Skip to main content

จงตอบคำถามต่อไปนี้ (อย่างซื่อสัตย์)

คอลัมน์/ชุมชน

ระเบียงโมกข


มีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกฉันไว้ก่อนคาบท้าย ๆ ของการเรียนว่า "คำถามสำคัญกว่าคำตอบ" ตอนนั้นฉันไม่ได้คิดหรอกว่า อะไรสำคัญกว่าอะไร รู้แต่ว่าถึงเวลาสอบทีไร อาจารย์ก็ยังต้องการคำตอบจากผู้เรียนมากกว่าคำถามอยู่ดี


แต่เมื่อ (ความคิด) โตขึ้น ฉันก็เริ่มเห็นคล้อยตามกับคำพูดของอาจารย์ เพราะถ้าไม่มีคำถามก็คงไม่มี "กระบวนการคิด" ในการหาคำตอบ และไม่ว่าคำถามนั้นจะมีคำตอบหรือไม่ ฉันก็เชื่อว่าทุกคำถามได้สร้าง "กระบวนการคิด" ให้เกิดขึ้นกับทุกคนที่พยายามหาคำตอบให้กับคำถามนั้น


ที่พูดเรื่องคำถาม คำตอบมาเสียยืดยาวก็เพื่อจะเข้าเรื่องหนังสือที่จะเขียนถึง แต่จะเรียกว่าหนังสือก็คงไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะเจ้าหนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นสมุดบันทึก หรือ Diary ด้วย เอาเป็นว่าฉันขอเรียกเจ้าหนังสือเล่มนี้ว่า "หนังสือเชิงบันทึก" ก็แล้วกัน


ฉันได้ "หนังสือเชิงบันทึก" เล่มนี้มาจากเพื่อนสนิทสองคนที่ร่วมทุนกันซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตอนแรกก็คิดว่าเป็นสมุดบันทึกธรรมดา ๆ เล่มหนึ่ง แต่พอได้เปิดดูแล้วต้องขอบอกว่าเป็นสมุดบันทึกที่ไม่ธรรมดาเสียทีเดียวเพราะนอกจากจะมีที่ว่างให้ฉันขีด ๆ เขียน ๆ แสดงความเป็นเจ้าของบันทึกแล้ว ภายในเล่มยังมีนักเขียนท่าน อื่น ๆ ได้บันทึกเรื่องราวของแต่ละท่านลงในเล่มนี้ด้วย


เรื่องราวที่นักเขียนแต่ละท่านได้บันทึกลงไปนั้นเป็นเรื่อง "คำถามแห่งชีวิต" หนังสือเล่มนี้จึงได้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษอย่างเก๋ไก๋ว่า "DIARY OF QUESTIONS"


คำนำของ "หนังสือเชิงบันทึก" เล่มนี้เขียนเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า Diary เล่มนี้ได้บรรจุคำถามของนักเขียน นักธุรกิจ นักกีฬา ฯลฯ และเป็นคำถามที่สามารถพลิกเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาได้


เป็นต้นว่า หนุ่มเมืองจันท์ คอลัมนิสต์แห่งมติชนสุดสัปดาห์ที่เคยคิดจะลาออกจากที่ทำงานเก่าเพราะความเบื่อหน่ายทั้ง ๆ ที่เพิ่งเข้าไปทำงานได้เพียง 3-4 ปี ได้ตั้งคำถามกับตัวเองหลังจากที่ได้งานใหม่ว่า "ผมพยายามแก้ปัญหาในที่ทำงานเก่าเต็มที่แล้วหรือยัง?" และได้คิดว่าการเดินออกมาจากที่หนึ่งเนื่องจากต้องการหนีปัญหานั้นไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เพราะถ้าที่ทำงานใหม่มีปัญหาเขาก็ต้องลาออกอีก กลายเป็นการหนีที่ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อคิดได้ดังนี้เขาจึงไม่ลาออก ทั้ง ๆ ที่ได้งานใหม่ซึ่งมีทั้งตำแหน่งและเงินเดือนที่เขาพอใจ และทุกวันนี้ถ้าเขาเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาก็จะถามตัวเองก่อนทุกครั้งว่า "เราพยายามแก้ปัญหาเต็มที่แล้วหรือยัง?" เพื่อที่ว่าอย่างน้อยเขาก็จะได้คิดทบทวนความรู้สึกของตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจเลือกทางเดินให้กับปัญหานั้น


ส่วนอีกคนที่ขอพูดถึงคือ อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส นักแสดง นักเขียน นักแปล และนักอะไรอีกหลายอย่าง ความที่เธอเป็นคนที่ไม่อยู่นิ่งทำโน่นทำนี่เยอะแยะไปหมดจนไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วต้องการทำอะไรกันแน่ เธอจึงตั้งคำถามง่าย ๆ กับตัวเองว่า "ชอบทำอะไรมากที่สุด" แล้วเธอก็ได้คำตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า "ทำกับข้าว" คำสามคำที่เองที่พัฒนามาเป็นรายการโทรทัศน์ที่เธอตั้งใจทำและทำออกมาอย่างมีความสุข แม้จะเหนื่อยแต่เธอก็บอกว่าปลายทางของความเหนื่อยคือ "รอยยิ้ม"

แล้วถ้าฉันต้องตั้งคำถามกับชีวิตตัวเองบ้างล่ะ ฉันจะถามอะไร ?

ฉันย้อนถามตัวเอง เพราะยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาฉันก็มีคำถามมาตลอด มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง บางคำถามก็ได้คำตอบ บางคำถามก็ไม่มีคำตอบ ถ้าให้เลือกถามเพียงคำถามเดียวคงเป็นเรื่องลำบากมิใช่น้อย แต่ถ้าคำถามนั้นไม่ใช่คำถามสุดท้ายในชีวิต ณ เวลานี้ฉันก็คงถามตัวเองว่า


"จะทำอะไรต่อไปกับชีวิตหลังจากเรียนจบ?"


แม้จะรู้ว่ามีคำตอบเดียวให้เลือกคือต้อง "ทำงาน" แต่ฉันก็ต้องคิดต่อว่าจะทำงานอะไรถึงจะซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเองและไม่ทำให้พ่อกับแม่เป็นห่วง (กลัวว่าจะไปไม่รอด) และแม้ว่าตอนนี้จะยังคิดไม่ออก แต่ "กระบวนการคิด" เพื่อที่จะหาคำตอบก็บอกว่า ฉันจะต้องตอบคำถามนี้อย่างซื่อสัตย์ อาจจะต้องใช้เวลานั่งฟังเสียงหัวใจของตัวเอง อาจจะถูกมองว่าใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยบ้างก็ต้องยอม


เพราะฉันจะไม่ยอมให้มีการ "โกงข้อสอบ" เกิดขึ้นกับความรู้สึกของตัวเองอย่างแน่นอน