Skip to main content

สิ่งสำคัญของการเป็นมนุษย์

คอลัมน์/ชุมชน

เด็กใหม่ในเมือง


ผมเชื่อว่านักอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นแทบทุกคน ในชีวิตการอ่านของตัวเองน่าจะเคยผ่านการอ่าน " โดราเอม่อน" มาแล้วอย่างน้อย ๆ ก็หนึ่งครั้ง หรือจะพูดให้ถูกก็คือ สำหรับใครที่เคยสัมผัสการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อไหนก็ตาม ก็คงเคยให้เจ้า ’ ม่อนได้เข้าไปเดินเล่นในความทรงจำอยู่เสมอ ๆ


และส่วนใหญ่ เรามักจะยินยอมให้มันเดินผ่านความทรงจำเข้ามานั่งกินโดรายากิ (หรือถ้าคนรุ่นอายุ ๒๐ กว่า ๆ ขึ้นไปคงเรียกมันว่า " แป้งทอด" ) ในหัวใจอยู่เรื่อยเชียว


อาจจะเป็นเพราะว่าพี่ ’ ม่อน ของเรา รวมทั้งผองเพื่อนทั้งหลาย ต่างดำเนินชีวิตคล้ายคลึงกับชีวิตเด็กธรรมดา ๆ ทั่วโลก ที่ต้องมีหัวโจกพร้อมลูกสมุน มีเด็กหงอประจำห้อง (ซึ่งมักจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ในห้องเรียน) และเด็กผู้หญิงที่น่ารักที่สุดในห้อง แม้ว่าเราจะไม่มีพี่’ ม่อนของเราเอง (แต่แอบกระซิบดัง ๆ ว่าคุณแม่ผมน่ารักพอ ๆ กับโดราเอมอนเชียวนา ;-) แต่พี่’ ม่อนก็เป็นตัวแทนในสิ่งที่เด็ก ๆ ฝันและต้องการมาโดยตลอด อย่างตอนเด็ก ๆ เวลาเราทำข้อสอบไม่ได้ เราคงเคยคิดอยาก " ได้ดินสอคอมพิวเตอร์" เอาไว้ช่วยทำข้อสอบ หรือเวลาอยากไปไหนต่อไหน เราคงคิดถึง " ประตูไปที่ไหนก็ได้" หรือ " คอปเตอร์ไม้ไผ่" เป็นแน่แท้


ด้วยความที่ตัวละคร และฉากชีวิตในโดราเอม่อนเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับชีวิตเด็กประถม (แม้ว่าเรื่องราวของเจ้าหุ่นยนต์แมวสีน้ำเงินตัวนี้จะเริ่มโผล่มาจากลิ้นชักโต๊ะมาให้เราเห็นตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี ๒๕๑๒ หรือเกือบ ๆ ๓๖ ปีแล้วก็ตาม) ทุกวันนี้เราจึงยังเห็นโดราเอม่อนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งหนังสือการ์ตูน (ที่มีทั้งตอนธรรมดา ฉบับเรื่องยาวที่มีความยาว ๑ ตอนต่อ ๑ เล่ม รวมถึงการพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ) วีซีดี ดีวีดี ของกินของใช้ รวมถึงโดราเอม่อนในรูปแบบของหนังสือความรู้สำหรับเด็กประเภทต่าง ๆ อีกทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่นต่างก็พยายามนำเสนอโดราเอม่อนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเพื่อเสนอให้กับนักอ่านรุ่นเยาว์ในปัจจุบัน รวมถึงบรรดาผู้ใหญ่ที่ติดตามมาตั้งแต่เด็ก ๆ นัยว่า สามารถหาวิธีดูดเงินจากกระเป๋าเรา ๆ ท่าน ๆ ได้อย่างไม่หยุดหย่อน T_____T




หนังสือการ์ตูน Doraemon The Theatre ในตอน " คืนแต่งงานของโนบิตะ" (หรือในชื่อพากย์ญี่ปุ่นว่า Eiga Doraemon "Nobita No Kekkon Zenya" ) ก็เป็นหนึ่งในโดราเอม่อนตอนที่ถูกพิมพ์มาเพื่อสนองความต้องการของแฟน ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วโดราเอม่อนตอนนี้เคยเป็นหนึ่งในหลายร้อยตอนสั้นที่ถูกรวมเล่มในรูปแบบปกติ แต่ได้มีการหยิบตอนนี้ขึ้นมาขยายจนกลายเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวฉายในโรงภาพยนตร์ แล้วจึงมีการนำภาพในภาพยนตร์มาทำเป็นหนังสือการ์ตูนเล่มอีกทีหนึ่ง


เรื่องย่อ ๆ ของโดราเอม่อนตอนนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อโนบิตะ-พระเอกสุดแหยของเราบังเอิญเห็นชิซุกะ-นางเอกประจำเรื่องและเดคิซึหงิ-เด็กหนุ่มที่มีทุกอย่างตรงข้ามกับโนบิตะกำลังซ้อมละครเพื่อแสดงละครในงานโรงเรียน ซึ่งก็เพียงพอจะทำให้โนบิตะเริ่มสงสัยว่าตัวเขาจะเป็นคู่ตุนาหงันของชิซุกะจริง ๆ เหรอ


เลยเดือดร้อนถึงพี่ ’ ม่อนของเราต้องพาโนบิตะไปยังวันก่อนแต่งงานของเขาในอนาคต เพื่อพิสูจน์ให้เห็นกันเลยว่าจริง ๆ แล้วโนบิตะในตอนโตจะได้สมหวังกับเขาหรือไม่ ซึ่งผลที่ได้...คนที่เคยอ่านโดราเอม่อนในตอนปกติคงจำได้แหละ ดังนั้นผมจะไม่เล่าซ้ำ (หรือถ้าพูดให้ซื่อสัตย์กว่านั้น...ผมขี้เกียจเล่านั่นเอง :-P )


แต่สิ่งที่ผมสนใจ และอยากจะเอามาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับตอนนี้ ก็คือในตอนท้ายของเรื่องที่ชิซุกะ (ในตอนโต) พูดกับพ่อของเธอว่า เธอไม่มั่นใจกับการแต่งงานครั้งนี้ว่ามันจะไปรอดมั้ย


" ที่ลูกตัดสินใจเลือกโนบิตะนั้น พ่อว่าลูกตัดสินใจถูกแล้วแหละ เด็กหนุ่มคนนั้นน่ะเป็นคนที่อยากเห็นคนอื่นมีความสุข และเขาจะเป็นทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นเดือดร้อน...นี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของการเป็นมนุษย์เลยละ" พ่อของเธอพูดไว้แบบนี้


ถ้าสรุปง่าย ๆ มันคือการ " คิดถึงคนอื่น" นั่นเอง


จริงอยู่ที่มนุษย์และสัตว์โลกทุกชนิดต่างมีสัญชาติญาณในการเห็นแก่ตัวเองและพวกพ้องเป็นหลัก แต่ที่แย่ก็คือ สิ่งเหล่านี้มันมักจะมาพร้อม ๆ กับการเหยียดคนอื่นที่ไม่เหมือนกับตัวเองให้ต่ำลง หรือแม้จะไม่กดให้ต่ำ แต่ก็ทำเป็นมองไม่เห็น


ความเกลียดชัง โกรธแค้น การเข่นฆ่า จึงตามมา


หากเรามองทุกคนบนโลก โดยไม่ต้องสนใจถึงความเป็นคนชาติใด ภาษาใด แล้วมองเสียใหม่ว่าโลกใบนี้ รวมถึงชีวิตของเราไม่อาจจะอยู่ตามลำพังบนโลกใบนี้ รวมถึงไม่อาจอยู่ในบ้านเมือง ประเทศ และโลกที่ไม่มีความแตกต่างได้



จากนั้นจึงมองโลก และพยายามทำความเข้าใจถึงความแตกต่างขององค์ประกอบต่าง ๆ บนโลก...


โลกคงจะดีกว่านี้