Skip to main content

Ray : สิ่งที่ทำให้เราเป็น "คนพิการ"

คอลัมน์/ชุมชน

เด็กหญิงทองด


หนังเรื่อง Ray ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของ Ray Charles Robinson นั้นคงจะจืดสนิท ถ้าผู้สร้างหนังพุ่งประเด็นไปที่การยกย่องสรรพคุณหรือเยินยอพรสวรรค์ของนักดนตรีผิวสีผู้นี้ ด้วยเหตุที่โลกยอมรับโดยไร้ข้อกังขาใด ๆ อยู่แล้วว่า Ray Charles มีพรสวรรค์ในการสร้างโลกใหม่ทางดนตรีอันน่าทึ่งได้มากขนาดไหน


"อย่าให้ใครมาทำให้ลูกเป็นคนพิการเป็นอันขาด"


ปมเงื่อนจากประโยคนี้ต่างหากที่ทำให้ หนังชีวประวัติ Ray Charles ดูน่าสนใจขึ้นมา ----


แม่ผู้มีจิตใจเด็ดเดี่ยว และพร่ำสอนลูกของตนอยู่เสมอว่า จะต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้มีชีวิตที่ดีกว่านี้ ขณะที่เธอได้พยายามพิสูจน์ให้ลูกเชื่ออีกครั้งว่า "เพียงแค่ความผิดปกติของร่างกาย ไม่สามารถทำให้ใครเป็นคนพิการได้"


ในขณะที่เรย์ ชาร์ลส์ กำลังจะทดท้อต่อ "ชะตากรรม" อันเจ็บปวดนี้ แม่ของเขากลับพูดด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวเพื่อให้ลูกยอมรับเสียว่าตนเองกำลังจะ "มองไม่เห็น" และไร้ประโยชน์ที่เราจะคร่ำครวญในสิ่งที่เป็น "ชะตากรรม" หรือ "ไม่สามารถเลือกได้" และเหนือสิ่งอื่นใด มีสิ่งที่สามารถ "เลือกได้" คือการหัดเรียนรู้โลกใบนี้เสียใหม่ เรียนรู้อย่างมนุษย์ที่มองไม่เห็น และอยู่อย่างทรนง เมื่อนั้น ความผิดปกติทางร่างกายของเขาจะไม่ทำให้เขาถูกเรียกว่า "คนพิการ"


เมื่อโลกได้ให้ของขวัญแก่มนุษย์ธรรมดาอย่างเรา ด้วยการบันดาลพรสวรรค์ให้เกิดขึ้นในตัวใครบางคน เพื่อที่เขาจะเป็นเสมือน "ทูต" นำพาความอัศจรรย์ ซึ่งคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ต้องอ้าปากค้าง รู้สึกทึ่งว่าโลกนี้สามารถสร้างสิ่งซึ่งเราจินตนาการไปไม่ถึงเหล่านี้ได้อย่างไรกัน


ถ้าของขวัญอันวิเศษสุดซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นมาบนโลก มักจะเกิดขึ้นจากความ "ไม่ธรรมดา" หรือ "ผิดปกติ" ไปจากธรรมดาสามัญของคนทั่วไป (ซึ่งน่าเศร้าเหลือเกินว่าเราส่วนใหญ่จะเป็นได้เพียงผู้ดูที่นั่งปรบมือเสมอมา)


แล้วความไม่ธรรมดาเหล่านี้มีหน้าตาอย่างไร?


ตูลูส โลแทร็ค (Toulous Lautree) พิการช่วงขาจากอุบัติเหตุตั้งแต่อายุ 14 ปี เป็นเหตุให้ร่างกายไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ ด้วยส่วนสูงเพียง 140 ซม. "ไม้เท้า" จึงเป็นสิ่งที่เข้ามาทดแทนความไม่ปกติทางกายภาพของเขาไปนับแต่บัดนั้น แต่ความไม่ปกตินี่เองที่เป็นเหตุให้เขาเริ่มสนใจศิลปะยิ่งขึ้น การแยกตัวออกจากสังคมผู้ดี เข้ามาอยู่ในโลกส่วนตัวและใช้การเขียนรูปเป็นยารักษา ช่วยให้เขารังสรรค์ความงามจากความอัปลักษณ์ที่หลายคนมักกล่าวหา จนกระทั่งโลกได้รู้จักตูลูส โลแทร็ค ในฐานะจิตรกรเชื้อสายขุนนางเก่าของฝรั่งเศส ที่กลับเอาชีวิตเกือบทั้งหมดไปขลุกอยู่ตามสถานเริงรมย์หรือซ่องนางโลม จนต่อมาเราได้มีโอกาสชื่นชมกับภาพเขียนอันงดงามของหญิงสาวที่มีจังหวะชีวิตสวนทางกับคนทั่วไป


และเราต่างก็รับรู้กันดีว่า คีตกวีชื่อก้องโลกอย่าง บีโธเฟ่น (Ludwig van Beethoven) เมื่ออายุได้ 31 ปี โสตประสาทกลับไม่สามารถทำงานได้อย่างคนปกติทั่วไป แต่นั่นแปลว่าไร้เสียงสำเนียงใดโลดแล่นอยู่ในตัวเขาหรือไม่? แล้วอะไรทำให้ชายผู้นี้ประพันธ์เพลงคลาสสิคออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์?


แม่ของเรย์ ชาร์ลส์ ไม่เคยคิดว่าการที่เขา "มองไม่เห็น" จะเป็นอุปสรรคจนทำให้เขาต้องจบชีวิตเยี่ยง "คนพิการ" ที่ต้องทดท้อ รอแต่ความหวังที่จะมีชีวิตอยู่โดยขอ "ความเห็นใจ" หรือ "ความสงสาร" จากผู้อื่น


ใช่หรือไม่ว่า ---- ความพิการที่ว่านี้ ถ้าจะเกิดขึ้นกับใครคนหนึ่ง ก็อาจไม่ใช่เรื่องของร่างกายที่แตกต่างจากคนปกติส่วนใหญ่? ถ้าเช่นนั้นแล้ว "ความพิการ" คืออะไร?


ความจริงอย่างหนึ่งก็คือว่า เรย์ไม่ได้ตาบอดตั้งแต่กำเนิด เช่นนั้นแล้วเขาย่อมมีความทรงจำบางอย่างที่ปรากฏเป็นภาพเยี่ยงคนปกติอยู่บ้าง และนั่นคืออะไร? 7 ปีที่มองเห็นมีผลภายหลังกับเขามากน้อยแค่ไหน?


ก่อนที่เรย์จะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรไม่นาน เขาอยู่ในเหตุการณ์ที่น้องชายลื่นล้มลงในอ่างน้ำและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยที่เขาได้แค่ยืนดู นอกจากการสูญเสียน้องชายในครั้งนี้จะทำให้เขายิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นแล้ว เขาก็อดที่จะรู้สึกว่าตนมีส่วนในการตายของน้องชายอย่างเลี่ยงไม่ได้


นี่คือภาพความทรงจำอันเป็นบาดแผล และคอยทิ่มแทงสร้างความเจ็บปวดแก่เขาอีกในเวลาต่อมา แม้ว่าเขาจะสูญเสียการมองเห็นไปแล้วก็ตาม


7 ปีแห่งการมองเห็น มีทั้งภาพความทรงจำอันประทับใจและเจ็บปวดแสนสาหัสที่ยังวนเวียนอยู่ตลอดชีวิตเขา "ภาพ" ที่เป็นผลพวงจากอดีตก็ไม่เคยจางหาย ในขณะที่ "ภาพ" ใหม่ ๆ จากประสบการณ์ที่โตขึ้นก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้อีกต่อไป


เรย์จะรับมือกับความทรงจำที่หลอกหลอนนี้อย่างไร?


เมื่อวันหนึ่งเขาได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า "เฮโรอีน" ด้วยความหวังว่าจะสามารถเป็นยารักษาแผลในอดีตได้บ้าง แต่ยาเสพติดไม่เคยเป็นเพื่อนใคร ----


เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ นอกจากการต่อสู้กับภาพหลอนที่ยังไม่ได้จางหาย เรย์ยังต้องต่อสู้กับยาเสพติดที่เขาถลำลึกไปสู่การเป็นทาสมากกว่าจะเป็นนาย และสภาพการเป็นทาสนี้กำลังถูกเรียกร้องให้ต้อง "จ่าย" ด้วยราคาที่สูงลิบ นั่นคือการสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต แม้กระทั่งดนตรีที่เขารักที่สุด

"ทำไมลูกถึงกลายเป็นคนพิการได้"


นอกจากเรย์จะไม่สามารถหลอกตัวเองได้ว่าภาพความทรงจำใน 7 ปีแรกยังคงอยู่อย่างไม่มีวันจางหายแล้วนั้น ตอนนี้เขากำลังถูกทวงถามถึงสัญญาต่อการมีชีวิตอยู่อย่างทรนงที่แม่เคยสอนไว้ในขณะที่มีชีวิตอยู่


ถ้าเรย์จะเป็น "คนพิการ" ก็ไม่ใช่เพราะเขามองไม่เห็น แต่ทว่าเพราะ "จิตใจ" ที่อ่อนแอ ทดท้อต่อชีวิตตนเอง จนต้องยอมให้ "ใคร" หรือ "สิ่งใด" มาช่วยบรรเทาความหนักหนาของชะตากรรม ดังนั้น "ความพิการ" จะไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่เรายอมรับสิ่งนั้นมาเป็นตัวเรา ใช่การวิ่งหนี ที่ไม่มีวันหลุดพ้นได้จริง
อาจจะใช่ว่า ---ชะตากรรมไม่ใช่อุปสรรคหรือตัวถ่วงที่เราจะต้องคร่ำครวญต่อมัน และบางครั้งพรอันวิเศษก็อาจเกิดขึ้นจากความหนักหนาสาหัสเช่นนี้

เมื่อหนังจบ ฉันคิด ----แม่ของเรย์อาจพูดถูก มนุษย์เราต่างก็มีชะตากรรมแตกต่างกันไป ไม่ใช่เรื่องที่จะคิดว่าโชคดีหรือโชคร้าย เพราะนั่นคือการเปล่าประโยชน์
ขณะเดินออกจากโรงหนัง ฉันก็ตระหนักว่า ในชีวิตประจำวัน เราสามารถพบ "ความพิการ" ได้ในร่างกายที่สมบูรณ์แบบทั่ว ๆ ไป


@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@