Skip to main content

เมื่อดอกซากุระบาน :

คอลัมน์/ชุมชน

"เป็นตัวของตัวเอง"...จริง ๆ นะ

ผมได้ยินวลีที่ว่า "ระหว่างเม็ดน้ำตามีรอยยิ้ม" ครั้งแรกจากหนังสือ "ปฏิวัติเบา ๆ" ของคุณศิลา โคมฉาย ซึ่งผมคิดว่าวลีดังกล่าวคงใช้ได้กับช่วงปลายปีถึงช่วงสัปดาห์แรกของปีนี้


เพราะท่ามกลางความโศกเศร้าจากเหตุการณ์อภิมหาวาตภัยที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ พื้นที่ในโลก เราก็ได้เห็นน้ำจิตน้ำใจของคนทั่วโลกที่ต่างหลั่งไหลเข้ามาสู่ผู้ประสบภัย จนทำให้เราได้เห็นภาพที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ เช่น การร่วมจัดรายการวิทยุระหว่างบริษัทที่ไม่มีทางจะร่วมงานกันได้ในเวลาปกติอย่างสกายไฮ เนตเวิร์กและเอไทม์ มีเดีย รวมถึงบริษัทผลิตรายการวิทยุต่าง ๆ ในรายการ "วิทยุรวมกันเฉพาะกิจ" เป็นอาทิ รวมถึงความร่วมมือร่วมใจของคนจำนวนมากในความพยายามยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย


ผมคงไม่พูดว่า "คนไทยไม่ทิ้งกัน" เพราะเราก็ไม่ได้ช่วยเฉพาะคนไทย (หรือพูดกันอีกแบบ...ตอนที่เราช่วยเหลือคนในเหตุการณ์ เราก็ไม่ได้สนใจซะหน่อยว่าเขาเป็นใคร) แต่ผมขอพูดว่า "ไม่ว่าโลกจะดูเลวร้ายร้อนแล้งขนาดไหน มนุษย์ก็ยังคงเป็นร่มเงาแก่หัวใจให้กันและกัน" แทนจะดีกว่า


เอาละ เข้าเรื่องของ "บ้านบรรทัดห้าเส้น" ตอนนี้ดีกว่าครับ


ผมเชื่อว่าเราต่างก็บอบช้ำหัวใจกันทั่วหน้าสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และก็เชื่ออีกเช่นกันว่าเราต่างต้องการการเยียวยาทางจิตใจ เพื่อให้เราไม่สลดหดหู่กับชีวิตเกินไปนัก แต่ในขณะเดียวกันถ้าจะให้ถึงขนาดเฮฮาบ้าบอกันเลยก็กระไรอยู่


ดังนั้นใน "บ้านบรรทัดห้าเส้น" คราวนี้จะแนะนำอัลบั้มดี ๆ ฟังเพราะ ๆ สบาย ๆ (ถ้าใช้ศัพท์ "แนว ๆ" หน่อยก็ต้องใช้คำว่า "ชิลด์ ๆ") ให้ผู้อ่านได้ลองไปหาฟังกัน


อัลบั้มที่ว่าคือ "เมื่อดอกซากุระบาน" ของคุณสุภัทรา อินทรภักดีครับชื่อของคุณสุภัทราอาจจะเป็นชื่อที่เกือบจะแปลกหน้าสำหรับนักฟังเพลงทั่วไป แต่สำหรับนักฟังเพลงระดับที่สามารถกินเพลงแทนข้าวได้คงจะรู้จักเธอในฐานะของเจ้าของเสียงสวย ๆ ในผลงานหลาย ๆ ชิ้นของอาจารย์ดนู ฮันตระกูลและวง "ไหมไทย" หรือถ้าใครจำอัลบั้ม "คนอื่นอีกมากมาย" ที่เป็นการนำเพลงของเฉลียงหลาย ๆ เพลงมาทำใหม่ได้ ก็คงจะเคยได้ยินเสียงของคุณสุภัทราในเพลง "นิทานหิ่งห้อย" ที่สามารถเปลี่ยนเพลงๆ หนึ่งที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้วให้กลายเป็นเทพนิยายอันแสนงดงามได้


ในอัลบั้ม "เมื่อดอกซากุระบาน" เองก็เป็นการร่วมงานกับอาจารย์ดนู ฮันตระกูลอีกเช่นกัน นอกจากนี้นักดนตรีที่ร่วมงานในอัลบั้มชุดนี้ก็เป็นนักดนตรีที่ร่วมงานกับอาจารย์ดนูบ่อยๆ อย่าง นรอรรถ จันทร์กล่ำ (ไวโอลิน) และจุน โกมัตสึ (เปียโน)


พูดถึงอาจารย์ดนูแล้ว ก็ต้องขอยกนิ้วในความมั่นคงในแนวทางการสร้างงานที่มีลักษณะเฉพาะของท่าน เหมือนกับที่ผมยกย่องตระกูล "โตสง่า" ที่ยึดมั่นแนวทางในการพัฒนาดนตรีไทยไปสู่สากล ซึ่งทั้งสองตัวอย่างเป็น "ความเป็นตัวของตัวเอง" ที่มั่นคงเหลือเกิน


ซึ่งก็ไม่รู้ว่าศิลปินไทยตามค่ายใหญ่ ๆ เขามี "ความเป็นตัวของตัวเอง" แบบไหนกัน...ก็เห็นออกอัลบั้มทีไรก็บอกว่าเป็นตัวของตัวเอง แต่ทำมั้ย...ทำไมพอศิลปินเหล่านั้นออกอัลบั้มมาอีก ก็บอกว่า "เป็นตัวของตัวเอง"...แต่ไหงมันไม่เหมือนของเดิมฟะ :


สำหรับตัวงานก็ยังคงเป็นการพาผู้ฟังย้อนกลับไปยังบรรยากาศของ "หัสดนตรี" ในยุคสมัยที่เวทีลีลาศสวนอัมพรยังคลาคล่ำไปด้วยผู้คน และวงดนตรีสุนทราภรณ์ยังได้รับความนิยม ด้วยเครื่องดนตรีอะคูสติกน้อยชิ้น (อันมีเปียโนและไวโอลินเป็นหลัก) ที่ทำหน้าที่เหมือนผ้ากำมะหยี่เนื้อดีที่เป็นฐานให้กับแหวนเพชรน้ำงามได้ส่องประกาย ซึ่งนอกจากคุณสุภัทราจะทำหน้าที่ร้องนำแล้ว เธอยังเล่นกีตาร์ในเพลงบรรเลง 2 เพลงในอัลบั้ม ("บ้านรักเรือนเรา" และ "แสนสุขสม" ที่เคยอยู่ในเพลงประกอบภาพยนตร์ "กาลครั้งหนึ่ง...เมื่อเช้านี้")


ในส่วนของเพลงในอัลบั้ม ก็เป็นส่วนผสมระหว่างเพลงจากงานเก่า ๆ ของวงไหมไทยและสุนทราภรณ์ บวกกับเพลงใหม่ (ซึ่งหนึ่งในเพลงใหม่ก็มี "เมื่อดอกซากุระบาน" ซึ่งเป็นชื่ออัลบั้มด้วย)


แต่มีเพลงที่น่าสนใจในความคิดของผมอยู่สองเพลง นั่นคือ "ในโบสถ์ใต้แสงจันทร์" และ "ซื้อฝัน"


ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะสองเพลงนี้เป็นฝีปากกาของสองนักแต่งเพลงฝีมือดีผู้ล่วงลับ นั่นคือคุณเขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์และคุณจรัล มโนเพชร อีกทั้งยังเป็นงานที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่ในวงกว้างนักทั้งสองเพลง (เพลงแรกเป็นงานในรูปแบบเพลงเพื่อศาสนาคริสต์ ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเคยถูกเผยแพร่ในแวงวงคริสต์ชนมาก่อน ส่วนเพลงหลังอยู่ในอัลบั้ม "ลำนำแห่งขุนเขา" ที่เป็นงานที่คุณจรัลทำร่วมกับวงไหมไทยเมื่อสักสิบกว่าปีมาแล้ว)


ซึ่งทั้งสองเพลงสามารถเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับ "นักเรียงคำใส่ทำนอง" รุ่นหลัง ๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าพูดจริง ๆ ก็ต้องพูดว่าทั้งอัลบั้มเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับวงการเพลงไทยว่า การทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดโดยไม่ไหลตามกระแส สามารถสร้างงานที่ทั้ง "ดี" และ "เพราะ" ได้


คงเหมือนกับในช่วงเทศกาลกินเจ ที่เรามักจะเห็นร้านอาหารธรรมดา ๆ หันมาขายอาหารเจกันเป็นทิวแถว ในขณะที่บางร้านก็ขายอาหารเจอยู่ตามปกติอยู่แล้ว


คงเดาได้นะครับ อาหารเจร้านไหนจะอร่อยกว่า