Skip to main content

คนเมืองกับเหมืองแร่

คอลัมน์/ชุมชน

จันทน์กระพ้อ


นับเป็นหนังเรื่องแรกก็ว่าได้ ที่ฉันตีตั๋วเข้าชมในวันแรกของการเข้าฉาย สำหรับ " มหา' ลัยเหมืองแร่" และก็เป็นหนังเรื่องแรกอีกเช่นกันที่ตราตรึงฉันให้นั่งหลังติดเบาะจนโรงหนังทั้งโรงเปิดไฟสว่างจ้าถึงได้ลุกจากเก้าอี้และเดินออกจากโรงหนังด้วยความรู้สึก (ที่ไม่ได้ต้องการเชียร์หนังเรื่องนี้แต่อย่างใด) ว่า หนังไทยแบบนี้แหละที่รอคอยมาตลอดทั้งปี



" มหา' ลัยเหมืองแร่" เล่าถึงเด็กหนุ่มจากรั้วจามจุรีที่สิ้นหวัง เพราะถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้พ่อส่งเขาไปใช้ชีวิตในเหมืองแร่ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา โดยที่เขาไม่รู้เลยว่า " สถานดัดสันดาน" แห่งนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเรียนรู้ชีวิตจริงที่หาไม่ได้ในตำราราคาแพงเล่มไหน และไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยเงินตรา แต่ต้องแลกมาด้วยเวลาและหัวใจอันหนุ่มแน่นของเขาล้วน ๆ


ในความคิดของฉัน หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นหนังที่ผู้ชมต่างก็รู้คร่าว ๆ แล้วว่า ผู้สร้างต้องการส่ง message อะไรมายังผู้อ่าน แต่ที่น่าแปลกก็คือ ถึงแม้จะเป็นหนังสูตร (ในความรู้สึกของฉัน) ก็เป็นหนังสูตรที่ดูสนุก และผู้ชมไม่ได้รู้สึกว่า กำลังมีเสียงเบา ๆ ของผู้สร้างที่ต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างผ่านมาทางภาพ บทพูด รวมถึงกิริยาท่าทางต่าง ๆ ของตัวละคร ซึ่งตรงจุดนี้น่าจะให้เครดิตกับ จิระ มะลิกุล ผู้กำกับมือทองของไทยอีกคนหนึ่ง


ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้น่าจะอยู่ตรง ความแตกต่างทางการนึกคิด การใช้ชีวิต ตลอดจนการตัดสินใจเลือกทางเดินของคนเหมืองแต่ละคน (รวมถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์ หลังการใช้ชีวิตในเหมือนแร่มาสักระยะ) กล่าวคือ หากคิดอย่างคร่าว ๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่จำเจ ตื่นมาก็เห็นแต่เรือขุดแร่ นอนก็นอนสูดกลิ่นแร่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผู้คนในเหมืองก็น่าจะมีการใช้ชีวิตในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน



แต่หลังจากดูหนังจบ " มหา' ลัยเหมืองแร่" บอกกับฉันว่า ไม่ว่าคนเราจะอยู่ที่ไหน อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด หรือกลมกลืนเข้ากับผู้คนในสังคมนั้นได้มากมายเพียงไหน แต่ความเป็นตัวตนของแต่ละคนโดยลึก ๆ แล้วน่าจะยังคงอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นยังต้องการพบเจอและยังเชื่อมั่นในความเป็นตัวตนของเขาอยู่อีกหรือไม่


อย่างเช่น " พี่จอน" ตัวละครที่ " แมน" มากในหนังก็เลือกที่จะเชื่อมั่นในความคิดอันหล่อหลอมมาจากความเป็นตัวตนของเขาที่จะไม่ยอมก้มหัวให้กับคนที่ไม่รู้งาน ถึงแม้เขาจะต้องลาออกไปจากเหมืองก็ตาม ซึ่งตรงนี้อาจินต์ให้คำนิยามว่า เป็น การใช้ชีวิตที่ไม่กลัวการนับหนึ่ง


สิ่งที่ฉันเรียนรู้ได้จาก " มหา' ลัยเหมืองแร่" อีกอย่างก็คือ ความเชื่อที่ว่า คนทุกคนต่างก็มีบางสิ่งให้ค้นหา ซึ่งสิ่งที่ค้นเจอในแต่ละคนนั้น บางสิ่งก็เป็นประโยชน์หากนำมาปรับใช้กับชีวิต และบางสิ่งก็ควรศึกษาไว้เป็นตัวอย่าง แต่ไม่ควรนำมาปรับใช้กับชีวิตอย่างเด็ดขาด


ก็ดูอย่างไอ้ไข่ ลูกมือของอาจินต์ ยังสอนให้วิชาประชาธิปไตยให้กับเขาอย่างถูกหลักที่สุดโดยไม่มีคำว่าน้ำใจมาเกี่ยวข้องให้วุ่นวาย


หรือ " นายฝรั่ง" เจ้าของเหมืองที่เป็นเสมือนครูสอนวิชา ถนอมน้ำใจคน ให้กับอาจินต์ (ซึ่งวิชานี้ ต่อให้อยากเรียนแทบตายก็ไม่มี มหา' ลัยไหนในเมืองไทยเปิดให้ลงทะเบียน)


มาถึงบรรทัดนี้คงไม่มีอะไรมากมายไปกว่า ความตั้งใจที่จะบอกกับท่านผู้อ่านว่า " มหา' ลัยเหมืองแร่" ผลงานสร้างสรรค์ที่ให้ภาพและกลิ่นของเหมืองแร่ได้ในระดับที่น่าพอใจ ยังรอให้ใคร ๆ ที่บอกตัวเองอยู่เสมอว่า อยากดูหนังไทยที่สนุกและดีไปสัมผัสได้ด้วยตัวเอง


ป.ล. อย่าหาว่าเขียนเชียร์ เพราะฉันไม่ได้เบี้ยได้แบงค์จากกลุ่มผู้สร้างแต่อย่างใด