Skip to main content

เมื่อผมไปอยู่ใน WOODSTOCK

คอลัมน์/ชุมชน

เหตุการณ์แปลก ๆ เกิดขึ้นกับผมในวันนี้...

ผมจำได้ว่าไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ ผมยังนั่งเล่นอยู่ในบ้านของผมอยู่เลย แต่ตอนนี้ผมอยู่บนทุ่งโคลนขนาดมหึมา ที่มีเต้นท์นับหมื่นหลัง และฝูงชนเป็นแสน ๆ คนเป็นพืชพันธุ์บนผืนโคลน โดยมีหมอกควันโอสถหลอนจิต และเสียงดนตรีโรยตัวบาง ๆ เป็นน้ำหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์เหล่านั้น


นี่กูมาอยู่ที่ไหนกันวะเนี่ย?


แต่ผมก็ได้คำตอบจากกระดาษแผ่นเล็กๆ (ที่ผมมารู้ตอนหลังว่ามันเป็นบัตรคอนเสิร์ต) ที่ผมพบบนผืนโคลน มันเขียนว่า... "WOODSTOCK Music and Art Fair August 17, 1969"


เฮ้ย...กูมาอยู่ในวู้ดสต็อกเนี่ยนะ


(วู้ดสต็อกคือเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นในวันที่ 15-17 สิงหาคม 2512 ณ ฟาร์มของนาย Max Yasgur ที่เมือง Bethel รัฐ New York ที่เขาถือกันว่าเป็นหนึ่งในเทศกาลดนตรีครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการดนตรีโลกเลยทีเดียว ภายหลังมีความพยายามจัดงานในชื่อเดียวกันในปี 2537 และ 2542 แต่ผลที่ได้รับไม่สามารถเทียบเคียงงานครั้งแรกได้แม้แต่น้อย)


แต่เอาเหอะ...ตั้งสติดี ๆ ไหน ๆ ก็มีโอกาสมาอยู่ในเทศกาลดนตรีระดับนี้แล้ว (แม้ว่าจะงง ๆ ว่าผมมาอยู่ตรงนี้ได้ไงก็ไม่รู้...สงสัยว่าผมคงฝันไปละกระมัง) ก็ขอถือโอกาสเดินเก็บบรรยากาศของงานไว้เสียหน่อย เผื่อจะได้เอาไปอวดกับชาวบ้านชาวช่องว่า "เฮ้ย...กูฝันว่ากูไปวู้ดสต็อกมาแล้วนะเฟ้ย"


ทันใดนั้นก็มีเสียงดังพุ่งตรงเข้ามาหาผมว่า "เฮ้ย...แกเป็นคนเวียตนามหรือเปล่า" เมื่อผมหันไปหาต้นกำเนิดของเสียง ก็พบว่าเจ้าของเสียงเป็นหนุ่มอเมริกันผิวดำที่ท่าทางจะ "เพียบ" จากการใช้ "สมุนไพร" มาก่อนแน่ ๆ


"ไม่ ๆ ผมมาจากเมืองไทย...ผมมีเชื้อจีน เลยอาจจะดูคล้ายเวียตนามหน่อย ๆ แต่ก็ไม่ใช่อยู่ดีแหละ" ผมตอบเขาไป


"แล้วเนี่ยนายจะเดินดูอะไรอยู่ทำไมเนี่ย...ไปหน้าเวทีมั้ย เฮนดริกซ์กำลังจะขึ้นเวทีปิดท้าย" เขาชวนผม


ผมได้ยินชื่อ "เฮนดริกซ์"...เฮ้ย Jimi Hendrix นี่หว่า ว่าแล้วผมก็ไม่ลังเล รีบวิ่งตามหนุ่มผิวดำคนนั้นไปที่หน้าเวที ที่คนนับหมื่นมายืนออกันอยู่แล้ว ภาพที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้าคือชายหนุ่มผิวดำในเครื่องแต่งกายแบบฮิปปี้ ที่ใช้กีตาร์ยี่ห้อเฟนเดอร์สีครีมพาผู้ชมนับหมื่นที่อยู่ตรงนั้น ทะยานไปยังดินแดนในจินตนาการที่ ๆ คนในยุคนั้นเชื่อว่า มันคือนิพพาน โดยมีความเมามายเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ




เพลงแล้วเพลงเล่าที่ถูกเล่นเข้าสู่หูของมวลบุปผาชนที่ชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นั่น จนถึงตอนที่เขาหยิบเพลง Star Spangled Banner หรือที่เรารู้จักมันในชื่อของ "เพลงชาติสหรัฐอเมริกา" นั่นเอง


เพลงนั้นสะกดให้ผู้ฟังทุกคนฟังมันอย่างตั้งใจ ด้วยความที่มันไม่ใช่เพลงชาติที่บรรเลงด้วยวงดนตรีขนาดใหญ่ที่แสดงถึงความห้าวหาญของชาติ หากแต่มันถูกบรรเลงด้วยกีตาร์ไฟฟ้าอย่างโหยหวนและเกรี้ยวกราด ที่แสดงความรู้สึกของคนหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้น


"ฉันคิดถึงเพื่อนสนิทของฉัน" หนุ่มผิวดำคนที่พาผมมาที่หน้าเวทีพูดกับผม "ตอนนี้เขาและเพื่อน ๆ อีกหลายคนกำลังอยู่ในสนามรบที่เวียตนาม หลายคนบาดเจ็บ หลายคนพิการ หลายคนจากไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าเขาไปรบเพื่ออะไร"


"นายรักประเทศของนายหรือเปล่า" ผมถามเขา


"รักสิวะ แต่ไม่ได้รักในความหมายว่าความรักชาติคือการทำตามผู้นำทุกอย่าง หากแต่ความรักชาติของฉันคือการมองว่า คนหนุ่ม ๆ ของประเทศเราก็ควรมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตโดยไม่ถูกเอาไปทิ้งอย่างเปล่า ๆ ปลี้ ๆ"


"แล้วนายรักประเทศของนายหรือเปล่าล่ะ?" เขาถามผม


@#@#@#@#@


ผมรู้สึกตัวเองว่า...ผมอยู่ในห้องนอนที่บ้าน


ผมมองสำรวจไปรอบตัว พบว่ารอบข้างตัวผมไม่ใช่ทะเลโคลน และที่นี่ไม่ใช่ฟาร์มของนายยาสเกอร์เสียด้วย...ผมฝันไปจริง ๆ ด้วย (อันที่จริงผมน่าจะรู้ตัวตั้งแต่ตอนที่ฝรั่งผิวดำคนนั้นมาถามผมว่า "เป็นเวียตนามหรือเปล่า" ด้วยภาษาไทยแล้วแหละ)


ผมมองไปที่จอทีวีในห้อง...ผมเปิดรายการ "ถึงลูกถึงคน" ทิ้งเอาไว้ ผมเห็นคุณดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค กำลังพูดถึงเพลงชาติไทยฉบับปรุงรสใหม่โดยแกรมมี่ (ซึ่งฉบับที่ถูกพูดว่าเป็น "แบบแดนซ์" นั้น ผมฟังด้วยความสงสัยว่าถ้าใครสามารถเต้นกับเพลงชาติฉบับนั้นได้ เขาคงสามารถเต้นรำไปกับเพลงทุกเพลงบนโลกได้แล้วกระมัง :) พร้อม ๆ กับอ่านความเห็นทาง sms (ที่ส่วนใหญ่อุดมไปด้วยอารมณ์ แต่พร่องในส่วนของสติ) ไปด้วย


อยู่ดี ๆ ก็คิดถึงพี่มืดในความฝันในทันทีทันใด


จริงอยู่ที่เพลงชาติเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นชาติ และการร้องเพลงชาติก็เป็นการแสดงถึงความรักชาติแบบทำง่าย ๆ และเห็นได้อย่างถนัดถนี่ที่สุด


แต่การร้องด้วยสำเนียงที่ไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ทำนองและเรื่องราวในเพลงก็เหมือนกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขารู้สึกกับเพลงชาติต่างกันนี่ครับ