Skip to main content

ลมต่างทิศ : ชีวิตที่ (ควรจะ) ต่างทางเลือก

คอลัมน์/ชุมชน

ระเบียงโมกข


คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ความเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องธรรมดาของโลก ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมหรือในระดับปัจเจก โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกซึ่งเป็นเรื่องที่สังเกตได้ง่ายนั้นนับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากกว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างที่เราเห็นนั้นต้องผ่านกระบวนการทางความคิด และน่าจะเป็นการคิดหลายรอบ


ปฏิเสธไม่ได้อีกเหมือนกันว่าการที่เราจะมีท่าทีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น จะต้องผ่านกระบวนการคิดและตัดสินใจก่อนที่จะแสดงจุดยืนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ยิ่งเมื่อต้องเจอกับบางเรื่องที่เราไม่เคยได้รับรู้มาก่อนก็อาจจะต้องใช้เวลาพิจารณาทั้งเหตุผลและความจำเป็นว่าเราจะสามารถยอมรับเรื่องดังกล่าว ณ เวลานั้นได้หรือไม่ เมื่อได้พิจารณาแล้วจึงจะสามารถแสดงจุดยืนได้ว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว


เช่นเดียวกับ "เหว่ หลาน" ตัวละครจากนวนิยายเรื่อง ลมต่างทิศ ของ เพิร์ล เอส.บัคซึ่งแปลโดย สังวร ไกรฤกษ์ ที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งด้านความคิด ทัศนคติ จุดยืน และวิถีการดำรงชีวิตเมื่อเธอต้องแต่งงานกับผู้ชายที่พ่อแม่หมั้นหมายไว้ให้ตั้งแต่เธอยังเด็ก ที่สำคัญผู้ชายซึ่งกำลังจะเป็นสามีของเธอคนนี้ได้รับการศึกษาด้านการแพทย์จากตะวันตกทำให้ความคิดความอ่านของเขาอิงอยู่กับหลักทางวิทยาศาสตร์ ในขณะที่เหว่หลานได้รับการเลี้ยงดูตามขนบโบราณ


เป็นต้นว่า เธอจะต้องถูกมัดเท้าตั้งแต่เด็กเพราะบรรพบุรุษเชื่อกันว่าผู้หญิงที่เท้าเล็กคือกุลสตรีที่งามพร้อม แต่สามีของเธอกลับเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นนอกจากจะดูไม่สวยงามแล้วยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท้าอีกด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องมัดเท้าหรอกที่ทำให้เหว่หลานกับสามีไม่เข้าใจกัน ทัศนคติเรื่อง "ความเท่าเทียม" ก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างปัญหาให้กับชีวิตคู่ เพราะเธอไม่เข้าใจว่าเหตุใดสามีจึงบอกให้เธอมีสถานะทางสังคมที่เท่าเทียมกับเขา ทั้ง ๆ ที่แม่เคยอบรมเธอมาว่าภรรยาต้องเป็น "ผู้ตาม" สามี


เมื่อเหว่หลานปฏิเสธที่จะไม่เลิกมัดเท้าตามที่สามีขอร้อง เธอและเขาก็เหมือนจะไม่มีเรื่องพูดคุยกัน สามีเอาแต่อ่านตำรา ส่วนเธอก็มักจะกลับไปหาแม่ สถานการณ์ที่ตึงเครียดในครอบครัวทำให้เหว่หลานคิดหาทางออกเพื่อประคับประคองชีวิตคู่ไว้ ซึ่งวิธีที่เธอเลือกก็คือ การยอมปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิถีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสามี (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นวิถีชีวิตที่อ้างอิงกับหลักวิทยาศาสตร์) โดยเริ่มจากการเลิกมัดเท้าและหมั่นซักถามสามีเรื่องตำราที่เขาอ่าน ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะนับตั้งแต่นั้นมาสามีก็พูดคุยกับเธอมากขึ้นและทำให้ชีวิตครอบครัวก็มีความสุขมากขึ้น


ฉันอยากจะดีใจกับความสุขของเหว่หลานที่มีมากขึ้น จนเธอรู้สึกว่าเป็นชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ที่สุด เธอมีลูกชายที่น่ารัก มีสามีที่รักและให้เกียรติเธอ แต่ฉันก็คงจะยินดีกับความสุขของเหว่หลานได้ไม่เต็มที่นัก เพราะตั้งแต่เริ่มเปิดหนังสือเล่มนี้อ่านจนกระทั่งถึงหน้าสุดท้ายฉันกลับรู้สึกว่า สามีไม่ได้รักเธออย่างที่เธอเป็น ถ้าเธอไม่ได้เปลี่ยนระบบความคิดให้เป็นวิทยาศาสตร์แล้วสามีจะหันมาพูดคุยกับเธอไหม แล้วถ้าเหว่หลานเป็นผู้ขอร้องให้สามีเปลี่ยนระบบความคิดมาเชื่อในสิ่งที่เธอเคยเชื่อล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น


แม้ว่าฉันเองจะชื่นชมกับวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์เนื่องจากเป็นวิธีคิดที่เน้นในเรื่องของเหตุและผล แต่ฉันกลับไม่ชื่นชมทั้งเหว่หลาน และสามี เหว่หลานเปลี่ยนระบบความคิดมาเป็นวิทยาศาสตร์เพราะถูกสถานการณ์รอบข้างกดดัน เธอไม่ได้เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงระบบความคิดด้วยตนเอง


ส่วนสามีของเธอที่ว่าได้รับการศึกษาและอิทธิพลด้านความคิดมาจากตะวันตกนั้น เอาเข้าจริงเขาก็ยังมีความคิดแบบตะวันออกเพราะปากที่บอกว่าภรรยากับเขามีสถานะที่เท่าเทียมกันนั้นเป็นเพียง "เปลือก" ที่เขาถูกฉาบทาจากการที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศนานเท่านั้น หาใช่เกิดจากการตกผลึกทางความคิด


เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เขาก็ไม่ควรกดดันภรรยาให้หันมาคิดแบบเดียวกับเขาและยิ่งไม่ควรคิดว่าความเชื่อแต่ดั้งเดิมของภรรยาเป็นเรื่องผิด แต่ควรเคารพในทัศนคติและจุดยืนของเธอ ที่สำคัญควรให้เวลาและให้เกียรติภรรยาในการเลือกทางเดินชีวิต ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่คนตะวันตกทั่วไปยึดถือปฏิบัติเป็นหลักสามัญ