Skip to main content

อันเนื่องมาจากความหลากหลายทางชีวภาพ

คอลัมน์/ชุมชน

หลังจากการสอบปลายภาคอันโหดร้ายผ่านพ้นไป ฉันหยิบเอา Conan the movie ตอนใหม่มาดู (หลังจากต้องอดทนอดกลั้นอย่างหนักต่อแรงยั่วยุของน้องทั้งสองที่สอบเสร็จและปิดเทอมไปก่อนแล้ว)


ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ภาคนี้ใช้ชื่อว่า "The Phantom of the Baker Street" เปิดเรื่องในอเมริกาด้วยการฆ่าตัวตายของฮิโรกิ เด็กชายอัจฉริยะชาวญี่ปุ่นวัย 10 ปี หลังจากเขาสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ "โนอาร์ อาร์ค" ซึ่งเป็นสมองกลที่พัฒนาสมองเร็วกว่าคนปกติถึง 5 เท่าสำเร็จ


2 ปีต่อมา เด็ก ๆ ลูกหลานของผู้มีอันจะกินทั้งหลายได้รับเลือกให้ประเดิมเล่นเกมซิมูเลเตอร์ "โคคูน" เป็นกลุ่มแรก แต่แล้วก็เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น


โคนันซึ่งเข้าไปในเกมซิมูเลเตอร์ "โคคูน" เพื่อหาเบาะแสชี้ตัวฆาตกร กลับกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง เขากับเด็ก ๆ อีก 49 คนตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ "โนอาร์ อาร์ค" ที่พัฒนาตัวเองจนอายุเท่าเด็กชายผู้สร้างพอดี


ผู้เล่นจะต้องเคลียร์เกม "โคคูน" ให้ได้ ถ้ามีใครสามารถทำได้แม้แต่คนเดียว เด็ก ๆ ทุกคนก็จะได้กลับมาที่โลกจริงตามเดิม แต่หากทุกคนเกมโอเวอร์ เจ้าโปรแกรมคอมฯ จะส่งกระแสไฟฟ้าพิเศษไปทำลายเซลล์สมองของพวกเขาจนตาย


ทีแรกที่อ่านพล็อตเรื่องคิดว่าจะคล้ายกับ Battle Royal เสียอีก แต่ปรากฏว่าไม่เหมือนกัน เพราะสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องทำไม่ใช่การฆ่าแกงกันเอง แต่เป็นการเคลียร์เกมในด่านที่ตัวเองเลือกให้สำเร็จ


โปรแกรมคอมฯ "โนอาร์ อาร์ค" หรืออีกนัยหนึ่งคือ ตัวแทนของเด็กชายอัจฉริยะ ผู้สร้างมันขึ้นมา ให้เหตุผลว่า การเล่นเกมนี้จะเป็นการรีเซ็ตประเทศญี่ปุ่นเสียใหม่ เนื่องจากหากปล่อยให้ลูกของนักการเมืองสกปรกโตไป พวกเขาก็จะกลายเป็นนักการเมืองสกปรกอย่างพ่อ โนอาร์ อาร์คก็เลยจะตัดสายสัมพันธ์นั้นทิ้งเสีย


อาจดูว่าเกมนี้โหดร้าย แต่ฉันว่า อันที่จริงเขาคงอยากดัดนิสัยเด็ก ๆ พวกนั้นให้ลองพยายามสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเองมากกว่าที่จะพึ่งพาเส้นสายของพ่อแม่ ทั้งนี้ ถ้าสังเกตดี ๆ แล้ว จะเห็นว่าโนอาร์ อาร์คแอบบอกใบ้หลาย ๆ อย่าง เพื่อช่วยเหลือพวกเด็ก ๆ จริง ๆ แล้วการสร้างโนอาร์ อาร์คขึ้นมาอาจเป็นการที่ฮิโรกิสร้างตัวแทนของตัวเอง เพื่อมาร่วมเล่นเกมกับเด็กคนอื่น ๆ เดิมนั้น ฮิโรกิอยู่ที่ญี่ปุ่น แต่เนื่องจากเขาสนใจคอมพิวเตอร์มากกว่าวิชาพละเกินกว่าที่ผู้ใหญ่อย่างครูจะเข้าใจได้จึงถูกมองว่าผิดปกติ เมื่อไม่สามารถจะอยู่ในญี่ปุ่นต่อไปได้ เขาจึงต้องย้ายไปอยู่กับแม่ที่อเมริกา และถูกมอบหมายให้ทำงานพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างอ้างว้างและโดดเดี่ยว


ญี่ปุ่นก็คงเหมือนอีกหลายประเทศที่ยังไม่สามารถทลายกำแพงการศึกษาที่จำกัดให้เด็กอยู่แต่ในกรอบลงได้
เด็ก ๆ ถูกบังคับให้เรียนเหมือนกัน เล่นเหมือนกัน จน "เป็น" เหมือนกัน ราวกับสินค้าที่ผลิตออกมาจากโรงงานเดียวกัน "ผู้ใหญ่"คงลืมไปว่า คนเราไม่เหมือนกัน
แม้แต่ฝาแฝดที่ออกมาจากไข่ใบเดียวกัน ก็ยังมีบางส่วนเสี้ยวที่แตกต่าง แล้วนับประสาอะไรกับคนที่เกิดมาจากไข่คนละใบ อสุจิคนละตัว


การยอมรับในเอกลักษณ์ของคนดูจะสำคัญที่สุด หาก "ผู้ใหญ่" ยอมรับเสียแต่ทีแรกว่า ฮิโรกิมีความสามารถจนถึงขั้นเป็นอัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์แล้วยอมปล่อยให้เขาได้ทำ ได้เล่น อย่างที่เขาต้องการ เว้นที่ไว้ให้เขาได้ยืนบ้าง
เขาก็คงไม่ตาย…


ยังดีนะ ที่เรื่องนี้เป็นการ์ตูน

หมายเหตุ ด่านที่โคนันและเพื่อน ๆ เลือก คือ เมืองลอนดอน ในปี 1888 ถ้าอยากสัมผัสบรรยากาศยุควิคตอเรียนล่ะก็ลองหามาดูแล้วกัน นอกจากเรื่องราวของอังกฤษใน ค.ศ.ที่ 19 แล้ว จะได้พบกับเชอร์ล็อก โฮล์ม สุดยอดนักสืบแห่งเบเกอร์สตรีทในภาคนี้ด้วย