Skip to main content

เรื่องของดนตรี ยุคสมัย และขนมเบื้อง

คอลัมน์/ชุมชน

ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความของ "บ้านบรรทัดห้าเส้น" ตอนที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ ผมกำลังนึกถึงรถเข็นขายขนมเบื้องที่ปากซอยของสำนักงาน "ประชาไท" ของเรานี่แหละ


พูดถึงขนมเบื้อง...ใครที่เป็นนักนิยมขนมเบื้อง คงรู้ว่าขนมเบื้องนั้นแบ่งประเภทออกเป็นสองแบบ นั่นคือขนมเบื้องโบราณ และขนมเบื้องแบบสมัยใหม่


ขนมเบื้องโบราณแป้งจะออกแข็งหน่อย ๆ ไส้หวานจะใช้มะพร้าวเคี่ยวกับน้ำตาล แนมด้วยชิ้นลูกพลับแห้ง ส่วนไส้เค็มจะเป็นกุ้ง ในขณะที่ขนมเบื้องแบบใหม่นั้นจะต่างที่ตัวไส้หวานจะเป็นครีมขาว ๆ โรยด้วยฝอยทองแทนไส้มะพร้าว


ซึ่งถ้าถามผมว่าชอบขนมเบื้องแบบไหนมากกว่า ผมก็คงตอบได้ว่าผมเองสนุกกับการเคี้ยวมะพร้าวในขนมเบื้องโบราณ ในขณะเดียวกันการเลียครีมบนขนมเบื้องแบบใหม่ก็ให้ความบันเทิงกับกระเพาะอาหารไม่น้อย ตอบง่าย ๆ ก็คือชอบทั้งคู่แหละครับ แต่ชอบคนละแบบ


ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะงง ๆ ว่าตัวชุมชนมันเป็นเรื่องเพลง แต่ไหงไปเล่าเรื่องขนมเบื้องซะอย่างงั้น


ที่จริงแล้วผมกำลังจะพูดถึงกระแสแฟชั่นหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาโด่งดังได้สักพัก นั่นคือกระแสย้อนยุค หรือที่เรียกกันให้เก๋ขึ้นมานิด ๆ ก็ต้องเรียกว่ากระแส "Retro" นั่นเอง ซึ่งไอ้เจ้ากระแสที่ว่าเข้ามาในหลาย ๆ วงการ ซึ่งในที่นี้ผมคงขอพูดแค่ในเฉพาะส่วนของวงการเพลงบ้านเราเป็นหลัก


กระแสดนตรีย้อนยุคเริ่มเข้ามาในแวดวงดนตรีไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่การกลับมารวมตัวของวงดนตรีดัง ๆ หลายวงในอดีต เพื่อเล่นคอนเสิร์ตหรือทำอัลบั้มใหม่ เช่น เฉลียง, แกรนด์เอ็กซ์, ไมโคร, นูโว, อินคา เป็นต้น (ล่าสุดก็ได้ข่าวมาว่าวงรุ่นเก๋าอย่างรอยัล สไปร์ทก็กำลังจะมีอัลบั้มใหม่ออกมาในอีกไม่นาน)


ความโด่งดังของภาพยนตร์ "แฟนฉัน" ซึ่งแผ่อานิสงส์ความโด่งดังมาถึงเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ใช้เพลงในยุคสมัยทศวรรษ 2520 ถึงต้นยุค 2530 เป็นหลัก รวมถึงการก่อกำเนิดของรายการวิทยุที่เปิดเพลงในยุคเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นรายการ "ยิ้มละไม" ทางคลื่น 97.5 ของ อสมท. หรือคลื่น 103.5 ที่เริ่มเปลี่ยนรูปแบบรายการให้สามารถเปิดเพลงในยุคทศวรรษ 2520-30 ได้


ซึ่งถ้ามองกันจริง ๆ กระแสเหล่านี้มีแง่ดีอยู่ตรงที่ทำให้มีที่ทางให้กับตลาดเพลงย้อนยุค ซึ่งส่งผลให้ผลงานเก่า ๆ หลายชิ้นได้มีโอกาสออกวางตลาดอีกครั้ง ทำให้ผู้ที่เคยชื่นชอบผลงานเหล่านั้น รวมถึงนักฟังเพลงรุ่นหลัง ๆ ที่เกิดไม่ทันช่วงเวลาที่ผลงานเหล่านั้นได้รับความนิยม (ถ้าถามผมว่าผมอยู่ในกลุ่มไหน...ผมอยู่กลุ่มหลังครับ :) มีโอกาสจะได้ซื้อหางานเหล่านั้นมาเป็นเจ้าของ


แต่เจ้ากระแส Retro นี่แหละ ที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างดนตรีของอดีตและปัจจุบัน โดยมักจะมีนักฟังเพลงรุ่นก่อนหน้าปัจจุบันพูดว่า "เพลงเดี๋ยวนี้มันเป็นอะไรนักหนา ใช้ภาษาไม่เห็นสละสลวยเลย เนื้อเพลงก็ไม่มีสัมผัส ดนตรีก็อะไรไม่รู้ ฟังแล้วปวดหัว แถมตอนร้องก็โหยหวนอย่างกะโดนเชือด" (ซึ่งถ้านับกันจริง ๆ ก็แค่ประมาณ 10-20 ปีก่อนเท่านั้นเอง) นักฟังเพลงรุ่นปัจจุบันก็ตอบกลับไปว่า "เพลงเก่า ๆ มันจะดีอะไรนักหนากันนะ ทั้งอืด ทั้งเฉื่อย ภาษาก็ยากซะ ร้องตามไม่ได้ ดนตรีก็เชยสะบัดซะอย่างนั้น" สุดท้ายก็จบลงที่ฝุ่นตลบอบอวล สลับกับเสียงด่าทออย่างฟังไม่ได้ศัพท์ (เราสามารถพบเหตุการณ์แบบนี้ได้ตามเว็บบอร์ดทั่ว ๆ ไป)


แต่ผมกลับมองว่า ด้วยการก่อกำเนิดในช่วงเวลาและบริบททางสังคมที่แตกต่าง ด้วยลักษณะของเทคโนโลยีที่หมุนเวียนไปตามยุคสมัย จึงทำให้หากจะมาวัด "ความดี" ของดนตรีในต่างยุคสมัย ก็ดูเป็นเรื่องยาก


มันคงจะเป็นเรื่องยาก ถ้าจะมาถามผมว่าระหว่างชาตรีกับอาร์มแชร์, แกรนด์เอ็กซ์กับ Soul After Six, บัตเตอร์ฟลายกับอพาร์ตเมนท์คุณป้า หรือ The Olarn Project กับโมเดิร์นด็อก เพลงของใครดีกว่ากัน แต่ผมรู้ว่าเพลงของศิลปินเหล่านี้ต่างมีความ "อร่อย" ที่แตกต่างกัน


แต่อย่างไรซะ มันก็ "อร่อย" ไม่ต่างกับตอนที่ผมกินขนมเบื้องทั้งแบบโบราณและปัจจุบันแหละ


ในโอกาสปีใหม่นี้ ผมคงไม่มีคำอวยพรอะไรมามอบ นอกจากจะขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขกับการใช้ชีวิต


และที่สำคัญ ขอให้ฟังเพลงอย่างเอร็ดอร่อยครับ


สวัสดีปีใหม่ครับ