Skip to main content

พุทธป๊อบ (จบ) : เมื่อตะวันเรือง

คอลัมน์/ชุมชน

เอาละครับ หลังจากที่ผมหายหน้าหายตาไปจาก "บ้านบรรทัดห้าเส้น" เพื่อหลีกทางให้นักเขียนหน้าใหม่ได้แสดงฝีมือ (จริง ๆ คืออู้งาน :-P) ก็ถึงเวลาสะสางงานให้เรียบร้อยเสียที


อัลบั้มที่ผมจะพูดถึงในคราวนี้ เป็นงานที่ย้อนกลับไปในปี 2531 ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นงานระดับ "รวมดารา" เลยทีเดียว


อัลบั้มที่ว่าคืออัลบั้ม "เมื่อตะวันเรือง" ของกลุ่มศิลปิน "บัตเตอร์ฟลาย" นั่นเองครับ



พูดถึงกลุ่ม "บัตเตอร์ฟลาย" แล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นกลุ่มที่สร้างพื้นฐานให้กับวงการดนตรีร่วมสมัยในยุคต่อ ๆ มา เพราะบุคลากรในกลุ่มนั้นได้กลายเป็นกำลังสำคัญของวงการดนตรีกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นจิรพรรณ อังศวานนท์, สินนภา สารสาส, อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ, สุรสีห์ อิทธิกุล, พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ฯลฯ นอกจากนี้ตัวกลุ่มเองยังสร้างผลงานไว้ในหลายส่วน ทั้งเพลงจากทางวงเอง (กลุ่มนี้มีอัลบั้มของตัวเองทั้งหมด 3 ชุด) เพลงประกอบภาพยนตร์ รวมถึงการไปอยู่เบื้องหลังของศิลปินต่าง ๆ


สำหรับงานในอัลบั้มนี้…ถ้าผมจำไม่ผิด อัลบั้มนี้เป็นการร่วมมือระหว่างกลุ่มบัตเตอร์ฟลายกับวัดพระธรรมกาย โดยที่ทางบัตเตอร์ฟลายรับผิดชอบด้านดนตรี และการผลิตงาน โดยมีคุณเกษมสุข ภมรสถิตย์ ทำหน้าที่เขียนคำร้อง


ถึงตรงนี้ต้องเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบด้วยว่าโดยส่วนตัวแล้วตัวผมตั้งแง่กับแนวทางธรรมกายพอสมควร (บางเรื่องถึงขั้น "ไม่ชอบ" ด้วยซ้ำ) แต่ด้วยความที่พื้นที่ตรงนี้จะเล่าเรื่องดนตรีเป็นหลัก (เพราะขณะที่ผมเขียนเรื่อง "พุทธป๊อป" ทั้งสองตอน ก็ปรากฏอาการร้อนผ่าวๆ ตามตัว ซึ่งทำให้คิดได้ว่าผมคงไม่รุ่งบนถนนสายธรรมะเป็นแน่แท้) ดังนั้น ผมจะเขียนถึงอัลบั้มนี้โดยลืม ๆ เรื่องวัดและ "จานบิน" เหล่านั้นไว้ชั่วคราว


ว่าแล้วก็กลับมาเข้าเรื่องกันต่อครับ


ถ้าพูดกันถึงดนตรี ถ้า "เกาะบันไดวัด" ของเรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธา ทำดนตรีให้วัดไปตั้งอยู่ใน Center Point "เมื่อตะวันเรือง" ก็คงเหมือนกับวัดที่คุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์กำลังสร้างอยู่ที่เชียงรายน่ะแหละครับ


ที่พูดแบบนั้นก็เพราะว่าดนตรีในอัลบั้ม "เมื่อตะวันเรือง" ก็เป็นงานในแนวถนัดของกลุ่มนี้ คือการสร้างเพลงแนว Progressive Rock ที่เน้นในรายละเอียดของดนตรี และตลบอบอวลด้วยกลิ่น-สีของเครื่องสังเคราะห์จำพวกคีย์บอร์ดและซินธิไซเซอร์ ที่ให้ความรู้สึกหรูหราและล่องลอย


เนื้อเพลงก็เป็นอีกสิ่งที่แสดงถึงความแตกต่าง เพราะในขณะที่งานของเรียนเชิญฯ เป็นการนำหลักธรรมของพุทธศาสนามาย่อยให้ง่าย และการนำประวัติของพระเกจิอาจารย์มาเล่าในเพลงด้วยภาษาง่าย ๆ แต่สำหรับ "เมื่อตะวันเรือง" เป็นงานที่เนื้อเพลงทำหน้าที่เล่าถึงความงามของพระพุทธศาสนา ด้วยภาษาพลิ้วๆ อย่างกวี เช่น


"ตะวันคือดวงธรรมที่ย้ำความเบิกบาน
ให้ตระการด้วยแสงแห่งธรรม
ดวงธรรมคือความดีฝังรอยที่หัวใจ
ตะวันธรรมแสงงาม กระจ่างสว่างดั่งตะวันเรือง"

(จากเพลง "ตะวันเรือง")


"แสงเงิน แสงดวงรัชนีกรวันเพ็ญ
แสงเงินพร่างพราว โชติช่วงดังเช่นดวงธรรม
กลางใจแสนชุ่มเย็น พระจันทร์วันเพ็ญเตือนใครๆ
ให้เข้าใจในดวงธรรม"

(จากเพลง "พระจันทร์วันเพ็ญ")


ด้วยความแตกต่างของทั้งสองอัลบั้ม ดังนั้นจงโปรดอย่าถามว่าสองอัลบั้มนี้…ใครดีกว่าใคร (กรุณาอ่านเป็นทำนองเพลง "จงรัก" จะเพิ่มอรรถรสในการอ่านมากขึ้น ;-) เพราะทั้งสองอัลบั้มนี้มีหน้าที่ ๆ แตกต่างกันครับ เพราะงานของเรียนเชิญฯ เป็นการสอนธรรมะอย่างง่าย แต่ "เมื่อตะวันเรือง" เป็นดนตรีเพื่อสรรเสริญความงามของพระพุทธศาสนา


แต่ทั้งสองอัลบั้มสามารถแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวธรรมะ ไม่จำเป็นต้องเสนอผ่านคำเทศนา และดนตรีไม่ใช่เพียงแค่เครื่องประโลมโลกย์เท่านั้น


หมายเหตุ : จริงๆ แล้วนอกจากทั้ง 2 อัลบั้ม ยังมีอัลบั้มที่ใช้ดนตรีนำเสนอเนื้อหาทางพุทธ อย่างเช่นงานอัลบั้ม "ชมสวน" ของเสถียรธรรมสถาน เป็นต้น แต่เหตุที่ผมไม่ได้นำมาเขียนถึงก็เนื่องจาก…ผมไม่มีอัลบั้มดังกล่าวเป็นของตัวเอง ดังนั้นถ้าผมมีอัลบั้มเหล่านี้อยู่กับมือเมื่อไหร่ ผมจะเขียนถึงครับ


หรือถ้าทางเสถียรฯ จะส่งอัลบั้มนี้มาให้ทาง "ประชาไท" ก็ไม่ขัดข้องนะครับ (ฮา…)