤษ


ปีที่ซูจีสำเร็จการศึกษา มารดาเธอกลับบ้านเนื่องจากหมดวาระดำรงตำแหน่ง ตัวเธอเองหลังเรียนจบก็ทำงานที่องค์การสหประชาชาติและแต่งงานที่นั่นก่อนจะติดตามสามีไปภูฐาน ใช้ชีวิตในต่างแดนจน พ.ศ. 2530 ก็เริ่มเรียนปริญญาเอกและทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับวรรณคดีพม่า จนแม่ของเธอล้มป่วยลง


เป็นสาเหตุที่เธอกลับมาบ้านเกิด … ซึ่งในขณะที่เธอคิดคำนึงนี้ มันก็ร้อนระอุไปทุกหย่อมหญ้าแล้ว…



@@@@



ธรรมชาติของมนุษย์ เรื่องของตัวเองมักมาก่อนเรื่องคนอื่น ถ้าซูจีพยาบาลแม่ช่วงสุดท้ายของชีวิตโดยไม่สนใจบ้านเมืองก็ไม่มีใครว่าเธอได้ เพราะนี่คือความกตัญญูที่ลูกสาวคนหนึ่งพึงมีต่อมารดา แต่เธอก็รู้สึกว่าต้องทำหน้าที่อะไรบางอย่างที่บิดาของเธอได้เคยสร้างเอาไว้ …


15 สิงหาคม 2531 … ซูจีเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลทหารพม่า เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการอิสระและมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ จดหมายฉบับนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์พม่า (วันที่ 8 สิงหาคม 2531 ซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ และมีการปราบปรามทั่วเมือง) ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์



ช่วงเกิดการชุมนุมประท้วงมีการตั้งศาลวีรชนแบบง่ายๆ ขึ้นมาบนท้องถนน ( ภาพจากมติชนรายวัน)



การประท้วงที่หงสาวดี ( ภาพจากมติชนรายวัน)



พาดหัวข่าวมติชนรายวัน วันที่ 13 สิงหาคม 2531



นาม " ออง ซาน ซูจี" ในจดหมายมีผลสั่นสะเทือน เพราะ " ออง ซาน" พ่อของเธอ คือนามของบุรุษที่แม้เผด็จการเองเมื่อได้ยินก็ยังหวาดเกรงในหัวใจ ยิ่งกว่านั้น ทหารรู้ว่าประชาชนพม่ายังศรัทธาต่อนายพล " ออง ซาน" ของพวกเขา การที่ทายาทอองซานเคลื่อนไหว ทำให้กลายเป็นจุดรวมใจผู้รักประชาธิปไตยที่ประมาทไม่ได้


เผด็จการ " กลัว" ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ครั้งนั้น


26 สิงหาคม 2531 … ลานกว้างหน้ามหาเจดีย์ชเวดากอง ซูจีก้าวออกมาต่อหน้าฝูงชนนับแสน ปราศรัยต่อต้านเผด็จการครั้งแรก เธอถูกขึ้นบัญชีดำ และรัฐบาลพม่าได้ตอบโต้ความโกรธเกรี้ยวของฝูงชนด้วยการตั้งสิ่งที่เรียกว่า " สลอร์ค" หรือ " สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ" คุมสถานการณ์



- 3 -


 


" ความรักและสัจจะจะโน้มน้าวใจมหาชนได้มากกว่าการบังคับ"


วันนั้น … ภาพผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ก้าวออกไปเผชิญหน้าแถวทหารโดยเบื้องหลังมีฝูงชนนับร้อยมองด้วยความตื่นตะลึงยังคงติดตาผู้คนจนถึงทุกวันนี้


5 เมษายน 2532 ซูจีอยู่ระหว่างตระเวนหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปให้พรรค NLD หลังรัฐบาลทหารยอมอ่อนข้อจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น แต่ขบวนของเธอถูกขัดขวางโดยทหารรัฐบาล พร้อมกระบอกปืน


ซูจีเดินออกไปอย่างแช่มช้าเยือกเย็นไปยังแถวทหาร ทหารนายหนึ่งซึ่งจ่อปืนไปที่เธอเหงื่อไหลพราก เขาทึ่งในการปฏิบัติของคนผู้นี้ ในที่สุดท่ามกลางสายตาฝูงชนที่ลุ้นว่าจะเกิดการทำร้ายผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้หรือไม่ นายทหารที่ดูแลตรงนั้นก็มีคำสั่งด่วนให้เปิดทาง และสั่งให้อารักขาเธอเพื่อป้องกันการลอบสังหารที่อาจเกิดขึ้น


กล่าวได้หรือไม่ว่า เธอใช้ " ใจ" ชนะอำนาจของ " อาวุธ" …


หากวันนั้น คนที่นำหน้าฝูงชนไม่ใช่ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้ แต่คนที่กระเหี้ยนกระหือรือด้วยอารมณ์เกลียดชังเผด็จการ กระสุนจากปืนที่จ่อนั้นอาจลั่นออกมาก็เป็นได้ …


ในที่สุด เมื่อรัฐบาลหมดหนทางหยุดซูจีด้วยความรุนแรง จึงสั่งกักบริเวณ (20 ก.ค.2532) กำหนด 3 ปี ซึ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นกลายเป็นการเลือกตั้งที่พิลึกที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะมีการจับกุมนักการเมืองที่กำลังหาเสียงไปกักขัง ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกเสรีพึงกระทำ


ถึงกระนั้น ผลเลือกตั้งที่ออกมาก็ยืนยันความต้องการของชาวพม่า (พ.ศ.2531 พม่ามีประชากรทั้งหมด 13 ล้านคน) ที่ไม่ต้องการเผด็จการและความกดขี่อีกต่อไป ด้วยการเลือกพรรค NLD เข้าสภาถึง 396 ที่นั่ง จากทั้งหมด 465 ที่นั่งในสภา หรือกว่าร้อยละ 70 ยิ่งกว่านั้น หากมองจำนวนพรรคที่ลงแข่งขันก็ปรากฏว่ามีถึง 234 พรรค แต่พรรคของซูจีกลับได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น


นั่นหมายถึง " ความรุนแรง" ของรัฐบาลทหารพม่าที่ทำกับประชาชนในประเทศถึง 26 ปี ได้รับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิง แต่ …" ความรักและสัจจะ" ของซูจี ได้รับการยอมรับอย่างอบอุ่นจากทั้งชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยที่มีส่วนในการลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้