มาร์กอส : รักนี้ที่ไม่เคยเห็นหน้า
คอลัมน์/ชุมชน
ระเบียงโมกข์
คงไม่ใช่เรื่องแปลก
หากเราจะหลงรักใครสักคน
แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องธรรมดาเกินไป หากคนที่เราหลงรัก เป็นเพียงคนที่เรารู้จักผ่านตัวหนังสือ
ฉันรู้จัก "เขา" จาก pocket book ที่แถมมากับ a day weekly แม้จะลืมไปแล้วว่าฉบับที่เท่าไร แต่ก็จำหน้าปกได้อย่างแม่นยำ เพราะเป็นรูป "เขา" ที่พรางใบหน้าด้วยหน้ากากสกีสีดำ ด้านล่างมีภาษาอังกฤษสีขาวตัวเล็ก ๆ เขียนว่า "Zapatista"
หลายคนคงเดาได้ว่า ฉันกำลังพูดถึง "มาร์กอส" รองผู้บัญชาการแห่งกองทัพซาปาติสตา กองทัพที่มีเป้าหมายที่จะปลดปล่อยเม็กซิโกให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจแบบที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจนลง ๆ ในขณะที่มีคนเพียงไม่กี่หยิบมือร่ำรวยขึ้น
ซ้ำยังแบ่งปันความร่ำรวยที่ได้จากการเอารัดเอาเปรียบเพื่อนร่วมชาติไปให้คนชาติอื่น นั่นเป็นเหตุผลเพียงพอที่มาร์กอส จะบอกว่า ya basta (พอกันที) สำหรับความอยุติธรรมที่ประชาชนเจ้าของประเทศได้รับมาตลอดหลายสิบปี
กองทัพซาปาติสตาจึงทำการปฏิวัติเม็กซิโกเมื่อวันที่ 1 ม.ค.1994 วันที่สัญญา "ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ" หรือนาฟตา มีผลบังคับใช้เป็นวันแรก
แรกเริ่มเดิมที ฉันรู้สึกทึ่ง ที่กองทัพของเขาซึ่งมีกำลังพลทั้งหญิงและชายเพียงไม่กี่พันและไม่มีอาวุธที่ทันสมัยจะสามารถสั่นคลอนอำนาจรัฐได้
ยิ่งรู้สึกอัศจรรย์ เมื่อประชาชนชาวเม็กซิโกยอมเสี่ยงชีวิตเป็น "กำแพงมนุษย์" ป้องกันไม่ให้เขาถูกลอบสังหารยามที่ต้องเดินทางมาเจรจากับประธานาธิบดี การ์ลอส ซินาส
ถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดว่าฉันหลงรักเพราะความเป็นผู้นำอันกล้าหาญหรือไม่ก็หน้าตาอันหล่อเหลาของเขาเป็นแน่ แต่ฉันอยากจะบอกว่า ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง
"มาร์กอส" ไม่เคยบอกว่าเขาเองเป็นผู้นำแห่งกองทัพซาปาติสตา คนทั่วโลกต่างหากที่ยกตำแหน่งนี้ให้เขา
ส่วนเรื่องหน้าตาอันหล่อเหลา อันนี้ก็ต้องขอบอกว่า ไม่มีใครเคยเห็นใบหน้าที่แท้จริงของเขาหรอก เพราะทุกครั้งที่เขาปรากฏตัวหรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน มาร์กอสจะอำพรางใบหน้าด้วยหน้ากากสกีสีดำตลอดเวลา
คิดดูแล้ว ฉันน่าจะรักเพราะถ้อยคำที่เขาพูดมากกว่า โดยเฉพาะประโยคที่ว่า
"everything for everyone, nothing for us" เพราะประโยคนี้ที่ทำให้ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่หลายรอบ ทั้งที่ปกติต่อให้ชอบหนังสือเล่มนั้นมากแค่ไหนก็มักจะอ่านได้ไม่เกินสองรอบ
ความจริงฉันก็เคยได้ยินประโยคนี้ ยิ่งช่วงใกล้เลือกตั้งก็จะได้ยินบ่อยมาก แต่ไม่รู้ทำไมพอหลังเลือกตั้งประโยคที่ว่ามันถึงกลับหัวกลับหางเป็น "everything for us, nothing for everyone" ไปเสียได้
สำหรับ "มาร์กอส" ประโยคดังกล่าวยังคงความศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ 10 ปีที่ผ่านมาเขาได้พิสูจน์ให้ชาวโลกเห็นว่า เขาทำตามที่พูดไว้จริง ๆ
มาร์กอสทำให้รัฐเชียปาส รัฐที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งของเม็กซิโกได้ปกครองตนเองและเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เราไม่ค่อยได้เห็นว่าคณะปฏิวัติที่ไหนเขาปกครองกัน
พื้นที่ส่วนหนึ่งของรัฐเชียปาสที่ได้ปกครองตนเองนั้นมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบฉันทามติ ไม่ใช่แบบประชามติอย่างที่หลายประเทศที่ได้ชื่อว่ามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยเขาทำกัน
หมายความว่า ก่อนที่จะลงประชามติเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พวกเขาจะต้องอภิปรายแสดงความคิดเห็น พูดถึงข้อดีข้อเสียของทางออกที่จะใช้แก้ปัญหานั้นอย่างถึงที่สุดก่อนที่จะลงมติ พวกเขาเชื่อว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด
ด้วยประการฉะนี้ ฉันจึงหลงรักเขา เพราะเขาทำให้ฉันฉุกคิดได้ว่า บางทีไอ้เรื่องวุ่นวายที่สังคมของฉันกำลังประสบอยู่มันอาจจะมีที่มาจากประชาธิปไตยแบบประชามติก็ได้