Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ (3) หนึ่งเดียวอยู่รอด

งบประมาณด้านสุขภาพเคยถูกแจกจ่ายลงพื้นที่ตามขนาดของโรงพยาบาลและจำนวนเตียง โรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้มาก โรงพยาบาลขนาดเล็กได้น้อย วิธีนี้สร้างความเสียหายให้แก่ระบบสุขภาพ และผู้เดือดร้อนคือประชาชน


การให้งบประมาณลงพื้นที่ตามขนาดของโรงพยาบาลและจำนวนเตียง ทำให้เกิดการแยกส่วนกันทำงาน เกิดความรู้สึกเป็นเงินเขาเงินเรา ลามไปสู่คนของเขา คนของเรา รถของเขารถของเรา ตึกของเขาตึกของเรา


จิตใจของคนทำงาน ซึ่งเชื่อได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นผู้มีใจกุศลและเสียสละเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กลับออกอาการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ


พวกสถานีอนามัยนั้นพวกหนึ่ง พวกโรงพยาบาลชุมชนนั้นพวกหนึ่ง พวกโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปพวกหนึ่ง


แพทย์พวกหนึ่ง พยาบาลพวกหนึ่ง แพทย์เฉพาะทางพวกหนึ่ง แพทย์ทั่วไปพวกหนึ่ง แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวพวกหนึ่ง แพทย์แผนไทยพวกหนึ่ง


คนทำงานด้านรักษาเป็นพวกหนึ่ง คนทำงานด้านส่งเสริมป้องกันเป็นพวกหนึ่ง


เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยต้องทำงานภายใต้คำสั่งสาธารณสุขจังหวัดด้วย ภายใต้คำสั่งนายอำเภอด้วย ไม่แปลกที่จะพบว่าสาธารณสุขนั้นพวกหนึ่ง มหาดไทยอีกพวกหนึ่ง แต่แปลกหากพบว่านายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดก็พวกหนึ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดก็อีกพวกหนึ่ง


การแยกส่วนกันทำงานเช่นนี้เป็นความผิดพลาดที่ใหญ่หลวง เพราะเป้าหมายของการทำงานคือกลุ่มประชากรเดียวกันในท้องที่เดียวกัน จริงอยู่ที่คน ๆ หนึ่งอาศัยอยู่ได้ในท้องที่เดียว แต่เมื่อเขาเจ็บป่วย เขามักออกอาการ ตามหาการรักษาพยาบาลไปทุก ๆ ท้องที่


ทำให้เขาบริโภค (consume) ทรัพยากรสุขภาพจำนวนมหาศาล ทั้งที่บางครั้งเป็นเพียงไข้หวัด และบ่อยครั้งไม่เป็นอะไรเลย!


เพื่อให้ชัดเจนมากขึ้น อาจจะกล่าวได้ว่าคน ๆ หนึ่งมีบัตรประชาชนใบเดียว มีเลข 13 หลักชุดเดียว แต่มีหลายพวกรุมกัน ทำให้เขาสุขภาพดีโดยที่ต่างคนต่างทำ ต่างกรรมต่างวาระ ต่างปรัชญาและต่างวิธีการ


พวกรักษาก็จะเอาแต่รักษา พวกป้องกันก็จะเอาแต่ป้องกัน ไม่คุยกัน บ้านเราไม่เจ๊งเพราะระบบสุขภาพตอนนี้แล้วจะไปเจ๊งตอนไหน


งบประมาณที่ลงไปกับจำนวนเตียงทำให้เกิดการก่อสร้างตึกและซื้อเครื่องมือไฮเทคมากกว่าเรื่องอื่น ตึกและเครื่องมือไฮเทคจะดึงดูดแพทย์และพยาบาลเข้ามากองกันในตึกและนั่งรอบ ๆ เครื่องมือไฮเทคเหล่านั้น


แพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลใหญ่จึงล้นมากขึ้นเรื่อย ๆ แพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชนจึงขาดแคลนมากขึ้นทุกที ๆ ประชาชนหมดศรัทธาสถานีอนามัยและโรงพยาบาลชุมชนแห่เข้าโรงพยาบาลใหญ่มากขึ้นอีก ทำให้เกิดวิกฤตด้านคุณภาพ


หลักประกันสุขภาพเอาเงินเป็นตัวตั้ง นับหัวประชากรแล้วจ่ายเงินรายหัว โดยกำชับแล้วว่าอย่าเอาแต่รักษาให้ส่งเสริมป้องกันด้วย หากจะเกิดวิกฤตการเงินก็ขอให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ฉวยโอกาสนี้ปฏิรูประบบสุขภาพในท้องที่เสียใหม่


รวมพวกต่าง ๆ เป็นหนึ่ง ทำส่งเสริมป้องกันให้เข้มแข็ง การเงินก็จะเหลือ ที่สำคัญคือประชาชนแข็งแรงกว่าเดิมเมื่อเงินลงไปพื้นที่ตามหัวประชากร หากพวกต่าง ๆ รุมทึ้งเงินก้อนเดียวกันย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่ถ้าร่วมกันใช้เงินโดยร่วมกันวางแผน รวมทีม รวมคน รวมรถ รวมคอมพิวเตอร์ รวมเครื่องมือ และรวมน้ำใจ ประโยชน์สูงสุดจึงจะเกิดขึ้นคุ้มค่าเม็ดเงินที่เทลงไป


วิกฤตการเงินมิได้เกิดจากระบบจ่ายเงินรายหัวที่มาพร้อมกับหลักประกันสุขภาพ ในความเป็นจริงวิกฤตการเงินของระบบสาธารณสุขมีอยู่ก่อนแล้ว มีอยู่อย่างเงียบ ๆ และกัดเซาะทำลายระบบสุขภาพและสุขภาพของประชาชนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากไม่มีใครทำอะไรสักอย่าง อย่างไรก็ต้องล่มในเวลาไม่นาน


ระบบจ่ายเงินรายหัวช่วยนำวิกฤตการเงินที่ซ่อนอยู่มาวางบนโต๊ะให้เห็นจะจะ หากจะรอดก็ต้องรวมกันเป็นหนึ่ง ทั้งหมดนี้มิใช่ทฤษฎี แต่โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งเริ่มต้นทำงานร่วมกันกับสถานีอนามัยอย่างใกล้ชิดแล้ว มิใช่เพียงใกล้ชิดแต่ร่วมกันใช้ทรัพยากรทั้งบุคคลและเครื่องไม้เครื่องมือ นั่นคือรวมทุกอย่างเป็นหนึ่ง ภายใต้คำขวัญว่า "หนึ่งเดียวอยู่รอด"