Skip to main content

" ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ "4 ปีในดินแดนแห่งเสรีภาพ

คอลัมน์/ชุมชน

 




เมื่อแรก การย่างก้าวของเด็กน้อยคนหนึ่งก็ไม่ต่างกับคนทั่วไป ที่มุ่งหน้าสู่ประภาคารอันอุดมไปด้วยเทวดาผู้ทรงปัญญา เพียงแค่รู้ว่า ที่นี่แหละ … จะสามารถบันดาลชีวิตที่มั่นคงให้กับเขาได้


มหาวิทยาลัย ? มาหาอะไร ? มาทำไม ?


คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นกับเขาเป็นครั้งแรกในจิตใจเมื่อใดไม่สำคัญ มันอาจจะมาจากปัจจัยและความจลาจลทางปัญญารอบ ๆ ตัว ประโยคสะดุดตาไม่กี่คำที่เขียนอยู่ในหนังสือรับเพื่อนใหม่ว่า


" ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง " ซึ่งกางหราอยู่บนหน้าของเชียร์ลีดเดอร์


เด็กคนนั้นเฝ้าเพียรค้นหาคำตอบของประโยคดังกล่าวผู้คนรอบตัว แต่กลับพบความหมายสถิตอยู่เพียงแค่ตัวหนังสือที่จดจารลงบนหนังสือหลากหลายเล่ม บางประโยคก็บอกว่า


" มหาวิทยาลัยแห่งนี้สอนให้ฉันรักประชาชน "


เรารักสถาบัน และเรารักประชาชนหรือยัง ? เป็นคำถามซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นในใจอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยง การพยายามหาเหตุผลที่จะ " รัก " ธรรมศาสตร์ ตามแบบของเขาในขวบปีแรกอย่างหนักผ่านไปเหมือนกับการค้นหาความหมายของประโยคแรก โดยได้คำตอบว่าเด็กน้อยกำลังพยายามรัก " อดีต " อยู่เท่านั้น เพราะที่นี่เต็มไปด้วยคนที่ " รัก " ตัวเองซะมากกว่า


" ฉันอยู่ที่นี่ ดูดีดี ไม่มีอะไร " เป็นคำตอบที่กึกก้องในปีแรกในใจ


ใครหลายคนเลิกค้นหาแล้วเดินหน้าเข้าหาเทวาลัยแห่งความบันเทิง ขณะที่ใครหลายคนก็เลือกที่จะเดินเข้าสู่เทวาลัยแห่งตำรับตำราโดยไม่หวนกลับมาค้นหามันอีก แต่เขาและใครหลายคนก็เลือกที่จะหาต่อ …


การตามหาดำเนินต่อไปในมหาวิทยาลัยอันกว้างใหญ่แห่งนี้ เป็นขวบปีที่สองซึ่งเขากำลังไม่เข้าใจคำว่า " เสรีภาพทุกตารางนิ้ว " ไม่เข้าใจคนกลุ่มใหญ่ ที่ยังทำอะไรประหลาด เพราะคนกลุ่มนี้ใช้เสรีภาพของตนเองในการบดบังเสรีภาพของผู้อื่นทั้งความคิดและการกระทำ ขณะที่ปากก็พูดว่าตนเองเป็น " ประชาธิปไตย " พวกเขามีมากทั้งชั้นบนและล่างของหอคอยลงมา


เขาหลบลงมาจากหอคอยแล้วไปอยู่ในกระท่อมข้างๆ …


ช่วงนี้เด็กน้อยพบคนแปลกหน้ามากมายเข้ามาในบ้านแห่งเสรีภาพ ปราชญ์ผู้ทรงปัญญา คนบ้า คนเกือบบ้า คนขายถั่ว มีเรื่องราวมากมายให้ศึกษาเรียนรู้ พวกเขาชี้ไปข้างนอก เขาและเพื่อนเริ่มแหวกกำแพงของหอคอยแห่งนี้ออกไปบ้างเป็นครั้งคราว


เพื่อออกเดินทาง … เพื่อพบว่าตนเองอยู่บนหอคอยสูงที่อยู่ห่างจากพื้นดินนับพันฟุต


คนหลายคนที่พื้นดินบอกกับเขาว่าทำไมคนถึง " รักมหาวิทยาลัยของเขา " และทำไมฉันถึงต้อง " รักมหาวิทยาลัย " เหมือนเขา


เขาบอกว่านี่คือป้อมปราการของประชาชนที่ไม่เคยแตกพ่าย ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหนก็ตาม


เขาบอกว่าที่นี่คือที่ที่คนจากทุกสารทิศเข้ามาได้ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เด็กน้อยยิ่งตระหนักถึงคำเหล่านี้ เมื่อออกไปพบกับสังคมจริงภายนอกที่ " ประชาชนไม่ได้ถูกรัก " แต่อย่างใด แต่เมื่อกลับมาเขาก็พบว่าเรื่องเหล่านี้เป็นแค่ " ตำนาน " ที่เคยเกิดในดินแดนแห่งนี้


ตราบจนสถานการณ์บางอย่างกำลังก่อรูป


มีข่าวลือลอยมาตามสายลม … .ดินแดนแห่งนี้กำลังจะหมดอายุขัย ใช่ ! ดินแดนแห่งนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงและถูกทำอะไรบางอย่างเพื่อปิดตำนานให้สมบูรณ์ แบบไม่มีวันที่จะเปิดขึ้นได้อีก


เขาพยายามเงี่ยหูฟังเสียง แต่ก็ไม่มีคำตอบจากยอดหอคอย ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งเติบโตอยู่บนดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยมีเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมแห่งนี้กำลังจะเดินจากไป ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งดิ้นรนเบา ๆ เป็นเฮือกสุดท้าย


เด็กน้อยเจ็บใจ … .แต่ว่าเขาทำอะไรไม่ได้ … .เจ็บใจ … ที่ใครหลายคนไม่สนใจกับปรากฏการณ์นี้


เจ็บใจ … ที่ใครหลายคนไม่รักบ้าน...เจ็บใจ … ที่ตัวเองก็ท้อแท้


เลือดทางปัญญารินหลั่งลงครั้งแล้วครั้งเล่า …


เลือดทางใจรินหลั่งลงในใจเรา …


เลือดที่เนาว์วีรกรรมแห่งปัจจุบันเข้ากับอดีต … . หลายคนออกมาทำวีรกรรมนั้นเพื่อปกป้องบ้าน


แต่สุดท้าย เด็กน้อยเพียงแค่ได้ยินเสียงมัจจุราชตะโกนก้อง … .


" เสรีภาพทุกอย่างได้มาด้วยการต่อสู้ " เป็นบทเรียนที่สองซึ่งแม่โดมสอนด้วยของจริง และบางทีอาจจะเดิมพันด้วยชีวิตของแม่โดมเอง เหมือนในอดีตที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน


ช่วงเวลาที่เหลือในดินแดนอันเงียบสงัด … เขาเริ่มต้นออกเดินทางไปในที่ต่าง ๆ และได้แต่ยืนมองกลับมายังบ้าน


ในที่สุดวันหนึ่ง เขาต้องจากหอคอยแล้ว … .


แม้จะเป็นหอคอยเก่าคร่ำคร่าพร้อมที่จะพังทลาย แต่ถึงเช่นนั้น … สำหรับเขา หอคอยก็เปรียบดั่งมหาวิหารในใจที่จะยืนยงและไม่ถูกกัดเซาะด้วยมดปลวก


4 ปีในดินแดนแห่งหอคอยนี้ให้อะไรกับเราบ้าง ? นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรถาม แต่เราควรจะถามกลับ เราทำอะไรให้กับดินแดนแห่งนี้บ้าง ?


เหมือนดังที่ผู้นำประเทศหนึ่งถามกับประชาชนของเขา พวกเราทำอะไรนอกเหนือจากการรอรับกระดาษที่ว่างเปล่าแผ่นนั้น … กระดาษแผ่นที่ฉันรู้สึกว่ามันไม่ได้ให้อะไรกับชีวิตของฉันแม้แต่เสี้ยวเดียว นอกจากการเอาออกไปสมัครงานในสังคมที่ถือว่ากระดาษสำคัญกว่าความจริง


ฉันรู้แค่ว่า … แม่โดมสอนให้ฉันสำนึกต่อตัวเองและสังคมตลอดสี่ปีที่ผ่านมา


บางที … ..ฉันคงตอบได้แค่เพียงว่า " ทำไมฉันรักธรรมศาสตร์ " และ " จิตวิญญาณธรรมศาสตร์รักประชาชนเสมอ "


แต่คนในนั้นเล่า รักประชาชนหรือไม่ ? บางที... " คำตอบอาจอยู่ในใจลูกแม่โดมแต่ละคน "


 


** ไว้อาลัยแด่แม่โดมท่าพระจันทร์ ที่ชีวิตและวิญญาณจะจบลงในปี 2549 ตามมติสภามหาวิทยาลัยล่าสุดที่ต้องขอจารึกว่าอยู่ ในยุคของอธิการบดีชื่อ " สุรพล นิติไกรพจน์ "