Skip to main content

ศิลปินไท I.A.: ผมคิดถึงพวกคุณ

คอลัมน์/ชุมชน

เด็กใหม่ ในเมือง


สิ่งที่จุดชนวนให้ผมตัดสินใจเขียนบทความชิ้นนี้ ก็เนื่องจากช่วงนี้ผมได้เห็นศิลปินเพลงกลุ่มหนึ่งได้กลับมามีบทบาทบนหน้าจอทีวีอีกครั้ง หลังจากที่พวกเขาห่างหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ไปได้พักใหญ่


ศิลปินกลุ่มที่ว่าก็คือ " สินเจริญบราเธอร์ส" นั่นเองครับ ซึ่งถ้าจำกันได้ พวกเขาเคยมีเพลงฮิตอย่าง " สัญญา" (" สัญญาเป็นอย่างไร ทำไมไม่รักษากันบ้าง..." ) หรือ " แกล้งเพราะรัก" ( " ก็เธอดูดีจริงๆ ผู้หญิงเวลาโกรธ ชูรสผู้ชายให้มีคุณค่า ก็แอบดีใจ เธอหวงเรานี่หว่า แสดงอาการของคนที่รักจริง..." )


แต่ที่ผมจะเขียนถึงในวันนี้ คงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสินเจริญบราเธอร์สซะทีเดียว แต่คงเกี่ยวข้องกับกลุ่มดนตรีกลุ่มหนึ่งที่พวกเขาเคยสังกัดอยู่ ที่เคยสร้าง " ดนตรีบนท้องถนน" ให้วงการดนตรีมีสีสันฉูดฉาดบาดตาขึ้น...แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาที่สายลมพัดผ่านเท่านั้น


กลุ่มดนตรีที่ว่าก็คือกลุ่ม I.A. (ย่อมาจาก Independent Artists ) หรือในชื่อพากษ์ไทยว่ากลุ่ม " ศิลปินไท" นั่นเอง...


@#@#@#@#@


เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมดนตรีข้างถนนกับสังคมไทย คงต้องนับย้อนไปถึงเพลงพื้นบ้านภาคกลางชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า " เพลงขอทาน" ซึ่งเพลงเหล่านี้เป็นการนำเนื้อหาเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เช่นพระรถ-เมรี, ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ มาร้องในลักษณะทำนองเฉพาะตัว ซึ่งศิลปินเพลงขอทานที่เราคงเคยได้ยินชื่อก็อย่างเช่นยายสำอาง เลิศถวิล (ที่คาราบาวเคยนำชีวิตของยายสำอางมาถ่ายทอดเป็นเพลง " ยายสำอาง" มาแล้ว)


ดนตรีและการแสดงข้างถนนในยุคต่อมา อยู่ในชื่อของ " ดนตรีเปิดหมวก" ได้รับอิทธิพลมาจากเพลงแบบ " สตรีท ซองค์" (Street Song ) ที่ถูกนำมาเผยแพร่ในรูปแบบของสารคดีและแผ่นเสียงที่ตกมาถึงเมืองไทยในสมัยที่ทหารจีไอเข้ามาตั้งฐานทัพในเมืองไทย ซึ่งศิลปินที่เดินตามแนวทางนี้ก็อย่างเช่นอี๊ด ฟุตบาธ, พิบูลศักดิ์ ละครพลและกลุ่มดนตรี " มาชารี" , วงคำแพง ของเตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนผู้ล่วงลับ, ยุทธศักดิ์ จรลี จนถึงศิลปินเปิดหมวกรุ่นต่อมาอย่างเอี้ยว ณ ปานนั้น (ชัยพร นามประทีป)


แต่หลังจากนั้น ดนตรีข้างถนนก็ห่างหายจากพื้นถนน จนถึงเวลาที่ I.A. ถือกำเนิดขึ้น


สมาชิกของ I.A. นอกจากจะมีธนัญชัยและสุทธิศักดิ์ สินเจริญ – สองในสามสมาชิกจาก " สินเจริญบราเธอร์ส" แล้ว ยังมีสมาชิกในกลุ่มเป็นหนุ่มสาวอีกหลายชีวิต ที่ทั้งหมดมีอาชีพที่แตกต่างกัน ทั้งเป็นนักดนตรีอาชีพ, คนทำงานด้านคอมพิวเตอร์, พนักงานขายทางด้านเคมีอุตสาหกรรม, นักศึกษา ฯลฯ แต่ทั้งหมดต่างมีดนตรีเป็นเครื่องร้อยโยงพวกเขาเข้าหากัน


กลุ่ม I.A. ขึ้นมามีบทบาทในช่วงปี ๒๕๔๔-๒๕๔๕ ท่ามกลางบรรยากาศวงการดนตรีที่คลื่นใต้น้ำของการ " เกิดใหม่" ของแวดวงดนตรีอินดี้กำลังเริ่มก่อตัว (การเริ่มต้นของค่าย Smallroom และ Panda Records, ความสำเร็จของอัลบั้มชุดแรกของพรู, วงดนตรีระดับ "Supergroup" อย่าง 2 Days Ago Kids และการเริ่มสร้างฐานความนิยมของ Fat Radio ) ประกอบกับเป็นเวลาที่คนฟังเพลงกำลังเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับวงการดนตรีที่ถูกครอบครองโดยค่ายใหญ่เพียงไม่กี่ค่าย และต้องการแสวงหาสิ่งใหม่


ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้แหละ ที่เอื้อต่อการทำก่อกำเนิดของพวกเขา


พวกเขาเริ่มแสดงดนตรีตามท้องถนน และตามแหล่งชุมชนต่างๆ ทั้งย่านอโศก ท่าพระจันทร์ สยามสแควร์ ฯลฯ (ได้ยินมาว่าพวกเขาเคยแสดงดนตรีแม้กระทั่งบนรถไฟฟ้า ! ) รวมถึงตามงานถนนคนเดิน และเทศกาลดนตรีต่างๆ



พวกเขามักจะปรากฏกายอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย พร้อมทั้งบรรดาเครื่องดนตรีอะคูสติก ไม่ว่าจะเป็นกลองบองโก กีตาร์ ทรัมเป็ต ไปจนถึงไวโอลิน ก่อนที่เสียงดนตรีของพวกเขาจะทำหน้าที่เรียกคนที่เดินไปมาอยู่ตามท้องถนนให้หันมาสนใจพวกเขาด้วยฝีมือดนตรีที่ผ่านการซักซ้อมมาอย่างดี และลีลาการแสดงของพวกเขาก็เป็นเหมือนมนต์วิเศษที่ดึงดูดผู้คนให้สนใจพวกเขาได้


ในขณะที่นักเพลงข้างถนนยุคก่อนๆ ใช้เพียงดนตรีเป็นสื่อส่งสารที่ตัวเองต้องการพูดถึงผู้ฟัง แต่ว่า I.A. กลับใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย วิ่ง และกระโดดโลดเต้นไปรอบๆ พื้นที่เพื่อสื่อสารเสียงดนตรีของตัวเองสู่คนฟัง เสมือนหนึ่งถนนเป็นเวทีคอนเสิร์ตของพวกเขา


เมื่อเวลาผ่านไป จนเข้าสู่ช่วงประมาณปี ๒๕๔๖ กลุ่มมีการสลับสับเปลี่ยนสมาชิกกันอยู่เรื่อยๆ และก็เริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบการแสดงโดยเริ่มใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าในการแสดงมากขึ้น และมีการปักหลักแสดงประจำบริเวณ (ว่าที่) หอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกรุงเทพฯ ตรงข้ามมาบุญครอง และลานระหว่างสยามดิสคัฟเวอรี่กับสยามเซ็นเตอร์อยู่ช่วงหนึ่ง


และเมื่อพวกเขาหายไปจากสถานที่แสดงเหล่านั้น ผมก็ไม่รู้ข่าวคราวของพวกเขาอีกเลย...



พวกเขามีผลงานในรูปแบบเทปคาสเส็ตต์อยู่ ๒ ชุด ซึ่งน่าเสียดายว่าในการบันทึกเสียงเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้ม จะเป็นการบันทึกโดยครื่องดนตรีไฟฟ้าเป็นหลัก ทำให้อรรถรสที่เคยได้จากการฟังพวกเขาเล่นริมถนนสดๆ นั้นขาดหายไปโขทีเดียว แต่ก็ยังดีที่หลายๆ เพลงในอัลบั้มก็ยังใช้เครื่องอะคูสติกยืนพื้นอยู่


หนึ่งในนั้นคือเพลงที่ชื่อ Our Song ที่เป็นเพลงที่พวกเขามักจะนำมาเล่น ณ เวทีข้างถนนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งผมก็นั่งฟังเพลงนี้อยู่...


ผมปล่อยให้เสียงไวโอลินที่ดูคล้ายหญิงสาวร่าเริง เต้นระบำในหูของผมโดยมีเสียงกีตาร์โปร่งตีคอร์ดเบาๆ และเครื่องเคาะ-เขย่าเป็นฉากหลัง แล้วพาลนึกถึงพวกเขา นึกถึงเสียงที่เคยทำให้เมืองแข็งๆ อย่างกรุงเทพฯ มีชีวิตชีวามากขึ้น


และความคิดถึงนี่แหละ ที่ทำให้ผมเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา...


 หมายเหตุ :
ผู้เขียนขอขอบคุณนิตยสาร " บันเทิงคดี" ฉบับ " ข้างถนน" (ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๗๑, พฤษภาคม ๒๕๓๙) และนิตยสาร OPEN (ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๘) สำหรับข้อมูลในการเขียนบทความชิ้นนี้ และขอขอบคุณคุณ oakyman สำหรับรูปภาพประกอบบทความครับ :-)


 






SMP. (Short Message Preview)


ส่วนนี้จะทำหน้าที่แนะนำงานเพลงที่ผู้ดูแลชุมชนคิดว่าน่าสนใจ โดยทุกอาทิตย์จะมีงานที่น่าสนใจ ๑-๒ ชิ้น (อาจมากกว่านั้น ตามสภาพกระเป๋าสตางค์ของผู้ดูแลชุมชนเป็นหลัก) มาแนะนำกับท่านผู้อ่านอย่างสั้นๆ


แต่ก่อนอื่น ผู้ดูแลชุมชนขออนุญาตเรียนให้ทราบว่า คอลัมน์นี้ (รวมทั้งข้อความทั้งหมดในชุมชนนี้) มิใช่ศาลสถิตย์ยุติธรรม ดังนั้นข้อความเหล่านี้จึงอาจเจือปนด้วยอคติ และความชอบส่วนตัวของผู้เขียน


ขณะเดียวกัน งานเขียนเหล่านี้ก็ไม่ใช่ประกาศิต ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเชื่อข้อความเหล่านี้ รวมทั้งหากไม่เห็นด้วยกับข้อความในชุมชนนี้ ก็สามารถโต้แย้งกับผู้เขียนได้ ไม่ว่าจะโดยผ่านช่องแสดงความคิดเห็น หรือทางอีเมล์ panuwat@prachathai.com หรือหากต้องการเข้าร่วมวงเขียนข้อเขียนต่างๆ ภายในชุมชนนี้ ก็สามารถส่งมาได้ยังช่องทางเดียวกัน


ขอให้สนุกกับการฟังเพลงครับ :-)


@#@#@#@#@



อัลบั้ม: Never Say Die
ศิลปิน: หิน เหล็ก ไฟ


หลังจากที่น้าโป่ง (ปฐมพงษ์ สมบัติพิบูลย์) เสียรังวัดกับงานเดี่ยวอันไม่ค่อยน่าจดจำ (The Game และ Sexperience ) การกลับมารวมวงของหิน เหล็ก ไฟ จึงเหมือนงานที่กลับมาทวงศักดิ์ศรีร็อกเกอร์ระดับแนวหน้าของน้าโป่ง...และก็สามารถทำได้สำเร็จเสียด้วย


งานนี้อาจไม่มีเพลงระดับความเร็ว 300 Km./H. อย่าง " สู้" หรือ " ร็อกเกอร์" แต่ก็แทนที่ด้วยเนื้อหาที่คมเข้ม และดนตรีที่แน่นปึ๊กตามแบบคนมีวุฒิภาวะ


ถ้าคุณรู้สึกเซ็งกับบรรดาวงป๊อปหน่อมแน้มที่สร้างภาพให้ตัวเองดูเท่ห์ด้วยเสื้อยืดวงเฮฟวี่...หิน เหล็ก ไฟ ใช้อัลบั้มนี้ชูนิ้วกลางใส่หน้าบรรดาวงพรรค์นั้นเรียบร้อยแล้วครับ :-)



อัลบั้ม: ZERO (ศูนย์)
ศิลปิน: Pru


ถ้าอัลบั้มชุดแรกของพรู เป็นเหมือนการฉุดเบเกอรี่มิวสิคให้ขึ้นจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ อัลบั้มชุดนี้ก็คงเป็นพวงหรีดประดับงานศพของเบเกอรี่มิวสิคยุคแรก


งานชุดนี้เป็นเหมือนงานที่บอกเล่าความรู้สึกของคนหนุ่มช่างคิดในเมืองใหญ่ ที่เขาครุ่นคิดตั้งแต่เรื่องการแต่งกาย ("Jeane") ความรัก (ความรักแบบเพื่อนใน " เพื่อนเอ๋ย" , รักแบบคู่รักใน " ฉัน..." และ " ...รักคุณ" ) เซ็กส์ (" เมื่อฉันรู้" ) โลกรอบตัว (" ๕๐ ชั้น" ) ไปจนถึงปรัชญา (การเวียนว่ายตายเกิดใน "World War IV (จุดเดิม)" และการหลุดพ้นใน "0" ) ผ่านดนตรีร็อคง่ายๆ แต่ประณีต อันสมบัติของวงที่ติดตัวมาตั้งแต่อัลบั้มแรก เสริมทัพด้วยเปียโนและวงออร์เคสตรา


แม้ว่าที่พูดมาทั้งหมดจะเพียงพอให้อัลบั้มนี้เป็นงานชิ้นที่ดีที่สุดในรอบครึ่งปีนี้ แต่สำหรับคนที่ผ่านยุคอัลเตอร์ฯ เฟื่องฟูอย่างเช่นผม แค่การที่ได้เห็นอรอรีย์ จุฬารัตน์กลับมาร้องเพลงอีกครั้งในเพลง " โปรด" ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอต่อการหยิบอัลบั้มนี้มาเป็นเจ้าของแล้วแหละ :-)