Skip to main content

เออร์เนสโต้กับ "อนุทินบนหลังอาน"

คอลัมน์/ชุมชน

24 1/6


"ผู้ชายคนนี้เป็นใครกันนะ" ผมได้ยินหญิงสาวสองคน-เยอรมันคนนึง อีกคนเป็นคนไทย กำลังชี้รูปผู้ชายคนหนึ่งที่อยู่บนรถแดงที่วิ่งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่


ผู้ชายคนนั้นดูท่าทางเข้มแข็ง หนวดเครารุงรัง ผมเผ้ากระเซิง สวมหมวกแบเร่ต์ประดับดาวหนึ่งดวง


"เช กูวาราครับ" (ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะออกเสียงว่า "เกวารา" มากกว่า แต่ผมติดที่จะออกเสียงแบบนี้ไปเสียแล้ว) ผมตอบไปทั้งๆ ที่เธอทั้งคู่ไม่ได้ถามผมเลย


"แล้วเขาเป็นใครคะ" หนึ่งในสองคนนั้นถามผม


"อืมม์…เป็นนักปฏิวัติ Revolutionist มั้งครับ" ผมตอบเธอทั้งคู่


@#@#@#@#@


"ให้โลกเปลี่ยนแปลงคุณ แล้วคุณจะเปลี่ยนแปลงโลก" คำโปรยบนใบปิดหนัง The Motorcycle Diaries ทำให้ผมเริ่มสนใจว่ากว่าที่เช หรือเออร์เนสโต เกวาราจะกลายเป็น "เช" ในภาพของนักปฏิวัตินั้น มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงตัวเขาให้เป็นแบบนั้นกันแน่


วิธีแก้สงสัยก็คงเป็นการเข้าไปสัมผัสกับตาในโรงหนังด้วยตนเอง


หนังฉายภาพของเออร์เนสโต- ว่าที่บัณฑิตแพทย์จบใหม่วัย 20 ต้น ๆ ที่วางแผนกับอัลเบอร์โต กรานาโด-เพื่อนรุ่นพี่ในการท่องเที่ยวรอบลาตินอเมริกาที่เขารู้จักเพียงแต่ในแผนที่ด้วย "The Mighty One" มอเตอร์ไซค์บุโรทั่งที่พังแหล่มิพังแหล่


หนังค่อย ๆ บอกถึงเรื่องราวจากรายทางที่หล่อหลอมให้เขากลายเป็นนักปฏิวัติในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการได้พบปะคู่รักตกงานที่ต้องเดินร่อนเร่หางานทำกลางทะเลทราย ในขณะที่หนุ่ม ๆ ทั้งสองเพียงแค่ออกเดินทางท่องเที่ยว ซากอดีตความรุ่งเรืองของอาณาจักรอินคาที่ถูกทำลายโดยสเปน ("ชาวอินคามีภูมิความรู้เรื่องการผ่าตัดสมอง แต่พวกสเปนมีดินปืน") รวมถึงสภาพในนิคมโรคเรื้อนริมฝั่งอเมซอนที่ความเจ็บป่วยทำให้คนบางพวกถูกแม่น้ำกั้นให้แยกจากคนปกติ


เท่าที่พูดมา อาจทำให้นึกได้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังเครียด ๆ เรื่องหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วหนังเรื่องนี้เข้าข่าย "ดูเพลิน" เลยทีเดียว เพราะหนังเบรกอารมณ์ด้วยเพลงเพราะ ๆ ที่แทรกเข้ามาตลอดเรื่อง รวมถึงภาพในช่วงต้นเรื่องก็แสดงภาพความเป็นวัยรุ่นธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้เป็น "สัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติ" แบบที่เรารู้สึกกับเชในยุคสมัยต่อมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเขากับคนรัก หรือเรื่องที่นักเดินทางทั้งสองต้องหนีจากการถูกรุม "ตื้บ" เพราะดันไปเกี้ยวสาวที่มีเจ้าของเข้า แม้กระทั่งทริกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ด้วยการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ก็ตามที สิ่งเหล่านี้เป็น "มุข" ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูมีชีวิตชีวาตามวิสัยการเดินทางของหนุ่มวัยรุ่น


ตัวเออร์เนสโต้เองยังบอกว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องเล่าของวีรกรรมหาญกล้า แต่มันคือเรื่องของสองชีวิตที่โลดแล่นคู่ขนานกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ด้วยความปรารถนาคล้ายคลึงกัน และความฝันหนึ่งเดียวกัน"


ดูแล้วคิดถึง "ภาพ" ของบุคคลสำคัญของเราที่เราเห็นจนเจนตา เรามักจะเห็นแต่ภาพความเก่งกาจ ความฉลาดเฉลียว และความสมบูรณ์แบบอย่างไร้ข้อตำหนิ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันมีมนุษย์ที่ไหนเป็นแบบนั้นจริง ๆ บ้างล่ะ


ผมเชื่อว่าในมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะในช่วงวัยหนุ่มสาว น่าจะเป็นช่วงของการลองผิด-ลองถูก การตัดสินใจอะไรห่าม ๆ บ้า ๆ ก็คงมีอยู่ในช่วงวัยนั้น แต่ในช่วงเดียวกันนี่แหละ ที่มักจะเป็นช่วงแห่งการแสวงหาตัวตนของตนเอง…และในช่วงนี้แหละ ที่สามารถกำหนดว่าในอนาคต ชีวิตของเขา/เธอจะเป็นอย่างไร


@#@#@#@#@


ผมมองดูรูปเชในวัยหนุ่ม


ถ้าเราไม่รู้ว่าในเวลาต่อมาเขาจะกลายเป็นนักปฏิวัติผู้เป็นตำนาน ผมคงคิดว่าเขาเป็นชายหนุ่มเท่ห์ ๆ ท่าทางช่างคิดคนหนึ่ง แต่กระนั้น หลาย ๆ สิ่งในยามสายของชีวิตก็ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงไป


พูดไปแล้ว…ผมชักอยากจะรู้เสียแล้วว่าวัยหนุ่มของท่านปรีดี พนมยงค์, จิตร ภูมิศักดิ์, อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (และคนสำคัญอีกมากมายที่ผมยังนึกไม่ออกตอนนี้) ว่าเขาเหล่านี้มีชีวิตเป็นอย่างไร


ผมว่าชีวิตของท่านเหล่านั้นอาจจะสนุกไม่แพ้ของพี่เชของผมแน่ ๆ