Skip to main content

" ชีวิตงาม" ของ " ครูองุ่น มาลิก"

คอลัมน์/ชุมชน


" การทำงานเพื่อช่วยบุคคลที่ตกทุกข์และมีปัญหา เป็นปัจจัยชีวิตของข้าพเจ้า"


..องุ่น มาลิก..



- 1 -



ในช่วงชีวิตแสนสั้น นายเคยลองตั้งคำถามกับตัวเองบ้างไหมว่า จะทำอะไรทิ้งไว้ให้กับโลก ให้กับประเทศ ให้กับบ้านที่เราเกิดมาอาศัยอยู่ได้บ้าง ? อย่างน้อยก็ให้ที่เกิดเป็นคนนี้มีค่าขึ้นมา


ผมเกิดคำถามแบบนี้ขึ้นอีกครั้ง คราวยืนอยู่หน้าเนินคอนกรีตเล็ก ๆ ที่ฝังร่างบุคคลท่านหนึ่งในซอยทองหล่อ บริเวณติดกับสถาบันปรีดี พนมยงค์


หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าซอยทองหล่อ ทำเลทองทางธุรกิจอันมีมูลค่าที่ดินต่อตารางเซนติเมตรระดับร้อยล้านบาทขึ้นไปจะมีสุสานของใครซุกซ่อนและตั้งอยู่ได้


หากถามบรรดานักธุรกิจผู้ยึดมั่นและบูชาเงินเป็นพระเจ้า เขาอาจมองคนทำเช่นนี้ว่าบ้า เพราะหากเปลี่ยนเอาที่ดินซึ่งทำเป็นสุสานไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจผลย่อมแตกต่างกันลิบ และการกระทำนั้นจะดลบันดาลให้บุคคลผู้นั้นและลูกหลานร่ำรวยมหาศาลใช้สิบชาติก็ไม่จบ


แต่บุคคลที่ผมได้มีโอกาสยืนคารวะอยู่ขณะนี้เธอไม่ได้คิดเช่นนั้น … .


" เงิน" มิใช่ความ " ยั่งยืน" ในชีวิตของเธอ


กลับกัน เธอเชื่อว่า " เงิน" คือตัวนำความยุ่งยากเดือดร้อนสู่ผู้ถือ และจะดียิ่งกว่าหากสิ่งนี้ถูกใช้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์รวมไปถึงสังคมที่มีปัญหารอการแก้ไขอยู่มากมาย


นี่คือจุดประสงค์ของครู " องุ่น มาลิก"ึ่งนอนสงบอยู่ในผืนดินแห่งนี้ และในปัจจุบันเจตนารมย์ของครูบางส่วนกำลังออกดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรม …




บ้านเก่าของครูองุ่น มาลิก ภายในที่ดินของมูลนิธิไชยวนา
ซึ่งกำลังมีโครงการปรับปรุง



ที่ฝังร่างของครูองุ่น มาลิก ด้านกำแพงที่ติดกับสถาบันปรีดี พนมยงค์



  ที่ฝังร่างของครูองุ่น มาลิก ด้านกำแพงที่ติดกับสถาบันปรีดี พนมยงค์


- 2 -



88 ปีก่อน …5 เมษายน 2460


เด็กหญิงองุ่น บุตรีพระรุกขชาติบริรักษ์ กับ นางบู่ สุวรรณมาลิก ถือกำเนิดที่บ้านใกล้สวนจิตรลดา และถึงแม้เธอจะเป็นลูกสาวของภรรยาคนที่สาม แต่ก็ได้รับการศึกอย่างดีไม่น้อยหน้าคนอื่น เพราะบิดาเป็นถึงช่างไม้และคนสวนคนสำคัญของรัชกาลที่ 6


องุ่น จึงได้เรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนจบในปี 2480 ซึ่งสมัยนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าน้อยคนนักที่จะได้ร่ำเรียนถึงขั้นนี้


ชีวิตครูองุ่นเปลี่ยนแปลงไปมากในสมัยรัชกาลที่ 7 เนื่องจากเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่อันเป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีการปลดข้าราชการเพื่อประหยัดงบประมาณ พระรุกขชาติบริรักษ์ซึ่งเป็นบิดาของเธอรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย


ปี 2484 … สงครามมหาเอเชียบูรพาระเบิดขึ้น บ้านเก่าข้างสวนจิตรลดาก็ไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป ครูองุ่นจึงรวบรวมเงินซื้อที่ที่ซอยทองหล่อซึ่งเป็นทุ่งนาและมีถนนถนนลูกรังสายเล็กตัดผ่านในราคาตารางวาละไม่กี่บาท และช่วงนี้เธอก็สอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ (ต่อมาก็เป็นเลขานุการโรงงานยาสูบ ที่อยู่ไม่ไกลจากทองหล่อนัก)


ชีวิต " ครู" ของครูองุ่นได้บ้ายไปสอนหลายโรงเรียนในเขตพระนคร ทั้งสุกิจวิทยา วัดธาตุทอง ก่อนครูองุ่นจะกลับเข้าไปเรียนเต็มตัวอีกครั้งที่คณะคุรุศาสตร์จุฬาฯ (ซึ่งประกาศรับเป็นรุ่นแรก) หลังจากนั้นก็ได้ทุนศึกษาต่อสาขาจิตวิทยาที่อเมริกาจนสำเร็จ ก่อนจะกลับมาสอนหนังสือที่จุฬาฯและศิลปากรช่วงสั้นๆ


และช่วงเวลาที่ครูสอนในศิลปากรนี่เอง เป็นจุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษา จนในที่สุดครูก็ย้ายไปสอนวิชาจิตวิทยาที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตราชการ


เป็นที่ทราบกันปี 2510-2516 ขบวนการนักศึกษามีพลังมาก เป็นยุคของการ " หาความหมาย" จากการเรียนมหาวิทยาลัยของคนหนุ่มสาว กิจกรรมทางการเมืองมิได้จำกัดเฉพาะนักศึกษาในกรุงเทพฯ เท่านั้น หากยังได้รวมไปถึงที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งก็มีความคึกคักไม่แพ้กัน


เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินชื่อดัง เขียนในบันทึกความทรงจำถึงช่วงเรียนอยู่ศิลปากรว่า " อาจารย์องุ่นสอนภาษาอังกฤษ… วิธีการสอนของแกมีอะไรที่แปลกกว่าอาจารย์อื่นๆเขา ถ้าคุณมีความคิดดีๆ อยู่ในงานแกให้คะแนนเต็มไปเลยเยอะ ยกตัวอย่างเช่นเพื่อนผมคนหนึ่งเขียนชีวิตในวัยเด็กว่า เช้าวันหนึ่ง แม่ได้ส่งกระเป๋าให้ฉัน แล้วก็ชี้ไปที่ปลายทาง ซึ่งเวลานั้นตะวันกำลังฉายแสง และแม่บอกว่าจงเดินตรงไปทางนี้ คิดสิอย่างนี้ไม่ให้ครูให้คะแนนเต็มร้อยได้อย่างไร…"


ที่เชียงใหม่ ครูองุ่นซื้อที่ผืนหนึ่งอยู่อย่างสมถะ ซึ่งคนทั่วไปรู้จักกันในนาม " สวนไผ่หิน" ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าสวน " อัญญา" และได้กลายเป็นที่รวมตัวทำกิจกรรมของนักศึกษาและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ จากความเมตตาของครู


สิ่งที่น่าตื่นตะลึงเมื่อได้ค้นชีวิตครูก็คือ ตอนสอนอยู่เชียงใหม่ครูองุ่นถึงกับลงทุนยกหน้าบ้านให้นักศึกษาใช้ โดยตนเองกับลูกบุญธรรมย้ายไปด้านหลัง แถมยังร่วมกับนักศึกษาเผยแพร่ประชาธิปไตยสู่ชนบทผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นละครของชมรมศิลปะและการแสดง มีส่วนในการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ของภาคเหนือร่วมกับนักศึกษาและชาวบ้าน ฯลฯ


สิ่งที่ครูลงมือทำทั้งหมดนั้น มีสาเหตุระบุในรายงานพฤติกรรมที่ครูองุ่นโดนบังคับให้เขียนส่งเจ้าหน้าที่รัฐ (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) ว่า " พ.ศ. 2510 ข้าพเจ้ามาถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยดวงใจเบิกบานที่จะได้ใช้ 10 ปีสุดท้ายของชีวิตครูให้ไพศาลที่สุด ทำการสอนอยู่ได้ระยะหนึ่ง ข้าพเจ้าก็พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่มัวเมาอยู่กับการสนุก เที่ยวกลางคืน เต้นรำ เล่นรัก การพนัน ทั้งหญิงชาย นับเป็นสิ่งไร้ความหมายและไร้สร้างสรรค์ อาจเป็นเพราะเขาขาดความรู้ว่าชีวิตที่ดีกว่านั้นยังมี ชีวิตที่ประเสริฐที่ยังประโยชน์ต่อตนเองและสังคม…"


 


- 3 -


" เธอทำอะไรอยู่


แกรก แกรก ฉันแผ้วถางแผ่นดิน


อัตชีวประวัติ ก็เขียนอยู่ทุกวัน


ผืนดินเกือบ 2 ไร่ ที่ซอยทองหล่อ


แผ่นดินนั้น ไม้ปลูกนานา


ที่แผ้วถาง และปลูกต้นไม้


มีเสียงนกร้องเพลง แล้วถลามาหาแมลงที่กอหญ้า


มีกระรอกไต่ต้นขี้เหล็ก กระโจนไปต้นมะพร้าว


นั่นเป็นแผ่นภาพ เป็นของขวัญ แก่คนทุกคน


ไผ่ มะขาม ตะขบ


หนุ่มสาว กลีบขี้เหล็ก ปลายเรียงรายบนพื้นดิน


กระจายระยับเหมือน ดาวบนท้องฟ้า


เหมือนแผ่นดินกลายเป็นทอง


นี้หรือคือ อุทยานน้อย มอบให้เธอจากดวงใจ "


30 กว่าปีก่อน ลูกศิษย์ที่มีโอกาสแวะมาไหว้ครูที่ซอยทองหล่อ จะพบครูกวาดพื้นท่ามกลางแมกไม้ร่มรื่นในสวนสมดังบทกวีที่ครูรจนาไว้ในช่วงบั้นปลาย นี่คือภาพชีวิตช่วงสุดท้ายของครูองุ่น …


หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ครูองุ่นวุ่นกับการประกันตัวลูกศิษย์ซึ่งโดนจับข้อหาคอมมิวนิสต์ ต่อมาตัวเองก็ถูกจับ แล้วถูกนำตัวไปที่ค่ายกักกันซึ่งรัฐบาลภายใต้การชักใยของกองทัพเรียกชื่อเสียสวยหรูว่า " ศูนย์การุณยเทพ" รวมกับผู้ต้องสงสัยข้อหาคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ ซึ่งส่วนมากจะอายุน้อยกว่า


" เป็นค่ายทหารว่ากันง่ายๆ ครูทำทุกอย่าง กวาดขยะ เคาะระฆัง มีพวกหัวก้าวหน้าโดนจับมาก เวลาทหารมาบรรยายก็โห่ฮา ครูบอกพวกเราต้องเงียบฟังเขา นั่งตัวตรงเป็นแบบ ครูว่าถ้าคุณไม่ฟังเขาก็ไม่รู้ว่าเขาขี้เท่อยังไง" คุณสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดเคยเล่าให้ผมฟังถึงชีวิตครูองุ่นในค่าย ซึ่งน่าแปลกใจว่าครูสามารถเข้าได้กับผู้คุมเป็นอย่างดี ทั้งยังเสนอเสวนาธรรมะขึ้นในสถานกักกันเป็นการสอนผู้คุมไปในตัวอีกต่างหาก


หากนึกภาพนักโทษวัยเกษียณนั่งบรรยายธรรมะให้ผู้คุมฟัง คงหาดูไม่ได้จากค่ายกักกันที่ไหนเป็นแน่ เมื่อถูกปล่อยตัว การเพ่งเล็งของรัฐทำให้ครูองุ่นอยู่เชียงใหม่ไม่ได้อีก ครูต้องกลับมาอยู่ที่บ้านซอยทองหล่อ


แต่ครูก็ไม่ได้ท้อกับชะตากรรมของตนเองแต่อย่างใด งานเพื่อสังคมแทนที่จะลดลง ครูกลับโหมหนักขึ้น เห็นได้จากการก่อตั้งมูลนิธิ " ไชยวนา" " กลุ่มแม่บ้านชุมชนอ่อนนุช" และกองทุนมุ่งบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมอย่าง " พุทธทาสภิกขุ" เพื่องานด้านธรรมะ " หมอเมืองพร้าว" เพื่องานด้านสาธารณสุข ยังไม่รวมงานหุ่นมือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกติดปากว่า " หุ่นผ้าขี้ริ้ว" ที่นำไปแสดงให้เด็กๆ ด้อยโอกาสตามที่ต่างๆ ดู เพราะทำขึ้นจากเศษผ้าที่คนมาบริจาค ซึ่งครูเริ่มทำขึ้นตั้งแต่สอนหนังสืออยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่


เชื่อว่าหลายคนคงเคยดูละครหุ่นตอนเช้าเรื่อง " เจ้าขุนทอง" มาบ้าง นั่นล่ะ เป็นส่วนหนึ่งจากผลิตผลของครูองุ่น ที่ลูกศิษย์นำไปต่อยอดกว้างขวางออกไปอยู่ในทีวี


แต่งานไหนของครูที่สำคัญไปกว่าการก่อร่างสร้างสถาบันปรีดีร่วมกับมูลนิธิ ปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นไม่มี


11 พ.ค. 2526...อาจารย์ปรีดี เสียชีวิตที่บ้านอองโตนี ฝรั่งเศส ครูองุ่นทราบข่าวด้วยความเสียดาย


คืนนั้น...ครูลงมือร่างบางอย่างลงในแผ่นกระดาษ ก่อนเดินจากบ้านไปหาสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิษย์ผู้ใกล้ชิดซึ่งอยู่ไม่ไกล เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดในกระดาษแผ่นนั้น


" เอาสิครู" สินธุ์สวัสดิ์ เห็นด้วยกับโครงการซึ่งมีรายละเอียดว่า มูลนิธิไชยวนาจะยกที่ดินจำนวน 371 ตารางวาติดถนนในซอยทองหล่อให้กับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ (ซึ่งได้รับการตั้งขึ้นทันทีหลังอาจารย์ปรีดีเสียชีวิต) เพื่อร่วมขยายขอบเขตงานช่วยเหลือราษฎรให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ด้วยเชื่อว่าสถาบันที่กำลังจะกำเนิดบนผืนดินแห่งนี้เป็น


"cause ที่กว้างไพศาลมีโอกาสบรรลุถึงประชาชนและเป็นแหล่งถึงมวลมิตรให้ทำงานร่วมกัน" เพื่อ " ใช้ดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฏรไทยตามที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ห่วงใย" จากนั้นครูก็ติดต่อกับลูกศิษย์อาจารย์ปรีดี อย่างสุภา ศิริมานนท์ และดำเนินการจนที่ดินโอนมอบสำเร็จเสร็จสิ้น


10 ธันวาคม 2531 ...ครูองุ่นซึ่งเริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 2539 ก็ยิ้มออก เมื่อพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มขึ้นและมีผู้มีเกียรติจำนวนมากมาร่วมงาน


ในช่วงท้าย ๆ ของชีวิตนี้เอง ครูเปลี่ยนใจจากที่บริจาคร่างกายให้โรงพยาบาลเมื่อเสียชีวิต เป็นการเตรียมสุสานเพื่อฝังร่างตัวเองในที่ดินของมูลนิธิไชยวนาข้างบ้านของตนเอง


บางคนอาจมองว่าครูยึดติด แต่จุดประสงค์ใหญ่ที่ผมรู้สึกได้ก็คือครูเพื่อ " ปกป้อง" พื้นที่แห่งนี้ นอกเหนือจากพินัยกรรมที่ระบุว่าที่ดินผืนนี้ห้ามขาย ให้ทำประโยชน์กับสังคมเท่านั้น


21 มิถุนายน 2533 ครูองุ่นจากไปอย่างสงบ ทิ้งไว้แต่ความปรารถนาดี และปณิธานอันงดงามไว้ให้คนรุ่นหลังรวมไปถึงพินัยกรรมสั่งเสียที่ล้วนแต่มอบทรัพย์สินของตนเองเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในสังคม


24 มิ.ย. 2538...พิธีเปิด " สถาบันปรีดี พนมยงค์" เริ่มอย่างเป็นทางการ หลังจากได้รับการก่อสร้างและเก็บรายละเอียดจนใช้การได้ก่อนหน้าพิธีถึง 2 ปี ทำให้กลุ่มกิจกรรมต่างๆ ก็มีโอกาสใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งครูองุ่นได้เสียสละไว้ให้อย่างคึกคักไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเพื่อเด็ก ดนตรี วรรณกรรม ฯลฯ



สถาบันปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่บนที่ดินของครูองุ่น มาลิก ร่วมกับเจตนาของศิษย์อาจารย์ปรีดี พนมยงค์
ซึ่งในวันนี้กลายเป็นป้อมปราการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมท่ามกลางองค์กรธุรกิจที่อยู่ล้อมรอบ


- 4 -



สำหรับผม ชีวิตของ " ครูองุ่น" เป็นแบบเรียนให้กับคนรุ่นหลังได้


มิใช่เพียงเพราะเธอบริจาคที่ดินให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ...


มิใช่เพียงเพราะเธอเข้าร่วมกับฝ่ายนักศึกษา...


แต่เป็นเพราะครูองุ่น มีรายละเอียดทุกอณูการปฏิบัติตัวยามท่านมีชีวิตอย่างน่าสรรเสริญ


ครูมีธรรมะในชีวิต มีปณิธานอันมั่นคงในการทำอะไรเพื่อคนอื่น แม้กาลเวลาจะผ่านไปเท่าใด ครูก็แสดงให้เห็นว่า แม้เป็นคนๆ เดียว ก็สามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้ แม้จะชราภาพก็ยังสามารถทำประโยชน์ได้


ต่างกับใครหลายคนที่ไม่คิดแม้แต่จะทำ...


" ศรีบูรพา" เคยกล่าวไว้ในงานของท่าน (ใน " จนกว่าเราจะพบกันอีก" ) ว่า " ฉันไม่คิดว่าการมีชีวิตอยู่เพียงแต่จะกินไปวันหนึ่ง และแสวงหาความสุขไปวันหนึ่ง แล้วก็รอวันเจ็บป่วยและตายนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าอะไร ตามความเห็นของฉัน ชีวิตเช่นนั้นเป็นของว่างเปล่าเท่ากับไม่ได้เกิดมาเลยในโลกนี้ ชีวิตเฉยๆ ไม่มีความหมายสำหรับฉัน ถ้าฉันอยู่ ฉันต้องอยู่ในชีวิตที่ดีงาม และชีวิตที่ดีงามนั้นต้องมีอะไรมากกว่าการหากิน การแสวงหาความสนุก แล้วก็รอวันตาย ชีวิตที่ดีงามย่อมมีอยู่ และถูกใช้ไปเป็นคุณประโยชน์แก่คนอื่น"


และสำหรับผม " ครูองุ่น" มีชีวิตงาม ไม่ผิดจากที่ศรีบูรพากล่าวไว้นัก… .



ครูองุ่น มาลิก




เอกสารอ้างอิง


กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา). จนกว่าเราจะพบกันอีก. สนพ. พีพี (2521).


กาญจนา สาวิตรี บรรณาธิการ. รำลึกถึง ดอกไม้กลางใจชน ครูองุ่น มาลิก. โครงการเชิดชูปณิธานครูองุ่น มาลิก มูล นิธิไชยวนา.


(เนื่องในวาระครบ 9 ปีแห่งการถึงแก่กรรม 21 มิ.ย. 2542).


กาญจนา สาวิตรี บรรณาธิการ. ชีวิตงาม ครูองุ่น มาลิก. โครงการเชิดชูปณิธานครูองุ่น มาลิก มูลนิธิไชยวนา.


(เนื่องในวาระครบ 10 ปีแห่งการถึงแก่กรรม 21 มิ.ย. 2543).


ขอขอบคุณ


พี่ธีรภาพ โลหิตกุล


คุณสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย


ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล และแนะนำให้ผมรู้จักสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่นาม " องุ่น มาลิก"