Skip to main content

เพลงลูกทุ่ง...ที่ไม่ลูกทุ่ง

คอลัมน์/ชุมชน

เด็กใหม่ ในเมือง


ก่อนที่ผมจะเริ่มเขียนบทความชิ้นนี้ คงต้องบอกกันก่อนว่า หากบทความชิ้นนี้มีส่วนดีอยู่บ้าง ผมขออนุญาตยกความดีให้กับรถเมล์สาย ๕๔๒ ในฐานะที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนงานชิ้นนี้


เหตุที่ทำให้ผมพูดแบบนี้ ก็เนื่องมาจากผมต้องนั่งรถเมล์สายที่ว่าจากบ้านมายังออฟฟิศของ " ประชาไท " อยู่เป็นประจำ (จริงๆ แล้วจากบ้านผมยังมีรถเมล์สาย ๔๐ อีกสายนึงที่สามารถใช้เป็นพาหนะมายังออฟฟิศได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าชาติก่อนผมใส่บาตรด้วยรถเมล์ ปอ. หรือไม่ก็เพราะว่าผมมีดวงถูกโฉลกกับการเสียเงินก็ไม่ทราบได้ )


ที่ผมพูดถึงรถเมล์สายนี้ ก็เพราะว่านี่เป็นรถเมล์สายที่มักจะเปิดวิทยุให้เราได้ฟังระหว่างการเดินทางอยู่เสมอๆ ซึ่งรายการที่เราจะได้ฟังก็จะเป็นไปตามรสนิยมของคนขับรถแต่ละคัน


ดังนั้น...การลุ้นว่ารถเมล์ที่เรานั่งจะเปิดรายการอะไรจึงเป็นเรื่องสนุกประจำวันของผม ซึ่งในหลายครั้งผมจะได้ฟังรายการเพลง Easy Listening จำพวก " ซอฟท์ " , " อีซี่ " หรืออะไรประมาณนี้


แต่รายการที่ผมได้ยินอยู่เป็นประจำ นั่นคือรายการวิทยุเพลงลูกทุ่ง ทำให้ผมได้ฟังเพลงลูกทุ่งมากขึ้น จากเดิมที่ไม่ได้ติดตามแวดวงนี้สักเท่าไหร่


พูดถึงเพลงลูกทุ่ง คงพูดได้ว่าเป็นรูปแบบดนตรีที่ใกล้ชิดกับสังคมไทยมากที่สุด และสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเพลงลูกทุ่งเข้าถึงทุกกลุ่มในสังคม (ที่แม้ว่าในแวดวงคนที่เขาเรียกว่าเป็น " ปัญญาชน " อย่างในมหาวิทยาลัยอาจจะดูเหินห่างกับเพลงลูกทุ่งขนาดไหนก็เถอะ แต่เพลงอย่าง " สามสิบยังแจ๋ว " หรือ " ผู้ชายในฝัน " ก็สามารถช่วยชีวิตวงสันทนาการหงอยๆใน งานรับน้องได้ดีทีเดียว ) แม้กระทั่งในแวดวงเพลงป๊อบทั่วไป ก็มีเพลงในกลิ่นอายลูกทุ่งแทรกอยู่เนืองๆ แต่เพลงเหล่านั้นก็ไม่ยักจะมีใครเรียกมันว่า " เพลงลูกทุ่ง "


ผมเลยนึกสนุก เลือกเอาเพลงแบบนี้ที่ตัวผมชอบมาเล่าให้ฟัง โดยเรียงลำดับจากที่ผมนึกออกเป็นหลักครับ


๑. เพลง " ดุจังน้อง " ของเก่ง-ธัญลักษณ์ อภินาคพงษ์



เชื่อว่าคนมากกว่าครึ่งที่นั่งอ่านงานชิ้นนี้อยู่ คงจะนึกสงสัยว่า " ไอ้นักร้องคนนี้นี่ใครวะ " แต่ถ้าใครติดตามแวดวงเพลงไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคปี ๒๕๓๗-๒๕๓๙ที่เพลงแบบอัลเทอร์เนทีฟ (แบบไทยๆ) สร้างความคึกคัก (และปั่นป่วน) ให้กับวงการดนตรีป๊อบไทย คงจะจำเพลง " ไปโรงเรียน " กันได้...นั่นคือเพลงฮิตที่สุดของเขาครับ


" ดุจังน้อง " เปิดเพลงด้วยเสียงคีย์บอร์ดเลียนเสียงเครื่องเป่าและจังหวะที่ชวนให้นึกถึงเพลงลูกทุ่งทั่วไป ก่อนที่เนื้อร้องท่อนแรกจะดังขึ้น


" น้องทำไมดุจังโอ้แม่ร้อยชั่ง ดุจังเลยน้อง


ตัวพี่นี้สนใจแก้วตา อยากคบหาน้องมาเกี่ยวข้อง


แอบมองรอเจ้าหันมา แต่ยังไม่ทันจะได้สบตา...


น้องก็ด่าพี่ไม่ยั้ง... "


สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือกองทัพกีตาร์เสียงแตก กลองกระแทกกระทั้น ก็ออกมากระโดดถีบวงดนตรีลูกทุ่งเมื่อต้นเพลงไปไหนก็ไม่รู้ ก่อนที่เพลงนี้ทั้งเพลงจะกลายเป็นสนามรบระหว่างลูกทุ่งกับอัลเทอร์ฯ โดยมีเสียงร้องที่ร้องแบบ " เอามันส์ " มากกว่า " เอาเพราะ " เป็นกรรมการ


ซึ่งน่าจะเป็นเพลงที่ทำให้เราเห็นภาพของเพลงยุคนั้นที่เมามันส์ โฉ่งฉ่าง เอะอะโครมครามได้เป็นอย่างดี



๒. " ผักบุ้งลอยฟ้า " ของศุ บุญเลี้ยง



พูดถึงศิลปินที่ชอบเล่นสนุกกับแนวเพลงหลากหลายแล้ว ชื่อของพี่จุ้ยคงเป็นมือวางอันดับต้นๆ ในเรื่องนี้ เพราะพี่แกลองอะไรแปลกๆ ที่ต่างจากแนวถนัดของแกอยู่เรื่อย ตั้งแต่การนำวงสไมล์ บัฟฟาโล่ (ในสมัยที่ยังไม่ออกอัลบั้มชุดแรก) มาเป็นวงแบ็คอัพในอัลบั้มชุด " นักเดินทาง " , การทำเพลงป๊อบเนี้ยบๆ ในมินิอัลบั้ม " ความจำสั้น ความฝันยาว " หรือแม้กระทั่งงานแบบร็อกในอัลบั้ม " ดื้อ "


แต่สำหรับงานในแบบลูกทุ่ง คงต้องพูดถึงมากสักหน่อย เพราะพี่จุ้ยเคยทำงานในแบบลูกทุงออกมาถึงสองชุด คือ " ผักบุ้งลอยฟ้า " และ " ชิงช้าสวรรค์ " ซึ่งเพลงที่ผมยกมานั้นอยู่ในอัลบั้มชื่อเดียวกับเพลงนั่นแหละ ซึ่งเพลงนี้เป็นฝีมือการจรดปากกาเขียนโดยตัวพี่จุ้ยเอง


เพลงนี้เล่าเรื่องของแม่สาวบ้านนาที่หวังเข้าเมืองกรุงหาความสำเร็จ ซึ่งก็เป็นสูตรที่เพลงลูกทุ่งหลายๆ เพลงใช้กัน แต่ " ผักบุ้งลอยฟ้า " กลับแปลงร่างแม่สาวบ้านนาให้กลายเป็นผักบุ้งริมคลองไปซะได้


" แม่ผักบุ้งบ้านนา หวังลอยฟ้าลมบน


สูงเกินไปกลัวจะหล่น ห่วงกังวลนักหนา


เดี๋ยวเชลล์เขาชวนใครมาชิม ลิ้มเจ้าผักบุ้งบ้านนา


แม่ช้อยก็ร่ายรำมา กลัวจะพลาดท่าเสียที... "


แม้ว่างานในแบบลูกทุ่งของพี่จุ้ยจะไม่ใช่งานที่หลายๆ คนจดจำได้ แต่ก็สามารถบอกได้ว่าแม้เสียงของพี่แกจะพลังน้อยเกินกว่าจะเป็นลูกทุ่งมืออาชีพ แต่งานของแกก็ใช่จะขี้ริ้วซะเมื่อไหร่



๓. " ทหารเกณฑ์คนเศร้า " ของต๊อก-ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ



เพลงนี้อยู่ในอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ " มนต์รักทรานซิสเตอร์ " -หนังที่เป็นหนึ่งในทำเนียบ " หนังดีที่ไม่ค่อยได้ตังค์ " ของผู้กำกับเป็นเอก รัตนเรือง


พูดถึงหนังของคุณเป็นเอกในความคิดคำนึงของผมแล้ว ผมจะจำได้ว่าหนังของแกจะต้องมีเพลงประกอบเพราะๆ แทรกอยู่ทุกเรื่อง ตั้งแต่เพลง " น้อยก็หนึ่ง " ของคุณอารักษ์ อาภากาศที่ปรากฎในฉากหนึ่งของ " ฝัน บ้า คาราโอเกะ " หรือเพลง " ดวงดาว ดวงตา ดวงใจ " ของน้าหงา คาราวานที่อยู่ในช่วงตอนจบของหนัง " ตลก ๖๙ " ไปจนถึงเพลง " แรงดึงดูด " ฉบับที่ร้องโดยธาริณี ทิวารีในหนัง " เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล "


ยิ่งในเรื่อง " มนต์รักทรานซิสเตอร์ " ที่มีเพลงลูกทุ่งเป็นตัวดำเนินเรื่องแล้ว ยิ่งทำให้หนังเรื่องนี้อุดมไปด้วยเพลงเพราะๆ ไปด้วย


แต่ที่ผมเลือกเพลงนี้มาพูดถึง ก็เพราะว่าเพลงนี้เป็นเพลงใหม่เพลงเดียวในอัลบั้ม และเป็นผลงานการแต่งเพลงวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง-ผู้กำกับหนังอย่าง " ฟ้าทะลายโจร " และ " หมานคร " (นอกจากนี้ยังเคยแต่งเพลง " กำสรวลจันทร์ " ประกอบหนังเรื่อง " ฟ้าทะลายโจร " ของตัวเองด้วย)


เพลงนี้มีปล่อยให้เสียงของต๊อกอยู่ตามลำพัง โดยไม่มีเครื่องดนตรีใดๆ อยู่ร่วมเพลงนี้เลย แม้ว่าต๊อกจะไม่ใช่นักร้องอาชีพ แต่การถ่ายทอดอารมณ์ทหารเกณฑ์ที่ต้องจากพรากคนรักมานั้น ก็สามารถสะกดคนฟังได้อยู่หมัด


" ลมพัดต้นกล้า เดือนเมษาปีก่อน


พี่จำจากจร เมื่อตอนลมร้อนแผ่วมา


ทหารเกณฑ์คนยาก ต้องพรากจากลา


กอดน้องแก้วตา เจ้าอย่าร้องไห้... "


โดยเฉพาะในท่อนสุดท้าย ที่มีเสียงสะอื้นไห้แทรกเข้ามาด้วย ก็พาลทำให้คนใจอ่อนน้ำตาไหลได้ไม่ยาก


" ข้างแรมสิบห้าา เดือนเมษาปีใหม่


พี่อยู่เดียวดาย คิดถึงขวัญใจไกลบ้าน


ทหารเกณฑ์คนเศร้า ห่วงเจ้านงคราญ


ผ่านพ้นสงกรานต์ ไม่ได้กลับไป... "


 


๔. เพลง " ลูกทุ่ง, ที่คิดถึง " ของเดอะ ไซมิส ทวิน



งานชิ้นนี้ออกมาในรูปแบบซิงเกิ้ลอย่างเงียบๆ วางจำหน่ายเงียบๆ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วในร้านเทปเพียงไม่กี่ร้าน รวมทั้งชื่อศิลปินที่ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น ก็ชวนทำให้เพลงๆ นี้ไม่พ้นการเป็น " เพลงที่ถูกลืม " ไปได้


แต่เมื่อดูเครดิตในปกซีดี จึงทำให้รู้ว่าเดอะไซมิส ทวิน คือนามแฝงในการทำงานเพลงร่วมกันระหว่างคุณบอย-ตรัย ภูมิรัตน นักร้องนำแห่งวงดนตรี Friday และคุณคมสัน นันทจิต พิธีกรที่เขียนหนังสือได้ดี (เอ...หรือจะเรียกเขาว่าเป็นนักเขียนที่ทำหน้าที่พิธีกรได้ดีล่ะ)


พวกเขาเขียนเพลงนี้โดยได้แรงบันดาลใจจากเพลง " ฝนเดือนหก " , " ร้องไห้กับเดือน " และเพลง " คิดถึงพี่ไหม " โดยพวกเขาเล่าถึงเจตนาในการทำเพลงนี้ในปกซีดีว่า


" ถึงแม้ว่าเราทั้งสองคนที่ทำงานเพลงครั้งนี้คนหนึ่งจะเกิดที่ต่างจังหวัด แต่ก็มาเติบโตที่กรุงเทพฯ ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นนับได้ว่าเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด แต่เราทั้งคู่ก็มั่นใจว่าไม่ว่าจะยืนอยู่ที่ตำแหน่งไหนบนพื้นแผ่นดินเมืองไทย ล้วนมองเห็นฟากฟ้าผืนเดียวกัน ความไพเราะในความหมายของความไพเราะย่อมไม่เคยมีการแบ่งแยกตามภูมิประเทศ เราจึงขออุทิศเพลงเพลงนี้-ลูกทุ่ง , ที่คิดถึง-แด่ครูเพลงและนักร้องเพลงลูกทุ่งทุกท่านด้วยความเคารพ "


ว่าแล้วก็ลองไปอ่านเนื้อเพลงบางส่วนxของเพลงนี้กันครับ


" มองดูดวงดาว คืนเหงาก็ยิ่งคิดถึง


เดือนต่ำดาวตก หัวอกคะนึง คิดถึงวันเธอร่ำลา


พี่คนเมืองกรุง ไม่มีท้องทุ่ง ดาวไม่เต็มฟ้า


ตึกสูงพันชั้น หมอกควัน รถรา


แหงนคอตั้งบ่า ไม่เจอพระจันทร์


 


ก่อนนี้มีเธอ เปิดเพลงให้ฟังเรื่อยมา


ครูสุรพล สายัณห์ สัญญา


ก่อนนอนหลับตา ฮัมเพลงผ่องศรี


คืนนี้เงียบเหงา พี่นั่งเศร้าดูกล่องซีดี


ปิดไฟจุดเทียนแทนที่


ฟังศรคีรี แล้วคิดถึงเธอ... "


 


๕. " ลูกทุ่ง acappella 7" ของ A Cappella 7



เพลงๆ นี้ถูกซ่อนไว้ในแทรคสุดท้ายของอัลบั้ม " เม้าท์ ทู เม้าท์" -อัลบั้มชุดล่าสุดของทางวง ด้วยความยาวของเพลงเพียง ๑ นาที กับ ๔๔ วินาทีเท่านั้น แต่กระนั้นพวกเขาก็หว่านเสน่ห์ของวงลงไปในเพลงสั้นๆ อย่างเต็มที่ ด้วยเสียง " แต่ แด แด แด๊...แต่ แด แด แด๊ แด่ แด..." เลียนเสียงเครื่องเป่า ก่อนที่พวกเขาจะเล่าเรื่องของตัวเองให้เราฟัง


" จับไมค์ร้องเพลงอยู่บนเวที


นักร้องกลุ่มนี้ ร้องเพลงไม่เหมือนใคร


ใช้ปากทำเพลง ฮู ฮา ฮึม ฮัม ปั่ม ปั๊ม เรื่อยไป


ดนตรีไม่ใช้ ใช้เพียงแค่เสียงตัวเอง



บุกป่าฝ่าฟันเข้าในเมืองกรุง


ด้วยใจมั่นมุ่ง อยากรุ่งในวงการเพลง


ลำบากลำบน ผจญชีวิตด้วยตัวเราเอง


ร่ำร้องบรรเลง กล่อมเพลงให้คุณได้ฟัง "


ก่อนที่จะเข้าสู่ท่อนที่ไม่รู้ว่าจะเรียกมันว่าเป็นท่อนที่ " ซื่อ" ที่สุด หรือจะเรียกมันว่าเป็นท่อนที่ " ฮาร์ดเซลส์" ที่สุดดี


" มีคนนิยม ชื่นชมพวกเรามากมาย


แต่ว่ายอดขายของเรานั้นมันสวนทาง


ก็ยังโชคดีที่ได้รางวัลปลอบใจมาบ้าง


เป็นกำลังใจให้เราสรรค์สร้างบทเพลงที่ดี



เป็นศิลปินที่ยังไม่รวย


ขอวอนผู้ฟัง โปรดช่วยเอ็นดูเราที


ช่วยซื้อของจริงทั้งเทป ซีดี และวีซีดี


ได้โปรดปราณี นักร้องกลุ่มนี้นั้นยังขัดสน


ได้โปรดเมตตา อะ แค็ป เป ล่า เซเว่น ด้วยเทอญ... "


แต่เอาเถ๊อะ...แม้ว่าเพลงนี้อาจจะดูเป็นเพลงที่ออกไปในทาง " ขำ ขำ" มากกว่าจะเอาจริงเอาจัง แต่มันก็สามารถสะท้อนถึงความซื่อ อันเป็นลักษณะสำคัญของเพลงลูกทุ่ง



ก็แหม...ใครมันจะกล้าโฆษณาเทปเพลงของตัวเองในอัลบั้มกันเล่า ;-)



V^V^V^V^V


 


หลังจากเขียนบทความชิ้นนี้เสร็จ ผมก็คงต้องออกจากบ้าน ไปทำงานที่ออฟฟิศด้วยรถเมล์สายเดิมอีกครั้ง


คราวนี้ผมจะไม่ต้องรอแล้ว ว่าผมจะได้ยินเพลงลุกทุ่งบนรถเมล์อีกหรือเปล่า เพราะจริงๆ แล้วเพลงลูกทุ่งมันก็ฟุ้งกระจายอยู่ในสายลมที่พัดผ่านเราทุกวันนี่แหละครับ