Skip to main content

60 ปีแห่ง " ตะวัน" รออรุโณกาล( ตอนที่ 2 )

คอลัมน์/ชุมชน

 


" ออง ซาน ซูจี"



ตอนที่ 2


 



- 4 -


" กำแพงคุกส่งผลสะเทือนต่อผู้ที่อยู่ภายนอกเช่นกัน"



คำสั่งกักบริเวณจาก 3 ปี เพิ่มเป็น 5 เมื่อซูจีปฏิเสธข้อเสนอให้ออกนอกประเทศ และภายหลังยังไม่สาแก่ใจเผด็จการ จึงมีคำสั่งเพิ่มเป็น 6 ปี พร้อมเบี้ยวสัญญาถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง


เผด็จการคิดว่าการกักขังจะทำให้ซูจีหวั่นไหว อุดมการณ์จะอยู่แต่ภายในรั้วบ้าน และทหารสามารถปกครองประชาชนที่ไร้ผู้นำได้ แต่ผิดถนัด นั่นกลับทำให้คนทั่วโลกรู้จักผู้หญิงที่ชื่อ ออง ซาน ซูจี มากขึ้นไปอีก …


เพราะ " กำแพงคุกส่งผลสะเทือนต่อผู้ที่อยู่ภายนอก…" อย่างที่ซูจีกล่าว การกระทำของเธอกลายเป็นที่จับตามองจากนานาชาติ "… .ดิฉันไม่ยอมรับสิ่งใดจากทหารเลย บางครั้งดิฉันแทบไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหารรับประทาน ทำให้ร่างกายของดิฉันอ่อนแอมาก ผมของดิฉันร่วง ดิฉันอ่อนแอจนไม่สามารถลุกจากเตียงได้ ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว หัวใจดิฉันเต้นแรง แทบหายใจไม่ออก น้ำหนักของดิฉันลดลงจาก 106 ปอนด์ เหลือเพียง 90 ปอนด์ ดิฉันคิดว่าดิฉันต้องตายจากเหตุหัวใจล้มเหลว ไม่ใช่เพราะอดอาหาร"


ซูจีถูกกักในบ้าน ไม่ได้ทำให้เธอสบายกว่าเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ถูกขังอยู่ในคุก " อินเส่ง" ซึ่งขึ้นชื่อว่าโหดที่สุดแต่อย่างใด ค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ทั้งหมดเธอต้องรับภาระ เธอต้องขายทรัพย์สินในบ้านเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ขณะที่เผด็จการพยายามปิดกั้นข่าวสารจากโลกภายนอกไม่ให้ไปถึงเธอ กระทั่งจดหมายที่ใช้ติดต่อกันระหว่างเธอและครอบครัวที่สหรัฐอเมริกาก็ถูกตรวจสอบ


" พวกเขาบอกว่านี่คือความกรุณาอย่างยอดยิ่งแล้วที่อนุญาตให้ดิฉันเขียนจดหมายถึงลูก ๆ ของดิฉันได้ แต่ดิฉันบอกพวกเขาว่า ดิฉันไม่ต้องการรับความกรุณาใด ๆ จากพวกเขา และเลือกที่จะยุติการสื่อสารนั้น สองปีครึ่งนับแต่นั้น พวกเขาได้ติดต่อขอให้สามีและลูกชายของดิฉันมาเยี่ยมดิฉัน" (ซูจีให้สัมภาษณ์ Michele Manceaux นิตยสาร Marie Claire (Singapore Edition) เดือน พ.ค. 2539 ช่วงที่เธอได้รับอิสรภาพแต่ก็ถูกจับตาอย่างเข้มงวด)


วันที่ผมเขียนสารคดีชิ้นนี้ คำบอกเล่าของอาจารย์สองท่านจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คืออาจารย์เมทินี พงษ์เวช และอาจารย์สุธีรา วิจิตรานนท์ ซึ่งเคยเข้าไปพบซูจีเมื่อปี 2539 โดยลอบเข้าไปกับกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบโลดโผน ซึ่งนับว่าเป็นคนไทยกลุ่มท้าย ๆ ที่มีโอกาสคุยกับหญิงเหล็กคนนี้อย่างใกล้ชิด ยังคงอยู่ในความทรงจำ


" ซูจีคิดว่าเขาเป็นลูกพ่อ พ่อเขาเป็นผู้ที่คนในประเทศมองว่าเป็นคนปลดแอก เนื่องจากว่าซูจีไม่ได้ใช้ชีวิตในพม่ามาก่อน นี่เป็นโอกาสที่เขาจะทำให้ประเทศดีขึ้น ตรงนี้ทำให้รัฐบาลพม่าไม่กล้าทำอะไรรุนแรง ซูจีชัดเจนว่าไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้อาวุธ ในการต่อสู้"


" เธอจะนั่งสมาธิบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำไม่งั้นก็ลำบาก ทำในหลายรูปแบบ เสื้อผ้าก็นำมาเย็บเอง เพราะเป็นการทำสมาธิ สิ่งสำคัญที่สุดอีกเรื่องคือต้องออกกำลังกาย เรื่องพวกนี้สำคัญ ทุกวันซูจีมีคนทำอาหารให้ แต่คนเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในบ้าน ได้รับการอนุญาตให้เข้าไป… โทรศัพท์เธอบอกว่าสายตัดตลอด ข่าวสารไม่เข้าไป ทุกอย่างโดนสแกน"


17 ปีที่ผ่านมา อะไรทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งยังคงมีความหวังในประชาธิปไตย ทั้งที่จนถึงปัจจุบันเธอยังถูกกักขัง และวันเวลาของตัวเองล่วงเลยมาจนมีอายุ 60 ปี คำตอบของอาจารย์เมธินี อาจบอกอะไรได้บ้าง


" วันเกิดปีนั้น (19 มิ.ย. 2539) สิ่งที่เธออยากได้คือให้รัฐบาลพม่าเข้าใจ เปิดโอกาสให้คนในพรรคเธอได้ดำเนินการตามปกติไม่ถูกจำกัด เธอมีความหวังสูงมาก ไม่รู้มีได้อย่างไร เธอบอกว่าต้องสำเร็จ เราถามว่านี่ผ่านมาเป็นปีแล้วนะ เธอบอกว่าอย่างไรก็ตาม นี่เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยพม่าได้เพราะกำลังอย่างอื่นไม่มี…"


อาจารย์สองท่านบอกผมเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่รู้สึกถึง " ความท้อแท้" ในตัวของวีรสตรีคนนี้เลย ซึ่งจะว่าไปแล้ว ซูจีมีคุณสมบัติของนางงามจักรวาล หรือไม่มากยิ่งกว่า


" เขาเหมือนนางงามจักรวาล มองโลกด้านบวกสูง มองอีกด้าน ถ้าไม่เป็นแบบนั้นคงอยู่ไม่ได้ สถานการณ์รอบด้านไม่เอื้อเลย ตอนนั้นเราเข้าพบเธอราว 4 โมงครึ่ง ออกมาเกือบทุ่ม พวกนักข่าวสิงคโปร์ไปก่อนเรา เราเหลืออยู่ 5 คน คุยต่อไม่นานมากนัก ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ตลอดช่วงที่เข้าไปพบกับเธอ"



- 5 -


" ผมรู้ว่าถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณ พร้อมกับขอร้อง


ให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ให้ทั้งผู้ที่กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติ


ด้วยความเมตตากรุณา และจิตวิญญาณแห่งสันติ "


 


คำกล่าวข้างต้นเป็นของ ลูกชายซูจี คือ คิม และ อเล็กซ์ซานเดอร์ ซึ่งเดินถือรูปแม่ของขึ้นบนเวทีรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ต่อหน้าผู้มีเกียรตินับร้อยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2534 ท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้อง


ตอนนั้น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในเมืองไทยผ่านไป 18 ปี เหตุการณ์ 8-8-88 ของพม่าผ่านไป 3 ปีเศษ ไทยอยู่ในยุครัฐบาลพลเรือนของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ขณะที่พม่าประชาธิปไตยยังล้มลุกคลุกคลานเพราะอยู่ภายใต้เผด็จการสลอร์ค


พิธีมอบรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดรางวัลหนึ่งของโลกครั้งนั้น แม้เธอไม่สามารถไปร่วม แต่ซูจีก็ประกาศมอบเงินรางวัล 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งกองทุนเพื่อสุขภาพและการศึกษาไว้ให้กับประชาชนพม่าอันเป็นที่รักของเธอ


ช่วงปี 2538-2542 ซูจีได้รับอิสรภาพเป็นเวลาสั้น ๆ ปีนั้น มีการประชุมสภาสตรีโลกที่ปักกิ่ง จึงเป็นโอกาสอันดีที่คณะบุคคลต่าง ๆ จะมีข้ออ้างเดินทางเข้าพบซูจี เพื่อนำคำปราศรัยของเธอไปเปิดในที่ประชุม (พม่ายอมเพราะเกรงใจจีน) อาจารย์สองท่านที่ผมกล่าวถึงจึงไม่ใช่คนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ยังมีกลุ่มของจีระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนซีไรต์ ซึ่งถือโอกาสเข้าไปจนมีโอกาสพบ " คู่แฝด" ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นเดียวกับที่เธอทำสมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ



จีระนันท์ พิตรปรีชา (ขวา) กับ ออง ซาน ซูจี (ซ้าย) คราวที่เธอไปเยี่ยมวีรสตรีถึงบ้าน



ช่วงนั้นแม้ซูจีจะได้อิสรภาพ เธอก็ต้องพลัดพรากสามีตลอดชีวิต ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา เผด็จการสั่งห้ามไม่ให้ไมเคิล แอริส และบุตรชายของเธอเข้าประเทศ จนต้นปี 2542 ไมเคิลป่วย และรู้ตัวว่าจะมีชีวิตอีกไม่นาน เขายื่นวีซ่าขอเยี่ยมภรรยาครั้งสุดท้าย แต่เผด็จการใช้เงื่อนไขตรงนี้อย่างไร้มนุษยธรรมกดดันให้เธอออกนอกประเทศไปเยี่ยม


ในที่สุด ไม่มีใครรู้ว่าซูจีรู้สึกอย่างไร ไมเคิลเสียชีวิตปลายเดือนมีนาคม 2542 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซูจีในฐานะแม่และภรรยา แต่ดูเหมือนไมเคิลเข้าใจภรรยาของเขา หากย้อนกลับไปดูคำนำในหนังสือ Freedom from Fear " อิสรภาพจากความกลัว" ที่ไมเคิลบันทึกไว้


" เธอเฝ้าเตือนผมว่าวันหนึ่งเธอจะต้องกลับไปพม่า ซึ่งเธอต้องการการสนับสนุนของผมในเวลานั้น เธอไม่ได้ต่อรอง แต่เป็นการขอร้อง…"


ซูจีโดนเผด็จการกักตัวอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2543 คราวนี้กินเวลายาวนาน 18 เดือน สิ้นสุดเมื่อพฤษภาคม 2545 มีข้อน่าสังเกตคือ ทุกครั้งที่ซูจีถูกปล่อย แสงสว่างแห่งประชาธิปไตยในใจของชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยจะเรืองรองขึ้นทุกครั้ง แต่แสงสว่างนั้นก็ทอได้ไม่นาน เมื่อเผด็จการรู้สึกถึงอันตรายก็จะสั่งกักตัวเธออีก


ล่าสุด เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2546 เมื่อซูจีพร้อมคนของเธอเกิดการกระทบกระทั่งกับม็อบจัดตั้งของรัฐบาลที่เมืองเดพายิน (ทางเหนือของพม่า) ขณะออกพบประชาชน ปัจจุบันรัฐบาลพม่าภายใต้ " สภาเพื่อสันติภาพและกฎระเบียบแห่งรัฐ" (SPDC) ยังคงไม่มีทีท่าจะปล่อยเธอ แม้ได้รับแรงกดดันจากนานาชาติรวมถึงชาติสมาชิกอาเซียน


ไทยเองมีความพยายามใช้นโยบายที่เรียกว่าการสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับพม่า และเข้าไปช่วยทำสิ่งที่เรียกว่าแผนพัฒนาสู่ประชาธิปไตยหรือ " โร้ดแมป" เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งมีคำถามอยู่ว่า เผด็จการมีความจริงใจแค่ไหน ในเมื่อการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นทุกครั้งก็มีแต่ตัวแทนฝ่ายทหาร และมีการเซ็นเซอร์การแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มงวดกับผู้เข้าร่วมประชุม จนซูจีและพรรคของเธอประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมด้วย



ในบ้านของซูจี จะสังเกตเห็นว่ามีรูปพ่อของเธอขนาดใหญ่ติดอยู่


 


- 6 -


"… เราต้องตระหนักว่า ถ้าไม่รู้เรื่องเพื่อนบ้าน ก็ไม่มีทางรู้จักตัวเราเอง… เพราะเพื่อนบ้านคือส่วนหนึ่งของความเป็นตัวเราเช่นกัน … เราควรทำความเข้าใจกัน มองจุดดีของกันและกัน เลิกเป็นศัตรูกัน ไม่มีอะไรเลวร้ายเท่ากับการมีเพื่อนบ้านข้างเคียงที่จะนั่งเกลียดชังกัน ไม่พอใจกัน แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ …"


ชาญวิทย์ เกษตรศิร



ทำไมเราต้องสนใจเรื่องของซูจี ผู้หญิงคนนี้สำคัญกับคนไทยอย่างไร ผมคงขอตอบอย่างชัดเจนขยายคำกล่าวของอาจารย์ชาญวิทย์ข้างต้นว่า หากเพื่อนบ้านของเรา เรายังไม่รู้จักแล้ว ย่อมเป็นเรื่องเลวร้าย


ลองคิดเล่น ๆ ว่า ทำไมเรารู้สึกรังเกียจผู้อพยพชนกลุ่มน้อยที่มาจากพม่า เพราะพวกเขาเป็น " พม่า" เท่านั้นหรือ? ลองถอดอคติทางประวัติศาสตร์ออก แล้วตั้งคำถามต่อ ทำไมพวกเขาต้องมา? เพราะ " ยากจน" ทำไมยากจน? ก็เพราะรัฐบาลของพวกเขา " คอรัปชั่น" " โกงกิน" และเป็น " เผด็จการ" ที่สนใจแต่จัดสรรงบประมาณพัฒนาอาวุธและกองทัพมากกว่าพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน


เราจึงไม่ควรเกลียดชังผู้อพยพจากพม่า ไม่ว่าพวกเขาเป็นกะเหรี่ยง มอญ หรืออะไรก็ตาม คนไทยควรจะเกลียด " รัฐบาลเผด็จการ" ของพวกเขาต่างหาก ไม่ใช่ประชาชนพม่า เพราะนั่นคือต้นตอปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดบนแนวชายแดนที่ติดกับบ้านเราอย่างไม่รู้จบสิ้น ทั้งการสู้รบและยาเสพติด


" ประชาธิปไตย" จึงเป็นเรื่องสำคัญในพม่า บ้านเขาสงบ บ้านที่ติดกันอย่างไทยย่อมสงบด้วย …


สิ่งที่ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างออง ซาน ซูจี ทำ จึงเป็นสิ่งที่ประเทศประชาธิปไตยอย่างเราควรสนับสนุนและเอาใจช่วยเธออย่างเต็มที่ เพราะเมื่อใดก็ตามที่พม่าเป็นประชาธิปไตย เมื่อนั้นแสงแห่งสันติภาพย่อมจะสาดส่องบนดินแดนเจดีย์สี่พันองค์ สงครามตามแนวตะเข็บชายแดน ปัญหาผู้อพยพ ฯลฯ ย่อมได้รับการบรรเทา และเราจะคบพม่าอย่างมิตรแท้ได้มากขึ้น แก้ปัญหามายาคติทางประวัติศาสตร์ร่วมกันได้ง่ายขึ้น


ผมเชื่อว่าสักวัน " อรุโณกาล" ย่อมมาเยือนตะวันดวงนี้ เมื่อก้อนเมฆและหมอกร้ายสลายตัว...


ด้วยคารวะ … ความหวัง และความกล้าของ ออง ซาน ซูจี ในวาระ 17 ปี แห่งการต่อสู้ และ 60 ปีแห่งกาลเวลาของชีวิต ที่เดิมพันเพื่อ " ประเทศชาติ" และ " ประชาชน" ของเธอ


 


เอกสารอ้างอิง



  • คณะกรรมการจัดงานครบรอบ 60 ปี ออง ซาน ซูจี . 60 ปี ออง ซาน ซูจี 60 ปีแห่งตะวันหลังก้อนเมฆ บันทึกการต่อสู้ของผู้หญิงแห่งลุ่มน้ำอิระวดี-สาละวิน . 2548.
  • ธีรภาพ โลหิตกุล . คนเลี้ยงม้า. สนพ. มติชน.


* ในวันที่ 19 มิ.ย. 48 นี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) จะมีการมอบปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้กับซูจีที่ตึกโดมผ่านตัวแทนของเธอในเวลาประมาณ 9.00 น. และจะมีการเสวนาวิชาการและกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งวันจนถึงเวลาราว 20.30 น.