Skip to main content

พุทธป๊อป (1) : เรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธา

คอลัมน์/ชุมชน

ในสมัยที่ผมเรียนประถมอยู่ที่โรงเรียนคริสเตียนแห่งหนึ่งย่านบางรัก ในทุกเช้าวันจันทร์จะมีโปรแกรมพิเศษอยู่อันหนึ่งที่ผมรอคอย นั่นก็คือการเข้าห้องประชุมร่วมกันเพื่ออธิษฐานและฟังเรื่องราวของพระเจ้า


สิ่งที่ทำให้ผมรอคอยเวลานี้ นอกจากจะเป็นการที่ผมได้เข้าห้องเรียนช้าลงแล้ว (ซึ่งผมและคนส่วนใหญ่ก็คงไม่ค่อยชอบห้องเรียนเหมือนกันแหละน่า) การได้ร้องและฟังเพลงสรรเสริญพระเจ้าก็เป็นเรื่องสนุกไม่เบา (ซึ่งผมก็เชื่อว่ามันคงเป็นรากฐานสู่การชอบฟังเพลงของผมในปัจจุบันด้วย)


พูดถึงตรงนี้ผมคงต้องเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังว่า จริง ๆ แล้วเพลงสรรเสริญพระเจ้านั้นไม่ได้เป็นไปในลักษณะของบทสวดอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่เพลงคริสเตียนหลาย ๆ เพลงก็มาในรูปแบบของเพลง Pop ธรรมดานี่แหละ หากแต่ใส่เนื้อหาทางศาสนาลงไปด้วย (ศิลปินในสาย Pop หลายท่านก็เคยทำเพลงในแบบเพลงคริสเตียนออกว่างจำหน่ายในวงเล็ก ๆ มาแล้ว)


แต่เมื่อเรากลับมามองการนำเสนอเนื้อหาทางศาสนาผ่านทางดนตรีในศาสนาพุทธ ซึ่งหลายคนถือว่าเป็นศาสนาประจำชาติ (จริง ๆ แล้วผมไม่อยากให้เรียกแบบนั้นเลย...มันดูแสดงความเป็นเจ้าของประเทศแบบใจแคบพิกล) ก็พบว่าแทบไม่มีการสร้างเพลงในเนื้อหาแบบที่ว่าเลย (ที่เคยได้ยินบ้างก็เป็นจำพวกบทสวดใส่ทำนอง ซึ่งฟังแล้วมันพิกล ๆ อยู่)


ด้วยเหตุนี้ "บ้านบรรทัดห้าเส้น" ในตอนนี้และตอนต่อไป ผมจะหยิบยกเอา 2 อัลบั้ม ที่นำเนื้อหาทางศาสนามาอยู่ในเครื่องแบบของดนตรีป๊อปมาพูดถึง ซึ่งผมขอเริ่มด้วยการแนะนำกลุ่มดนตรีกลุ่มหนึ่งที่ถ้าใครติดตามความเคลื่อนไหวของวงการดนตรีไทยที่ค่อนไปทางนอกกระแสหน่อย ๆ คงจะเคยได้ยินชื่ออยู่บ้าง



งานที่ผมพูดในตอนนี้คืออัลบั้ม "เกาะบันไดวัด" ของกลุ่ม "เรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธา" ครับ


ที่ผมเรียกพวกเขาว่าเป็น "กลุ่มดนตรี" แทนที่จะเป็น "วงดนตรี" ก็เพราะว่างานนี้มีลักษณะของการเป็นกลุ่ม "เฉพาะกิจ" ของนักดนตรีในสายนอกกระแสจากหลาย ๆ วงเช่น always, กล้วยไทย, ไข่เดือน, Studog ฯลฯ ที่ร่วมกันทำเพลงจากฝีมือการแต่งของคุณพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา-นักแต่งเพลงสมัครเล่นที่เริ่มแต่งเพลงแนวพุทธสะสมไว้ตั้งแต่เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน (สามารถอ่านรายละเอียดและฟังเพลงตัวอย่างได้ในเว็บไซต์ http://www.rianchern.com/ ครับ)


หากพูดถึงรูปแบบการนำเสนอ ต้องนับว่าอัลบั้มนี้เป็นงานแนวพุทธที่ "เดิร์น" ที่สุดชิ้นนึง ตั้งแต่ปกซีดีที่ออกแบบเป็นรูปปิ่นโตที่ต้องเปิดทีละชั้น ๆ ถึงจะเจอแผ่นที่อยู่ล่างสุด (ที่ตัวแผ่นสกรีนเป็นรูปข้าวสวยในปิ่นโตอีกแน่ะ) และเมื่อฟังเนื้อในก็พบว่าในส่วนของดนตรีก็ "เดิร์น" ไม่แพ้กัน เพราะอัลบั้มนี้ฉีกความคิดที่เชื่อว่างานเกี่ยวกับธรรมะจะต้องออกมานิ่ง ๆ เอื่อย ๆ ชวนหลับ เพราะงานนี้ผสมดนตรีหลากหลายแนวลงไปในความฟังง่ายแบบป๊อป ไม่ว่าจะเป็นร็อค แจ๊ส ฟังค์ หรือแม้กระทั่งฮิป-ฮอป (ถ้าคุณไม่เชื่อว่าสามารถมีท่อนแร็ปในเพลงธรรมะได้ ก็ลองไปฟังเพลง "หลวงปู่ดุล" ซึ่งอยู่ใน track ที่ 6 ของอัลบั้มได้ครับ)


ในด้านของเนื้อหาสาระนั้นทำให้เห็นได้ว่าคุณพิสุทธิ์-ผู้แต่งเพลงในอัลบั้มทั้งหมดมีความสนใจในศาสนาอย่างมาก จนทำให้สามารถนำประวัติของเกจิอาจารย์ต่าง ๆ มาเล่าเป็นเพลง รวมถึงยังสามารถ "ย่อย" เอาหลักธรรมต่าง ๆ ให้สามารถเข้าใจได้ง่าย (ดูจากเพลงอย่าง "เรื่องนิดเดียว" หรือ "มรณะสติ" ที่เคยขึ้นอันดับสูงใน chart ของ Fat Radio มาแล้ว)



เมื่อบวกกับการทำดนตรีและเรียบเรียงที่ไม่มาก- น้อยเกินไปและทันสมัยในที (ตรงนี้สังเกตได้จากเพลง "เรื่องนิดเดียว" ที่ในอัลบั้มได้ใส่ "ฉบับดั้งเดิม" ที่ยังไม่ผ่านการเรียบเรียงเอาไว้...จะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นมากทีเดียว) ก็ทำให้อัลบั้มนี้กลายเป็นงานในระดับ "ดี" เกือบ ๆ ถึงขั้น "ดีมาก" ในทันที ถ้าไม่ติดกับบางเพลงอย่าง "ธรรมทัวร์" ที่ดูเหมือนไม่ได้เล่าอะไรนอกจากเอาชื่อของพระเกจิอาจารย์มาเรียงต่อ ๆ กัน ซึ่งจริง ๆ แล้วใน booklet เล่มเล็ก ๆ ที่อยู่ในปกซีดีก็เล่าถึงประวัติโดยย่อของพระอาจารย์เหล่านี้อยู่ แต่กับสภาพของคนฟังเพลงส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยอ่านปกพร้อมๆ กับฟังเพลงก็ทำให้ "สาร" ต่าง ๆ ที่ต้องการสื่อถูกละเลยไป



แต่โดยสรุปแล้ว ผมคงพูดได้ว่างานชิ้นนี้เป็นการเสนอเรื่องราวทางธรรมะที่มีชั้นเชิงที่สุดชิ้นหนึ่งทีเดียว


@#@#@#@#@


ในตอนต่อไป ผมจะพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปฟังงานเพลงธรรมะ ที่ถูกผลิตโดยกลุ่ม "บัตเตอร์ฟลาย" - กลุ่มคนดนตรีที่เยี่ยมที่สุดกลุ่มหนึ่งเท่าที่วงการเพลงไทยสากลเคยมีมา


โปรดติดตามตอนต่อไปครับ...