Skip to main content

เสื้อหลากสี : ความงดงามที่ทำให้โลกน่าอยู่

คอลัมน์/ชุมชน

สองสามวันก่อนฉันได้คุยกับเพื่อนระหว่างที่นั่งรอทำธุระ ตอนหนึ่งระหว่างบทสนทนาเพื่อนบ่นให้ฉันฟังว่า เดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นอะไร ทำไมเธอกับเพื่อนสมัยเรียนมัธยมถึงคุยกันไม่ถูกคอเหมือนเมื่อก่อน ทั้ง ๆ ที่สมัยเรียนด้วยกัน ความสนิทสนมระหว่างเธอกับเพื่อนเรียกว่าเข้าขั้น "ซี้ปึ้ก"


ไม่น่าเชื่อเลยว่าฉันกับเพื่อนจะรู้สึกเหมือนกัน สมัยเรียนมัธยมฉันก็มีกลุ่มเพื่อนที่สนิทกันมาก สนิทกันจนรู้สึกว่าเราไม่สามารถหาเพื่อนที่คุยกันได้ถูกคออย่างนี้ได้อีก แต่หลังจากที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้สองปี ก็เริ่มรู้สึกว่าเราคุยกันไม่ถูกคอเหมือนเมื่อก่อน บางครั้งเริ่มต้นด้วยการคุยเรื่องเดียวกันแท้ ๆ ตอนหลังผันแปรเป็นคนละเรื่องเสียได้


ฉันเฝ้าหาคำตอบให้กับตนเอง พยายามหาสาเหตุของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จนเมื่อได้อ่านหนังสือเรื่อง "ไปตามเส้นทางของเรา" ของวรพจน์ พันธุพงศ์ ฉันก็เจอกุญแจที่จะไขไปหาคำตอบที่สงสัย เพราะตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่อง "สีเสื้อที่เราสวม"


วรพจน์ ขยายความว่า สีเสื้อที่เราสวมคือ "สังกัด" ที่เราอยู่ ซึ่งไม่ได้มีความหมายเพียงแค่สิ่งก่อสร้างอันเป็นรูปธรรมขององค์กรหรือสถาบันที่เราทำงานหรือเรียนอยู่ แต่ยังกินความหมายกว้างไปถึงการหล่อหลอมแนวคิดของ "คนในสังกัด" ให้ออกมาคล้ายกันเสียเป็นส่วนใหญ่


ดังนั้น การเลือก "สังกัด" จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การเลือกทำงานหรือเรียนในองค์กรหรือสถาบันนั้น ๆ แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการประกาศ "จุดยืน" ในการดำเนินชีวิตของเราด้วย


วรพจน์ ยกตัวอย่างเพื่อนรักทั้งในและนอกสนามอย่าง ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง กับ ตะวัน ศรีปาน ซึ่งขณะนี้ทั้งคู่ไปค้าแข้งที่เอสลีก ในสิงคโปร์ ด้วยกันแต่อยู่กันคนละทีม ซิโก้เคยให้สัมภาษณ์ว่า ถึงแม้เขากับตะวันจะเล่นกันคนละทีม แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับความเป็นเพื่อนระหว่างเขากับตะวันเลย


วรพจน์ ยอมรับว่าการอยู่คนละทีมหรือการสวมเสื้อกันคนละสีของซิโก้กับตะวันนั้นคงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นเพื่อนสนิทของทั้งคู่ แต่เขาก็ไม่เชื่อว่าทั้งคู่จะคุยกันได้ทุกเรื่องเหมือนเมื่อก่อนโดยเฉพาะ "เรื่องงาน" ในเมื่อสโมสรต้นสังกัดของทั้งคู่ต่างก็เป็นคู่แข่งกันในสนามและต่างก็มีเป้าหมายเพื่อความเป็นแชมป์


ฉันกลับมาคิด ๆ ดูว่า สาเหตุที่ฉันกับเพื่อนสมัยเรียนมัธยมคุยกันไม่ได้นานเหมือนเมื่อก่อนเป็นเพราะเราสวมเสื้อกันคนละสีหรือเปล่า ?


เปล่า ฉันไม่ได้คิดหรอกว่าสีเสื้อของใครสวยกว่ากัน เพราะเสื้อแต่ละสีก็สวยกันไปคนละแบบ และฉันก็เชื่อว่าทุกคนย่อมภูมิใจในสีเสื้อที่ตนเองเลือกสวมใส่ และแม้ว่าสีเสื้อที่เราสวมจะทำให้สัมพันธภาพระหว่างเพื่อนจืดจางไปบ้างก็คงไม่ใช่เรื่องเสียหายมากนัก


ตรงข้าม ฉันกลับมองว่าเป็นเรื่องดี ถ้าเพื่อนจะสวมเสื้อคนละสีกับฉัน เพราะเสื้อแต่ละสีย่อมหมายถึงแต่ละแนวคิดที่มีต่อเรื่องราวและปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เมื่อมีหลากหลายแนวคิด ก็ย่อมมีหลายหลากวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และนั่นย่อมนำมาซึ่งข้อสรุปที่ดีในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

โลกใบนี้คงไม่น่าอยู่นักหรอก ถ้าทุกคนสวมเสื้อสีเดียวกันหมด