Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ (1) นิ้วมือที่ไม่เท่ากัน

ประโยคหนึ่งที่ผมได้ยินในที่ประชุมต่างกรรมต่างวาระตลอดชีวิตที่ผ่านมาคือ
"นิ้วมือคนเรายังยาวสั้นไม่เท่ากัน จะให้เท่าเทียมกันทุกเรื่องได้อย่างไร"


ไม่เถียงว่าไม่จริง แต่แย่
เป็นคำเปรียบเปรยที่ไม่เกี่ยวกันเลย ประโยคแรกพูดเรื่องนิ้วซึ่งธรรมชาติให้มา ประโยคที่สองพูดเรื่องสังคมซึ่งเป็นมนุษย์กำหนด ธรรมชาติกับมนุษย์กำหนดไม่เกี่ยวกันเลย


ถึงฟ้าจะลิขิต แต่มนุษย์ก็ควรลิขิตตนเองบางส่วน จริงที่ว่ายากนักหนาที่จะทำให้สังคมเท่าเทียม แต่มิใช่จะยอมงอมืองอเท้าไม่ช่วยกันแก้ไข ยิ่งมิใช่งอมืองอเท้าแล้วยกข้ออ้างที่ไม่เกี่ยวอะไรกันเลยมาอ้าง ยังไม่นับว่าเรื่องสังคมเท่าเทียมมิใช่เรื่องอุดมคติ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้และควรจะทำได้ อย่างน้อยก็ในเรื่องพื้นฐานคืออาหาร น้ำ บ้าน และยา


หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกี่ยวข้องกับเรื่องยา รวมทั้งการรักษาด้วยวิธีอื่นใด เมื่อครั้งที่สังคมยังไม่ซับซ้อนมาก การแพทย์ก็เป็นเรื่องไม่ซับซ้อนด้วย "การแพทย์มีไว้เพื่อรักษาผู้ป่วย" ง่าย ๆ เพียงเท่านี้ เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น "การแพทย์มีไว้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีเงิน"

ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมีใครยินยอมนะครับ หลายคนเชื่อว่านิ้วมือยาวไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นการแพทย์ให้บริการแก่ผู้มีเงินจ่ายดีหน่อย แล้วให้สังคมสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ น่าจะเม้กเซ้นซ์และโอเคได้ เช่น รักษาฟรีแก่คนยากจนไปเลย หรือขายบัตรสุขภาพราคาถูกมหาถูกแก่คนยากจนไปเลย หรือระดมทุนบริจาคเงินได้ก้อนหนึ่งเพื่อรักษาผู้ยากไร้ เพียงเท่านี้ก็น่าจะพอ


ความจริงคือไม่พอ เพราะภายใต้นิยามของคนจน คนยากจน คนยากไร้ บัตรสงเคราะห์ บัตรสุขภาพ เงินบริจาค หรือการสังคมสงเคราะห์ใด ๆ คนเหล่านี้จะได้รับบริการทางการแพทย์ชั้นสองเสมอ


นี่คือความไม่เท่าเทียมของหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ไม่ควรมีใครยินยอมหรือแม้กระทั่งเห็นดีเห็นงามนะครับ เพราะเรื่องนี้โยงไปถึงสัจพจน์อีกข้อหนึ่งคือ "ถุงเงินมีจำกัด" เมื่อถุงเงินมีจำกัด ถ้าเปิดโอกาสให้กลุ่มหนึ่งตักตวงก่อน จะเหลืออะไรมาสังคมสงเคราะห์ล่ะครับ


ปัญหาคือคนยากจนเองก็พอใจการสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับ มิได้ฉุกคิดว่าไม่จำเป็นที่ตนเองต้องรอรับบริการชั้นสองตลอดมาและตลอดไป แท้จริงแล้วถุงเงินที่มีจำกัดนั้น หากแจกจ่ายให้เหมาะสมสามารถรักษา และเสริมสร้างสุขภาพดีให้แก่ทุกคนในสังคมได้