Skip to main content

แบ่งฟ้า ปันดิน : แบ่งปันความรัก ความเข้าใจและการให้อภัย

คอลัมน์/ชุมชน

ระเบียงโมกข


หาก "ความรัก" เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนสองคนตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน
ความเข้าใจและการให้อภัย คงเป็นเหมือนสะพานที่ทอดยาวให้ความรักของคนทั้งสองก้าวเดินข้ามผ่านอุปสรรคไปสู่ความงดงามแห่งบั้นปลายชีวิตได้


ดังเช่น ความเข้าใจและการให้อภัยของ "ปลายธาร" และ "อิฐ"
คู่ภรรยาและสามีจากนวนิยายเรื่อง "แบ่งฟ้า ปันดิน" ของ "ชมัยภร แสงกระจ่าง"
ที่ช่วยทำให้ชีวิตคู่ของเธอและเขาผ่านพ้นอุปสรรคไปได้


อิฐและปลายธารอาจไม่ใช่คู่ชีวิตในอุดมคติเท่าใดนัก ปลายธารอยู่กินกับอิฐตั้งแต่ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 จนเมื่อเธอตั้งท้อง อิฐจึงพาเธอไปไหว้แม่ของเขาและพาไปจดทะเบียนสมรสก่อนย้ายมาอยู่ด้วยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว


อิฐมีหน้าที่หาเงินเข้าบ้าน ส่วนปลายธารต้องดูแลบ้าน ดูแลลูก และปรนนิบัติสามี ทั้งคู่ไม่เคยก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน อิฐไม่รู้ว่าภรรยาเหนื่อยเพียงใดกับภาระหน้าที่ดังกล่าว ส่วนปลายธารก็ไม่เคยรู้ว่าสามีมีปัญหากับงานที่ทำอยู่หรือไม่


หน้าที่การงานจึงกลายเป็นช่องว่างทำให้ความรักของทั้งคู่ที่เข้มข้นเจือจางลง และคงจะเจือจางลงเรื่อย ๆ หากอิฐไม่เกิดเส้นเลือดในสมองแตกขณะขับรถไปต่างจังหวัดจนทำให้เขาต้องเป็นอัมพาต
เมื่อหัวหน้าครอบครัวต้องนอนนิ่ง ๆ อยู่บนเตียง ปลายธารจึงต้องรับผิดชอบทุกอย่างแทนสามี
ที่สำคัญ การดูแลรักษาคนที่เป็นอัมพาตนั้นเหน็ดเหนื่อยไม่ต่างอะไรกับการเลี้ยงเด็กอ่อน


แต่อิฐก็เป็นยิ่งกว่าเด็กอ่อน เขาอารมณ์ร้ายเกรี้ยวกราดยิ่งกว่าเดิมเนื่องจากรับสภาพตัวเองไม่ได้
หลายครั้งเขาดุด่าภรรยาอย่างเสีย ๆ หาย ๆ บางครั้งโกรธที่ภรรยาทำอะไรไม่ได้ดั่งใจก็ประท้วงด้วยการไม่ทำกายภาพบำบัด ถ้าโมโหมากก็ถึงกับดึงผม แต่ปลายธารก็ไม่เคยโกรธ เพียงแต่นึกน้อยใจสามีบางครั้งบางคราวเท่านั้น


ฉันคิดว่าที่เธอไม่โกรธสามี ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ "ถูกกระทำ" ต่าง ๆ นานา เป็นเพราะปลายธารและอิฐมีความรักเป็นพื้นฐาน เธอเข้าใจว่าสามีรับสภาพตัวเองที่ต้องมานอนเจ็บแบบนี้ไม่ได้ เนื่องจากเขาเคยเป็นหัวหน้าทั้งหัวหน้างานและหัวหน้าครอบครัว ปลายธารจึงให้อภัยและอยู่ปรนนิบัติดูแลไม่ว่าสามีจะร้ายกับเธอเพียงใดก็ตาม


ไม่ใช่ว่าเธอไม่มีทางเลือก เพราะขณะนั้นก็มีหนุ่มรุ่นน้องผู้แสนดีหลงรักเธออยู่ แต่เธอได้เลือกแล้ว เลือกที่จะอยู่กับครอบครัวที่เธอกับเขาร่วมกันสร้างมานับสิบปี เขียนถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่า อิฐเป็นผู้ชายที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจไม่คิดถึงคนอื่น แต่ความจริงแล้ว อิฐก็มีความคิดไม่ต่างอะไรกับปลายธาร เขารัก เข้าใจ และให้อภัยภรรยาได้อย่างไม่น่าเชื่อว่าผู้ชายแบบเขาจะทำได้ (ถ้าอยากรู้ว่า อิฐให้อภัยปลายธารเรื่องอะไร ต้องหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านนะคะ)


ฉันจึงเชื่อว่า เพราะทั้งคู่มีความรักต่อกัน ความเข้าใจและการให้อภัยจึงเกิดขึ้นได้ แม้ว่าบางครั้งความรักอาจจืดจางไปบ้างตามเวลาและภาระหน้าที่ แต่ฉันก็เชื่อว่าแม้ความรักที่เจือจางไม่อาจทำลายความเข้าใจและการให้อภัยต่อคนที่เรารักได้ เว้นเสียแต่ว่า "เราจะไม่รักกันแล้ว"


ฉันปิดหนังสือเล่มนี้ พร้อมกับนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งโทรศัพท์มาเล่าให้ฟังว่าเพิ่งเลิกกับแฟนที่คบหากันมา 5 - 6 ปี เพราะแฟนตอบไม่ได้ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 5 - 6 ปีที่คบหากันนั้นเรียกว่า "รัก" หรือไม่


เพื่อนฉันเสียใจมากเพราะตั้งใจที่จะใช้ชีวิตคู่กับแฟนคนนี้ แต่ฉันบอกเพื่อนไปว่าดีแล้วที่เลิกกันเพราะถ้าเวลา 5 - 6 ปีที่คบกันยังตามหาความรู้สึกที่เรียกว่ารักไม่เจอแล้ว เมื่อไรจะตามหาคำว่า
"เข้าใจ" และ "ให้อภัย" เจอ


เพราะสองคำนี้มีพื้นฐานมาจากความรักและมีความหมายต่อการใช้ชีวิตคู่มาก ขนาดอิฐกับปลายธารที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็เจอคำว่า "รัก" นั้นยังต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการตามหาความเข้าใจและการให้อภัย


ถ้ายังหาคำว่า "รัก" ไม่เจอก็อาจตามหาคำว่า "เข้าใจ"และ "ให้อภัย" ไม่เจอก็ได้