Skip to main content

แรมรอน

คอลัมน์/ชุมชน

Ursa Major


ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมต่อกับต้นเดือนสิงหาคม ชีพจรที่เคยอยู่ที่ข้อมือก็เต้นตุ๊บ ๆ ลงไปสู่อวัยวะเบื้องล่าง


- 1 -


เริ่มกันที่ช่วงหยุดอาสาฬหบูชาต่อเข้าพรรษา ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงหยุดยาวต่อเนื่องกันถึง 4 วัน แต่เนื่องจากเป็นช่วงใกล้สอบเลยชักชวนเพื่อนฝูงไปเที่ยวกันใกล้ ๆ ไปเช้าเย็นกลับ แถว ๆ ศาลายานี่เอง ด้วยการไปนั่งเรือล่องคลองมหาสวัสดิ์


คลองมหาสวัสดิ์ เป็นคลองที่ขุดเชื่อมแม่น้ำอ้อมหรือแม่น้ำเจ้าพระยาเส้นเดิมกับแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ทางด้านการเดินทางติดต่อค้าขาย และการเกษตรกรรมโดยสองฟากฝั่งเป็นเรือกสวนกันมาตั้งแต่โบราณจนกระทั่งถึงในปัจจุบัน และถึงแม้ว่า ถนนหนทางจะสะดวกสบายรถรามากมาย แต่ในย่านแถบนี้ยังคงใช้เรือเป็นพาหนะหลักกันอยู่มาก และด้วยที่ตั้งที่อยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพ ฯ มากนัก ทั้งยังคงมีวิถีชีวิตของชาวสวนให้ได้สัมผัสและให้เห็นถึงรากเหง้าชุมชนเกษตรกรรมแต่ดั้งเดิม จึงทำให้ลำคลองสายนี้มีความน่าสนใจเพิ่มยิ่งขึ้นอีก


การเดินทางไปถึงทำได้ง่ายดายหลายวิธี แต่ที่อยากจะแนะนำก็คือโดยรถไฟสายบางกอกน้อยแล้วไปลงที่สถานีวัดสุวรรณ แล้วเดินเลยไปลงเรือที่ด้านหลังสถานีแต่ต้องตื่นเช้ากันหน่อย เนื่องจากรถไฟเที่ยวสุดท้ายจะออกตอน 7 โมง 40 นาที แต่ถ้าไปไม่ทันก็มีรถเมล์ไปถึงเหมือนกัน หารถขึ้นไม่ยาก สายไหนก็ได้ที่ไปถึงศาลายา ทั้งที่อนุสาวรีย์ชัยฯ หรือจะเป็นแถวปิ่นเกล้าก็มี


ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นถือว่าคุ้มค่ามาก เฉลี่ยออกมาแล้วคนละร้อยกว่าบาทเท่านั้นเอง แลกกับการนั่งเรือชมคลองตามจุดต่าง ๆ อันได้แก่ นาบัวที่สามารถลงไปพายเรือเล่นในนั้นได้ด้วย ( ถ้าพายเป็นนะ ) แถมยังได้ชิมข้าวตังที่กลุ่มแม่บ้านแถวนั้นเค้าผลิตกันขึ้นมาเอง และถ้าอยากชิมก๋วยเตี๋ยวเรือแสนอร่อยขนานแท้ ( เพราะขับเรือขาย ) ก็นั่งรออยู่แถว ๆ ท่าน้ำตอนใกล้เที่ยงนั่นแหล่ะเดี๋ยวก็ได้ชิม หรือไม่ก็บอกคนขับเรือเค้าก็ได้เดี๋ยวเค้าก็เรียกให้เอง ลองได้นั่งกินก๋วยเตี๋ยวเรือรับลมเย็น ๆ โอ๊ย ! กินเสร็จแล้วอยากหลับซักตื่น


แต่ยังนอนไม่ได้เพราะมีอีก 2 ที่ ที่จะพาไปก็คือสวนผลไม้สด ๆ จากสวนตามฤดูกาลให้ได้ชิมไม่ว่าขนุนหวานฉ่ำเนื้อดีสีเหลืองอร่าม หรือส้มโอที่นุ่นละมุนลิ้น แถมยังมีขนมที่แปรรูปจากผลไม้หลายชนิดทั้งเชื่อมทั้งกวนให้ได้ชิมอีก


และตบท้ายรายการด้วยอาหารตาอาหารใจที่ละลานไปด้วยกล้วยไม้สีเข้มพันธุ์ทัศนีย์ ของสวนกล้วยไม้ทัศนีย์ โดยมีคุณทัศนีย์เป็นผู้อธิบายให้เรารู้เรื่องเกี่ยวกับกล้วยไม้และการดูแล



- 2 -


ในสัปดาห์ต่อมาก็ใช้เวลาทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ โยกย้ายตำแหน่งตัวเองไปอยู่แถว ๆ จังหวัดกำแพงเพชรและสุโขทัย


กับโปรแกรมนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นการไปเรียนก็ตามที แต่ผมเองก็ตั้งใจเอาไว้แล้วว่าถ้ามีเวลาจะมาขี่จักรยานดูให้มันทั่ว ๆ อีกทีเริ่มที่กำแพงเพชรเลยละกัน


กำแพงเพชรนั้นมีความเจริญร่วมสมัยมากับสุโขทัยและอยุธยา แต่ถ้าจะให้นับย้อนหลังไปกว่านี้ก็คงเก่าแก่กว่านั้น จนมาร้างไปในสมัยสิ้นกรุงศรีฯ เพราะตามพงศาวดารนั้น พระยาตากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทันได้มาครองก็มีศึกมาประชิดพระนครเสียก่อน กำแพงเพชรนั้นด้วยเหตุที่เมืองมีค่าย คู ประตู หอรบ แข็งแกร่งมั่นคงสมชื่อเมืองยากที่ข้าศึกจะตีหักเอาได้โดยง่าย


กลับมาเที่ยวกันดีกว่า... ในส่วนของตัวเมืองเดิมนั้นไม่ค่อยมีอะไรน่าเที่ยวนัก แต่ผมเองกลับชอบบรรยากาศของอรัญญิก ซึ่งเป็นเมืองของพระสงฆ์ ที่ตั้งของวัดต่าง ๆ ห่างออกไปนอกตัวเมือง ประมาณ 2 กิโลเมตรได้


และเนื่องจากกำแพงเพชรนั้นได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกร่วมกับสุโขทัย บริเวณต่าง ๆ ของที่นี่จึงได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในอรัญญิกนั้นมีการจัดสภาพภูมิทัศน์ไว้สวยงาม ร่มรื่น สงบและสง่างามมาก เมื่อขับรถผ่านเข้ามาจะพบกับสีเขียวอ่อนของสนามหญ้าไล่กับสีเขียวเข้มของต้นไม้ใหญ่ขับให้สีน้ำตาลแดงของศิลาแลงดูงามยิ่งนัก


ที่ต่อมาเราจะได้ไปชมกันก็คือเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองเชลียง หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับชื่อเมืองเชลียงสักเท่าไหร่นักเนื่องจากเมืองนี้เป็นชื่อเดิมของศรีสัชนาลัย ถึงแม้ว่าจะอยู่คนละที่แต่ก็อยู่ใกล้กันมาก เดิมทีเชลียงนั้นเป็นเมืองที่มีประวัติเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยขอม โดยมีหลักฐานอยู่คือ อโรคยาศาล ซึ่งถูกสร้างขึ้นตามเส้นทางการเดินทางค้าขายระหว่างขอมกับอินเดีย และเมืองเชลียงยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมในการผลิตเครื่องจาน ชาม ถ้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาออกมาใช้กัน และ ณ ที่เมืองศรีสัชนาลัยแห่งนี้ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งหนึ่งที่มีป้อม คู ประตู หอรบ ที่แข็งแรงมาก อีกทั้งรูปแบบของศิลปะและสถาปัตยกรรมที่มีลายปูนปั้นงดงามเป็นอย่างยิ่ง รูปแบบเมืองเป็นสี่เหลี่ยมล้อมรอบเอาภูเขาไว้ในเมืองถึง 2 ลูกด้วยกัน


เราเดินดูโน่นดูนี่อยู่จนแสงตะวันลาลับไปจนฟ้าเปลี่ยนจากสีอมส้มเป็นสีดำคล้ำตอนขึ้นรถพอดี


เมื่อถึงที่พักทานอาหารเย็นแล้วอาจารย์ท่านก็ชวนกันไปเวียนเทียน ที่เจดีย์เก่าข้างหลังที่พักเรานี่เองซึ่งเป็นเจดีย์ใหญ่ ทั่วทั้งบริเวณมืดสนิท จนต้องช่วยกันจุดเทียนรอบบริเวณที่เรายืนก็ช่วยให้มีแสงขึ้นมาบ้างสวยทีเดียว จากนั้นก็ค่อยแยกย้ายกันเข้านอน


ตอนเช้าเราแวะกันเข้าไปชมวัดต่าง ๆ รวมถึงพระอัจนะ หรือพระพูดได้ที่หลาย ๆ คนรู้จัก และเหมือนจะกลายเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของสุโขทัย ที่นอกจากเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ไปแล้ว ลักษณะของพระอัจนะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในมณฑป บริเวณผนังมณฑปมีช่องประตูสามารถเดินขึ้นบันไดไปจนถึงด้านบนหลังองค์พระได้


หลายท่านอาจจะงงนะครับ ขออธิบายประกอบความรู้ละกันนะ ในสมัยกรุงสุโขทัยนั้นจะมีมณฑปเป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธานของวัดโดยทำเป็นอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยม มีขนาดความกว้างพอดีกับองค์พระและมีประตุทางเข้าเล็ก ๆ อยู่ด้านหน้า หาใช่วิหารอย่างที่ ททท. นำไปใช้โฆษณา Unseen in Thailand ไม่ และขอตำหนิ ททท. ด้วยว่าหากจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อะไรก็ควรรู้ให้จริงบ้างนะครับ ส่วนวิหารในสมัยสุโขทัยนั้นมักทำด้วยไม้และไม่นิยมมีฝาผนังแต่มักจะทำชายคาลาดต่ำเพื่อกันแดดกันฝนแทน


จากนั้นก็จะได้เข้าไปในวัดพระศรีมหาธาตุกัน ซึ่งที่นี่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของสุโขทัยเลย หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงมีวัดชื่อคล้าย ๆ กันเช่นวัดพระศรีมหาธาตุ หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดมหาธาตุ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากในสมัยโบราณ ศูนย์กลางของเมืองมักจะเป็นวัดหลวงที่ไว้ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนากัน ที่วัดมหาธาตุนี้มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของสุโขทัยที่คุ้นตากันดี โดยอยู่บริเวณด้านหลังวิหารของวัด นอกจากนั้นยังมีพระประธานองค์ใหญ่มากที่ตอนนี้เหลือเพียงแต่ฐาน เพราะตัวองค์พระนั้นรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้า ฯ ให้ชักมาประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามที่กรุงเทพ ฯ นี่


จากนั้นอาจารย์ก็ชวนเราเข้าไปดูภายในพิพิธภัณฑ์ ที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุมีอยู่หลายชิ้นที่น่าสนใจนั่นคือ ถ้วยชาม สังคโลกที่สวยงามสมบูรณ์ และก่อนขึ้นรถกลับกรุงเทพ ฯ ยังได้แวะซื้อโปสการ์ดติดมือกลับมาเป็นที่ระลึกด้วย



- 3 -


หลังจากนั้นในสัปดาห์ถัดมาซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องกันถึง 3 วัน ผมเองก็ได้พาสังขารระหกระเหเร่ร่อนไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้โน่น


ด้วยคิดว่าคนคงไม่เยอะมากและไปกันแค่ 2 คนคงพอหาที่นั่งบนรถได้บ้าง แต่การณ์ก็ไม่เป็นดังคาด ขบวนรถไฟทั้ง 10 กว่าตู้เหลือแค่เพียงที่ยืน ก็เลยคิดหาที่นั่งที่พอจะอาศัยได้ในชั่วเวลาข้ามคืนนี้ก็พอ


บันไดตู้เสบียงเป็นที่หมายแรกที่นึกถึงและมันก็ยังว่างสำหรับเราสองคน และคืนนี้ก็ยึดที่ตรงบันไดนั่นแหล่ะเป็นที่นอนสำหรับสองคนแต่กว่าจะนอนก็ 5 ทุ่มกว่าเข้าไปแล้ว ก็ช่วงเลยหัวหินไปแล้วโน่นแหล่ะ เนื่องจากต้องรอให้ตู้เสบียงปิดซะก่อน


วิธีการนอนก็คือเอาเปลกางออกมาปูพื้นแล้วก็สวมถุงนอน แล้วก็กลับหัวกลับหางกันนอนตะแคงข้าง หลับสนิทไปจนเช้าประมาณตี 5 ตู้เสบียงเปิดนั่นแหล่ะถึงต้องตื่น



ลืมตามารับอากาศเย็น ๆ ยามเช้า พร้อมทั้งรอดูตะวัน ค่อย ๆ เรืองแสงขึ้นมาทางทิศตะวันออก จนอดใจไม่ไหวต้องคว้ากล้องถ่ายรูปขึ้นมาเก็บรูปไว้ซะสองรูป ทั้ง ๆ ที่รถกำลังวิ่งด้วยความเร็ว (ก็มันสวยจริง ๆ นี่นา)


และแล้วรถก็มาถึงสถานีท่าชนะตอน 6 โมงเช้าพอดี เดินเข้าตลาด หาอะไรใส่ท้องแล้วค่อยต่อรถสองแถวเข้าหมู่บ้านปากน้ำท่ากระจายที่เคยมาทำค่ายเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว


ปากน้ำท่ากระจายเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งโดยทางทิศเหนือมีคลองเล็ก ๆ และทางด้านใต้มีปากแม่น้ำท่ากระจายเป็นตัวกั้น ส่วนหาดหน้าหมู่บ้านเป็นหาดทรายผสมเลน


มาครั้งนี้นอกจากตั้งใจที่จะมาเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่เคยมาทำค่ายแล้ว ยังกะว่าจะออกเรือจับปลาหมึกด้วย การจับปลาหมึกของที่นี่ใช้วิธีการวางลอบ โดยออกไปวางไว้ไม่ไกลจากฝั่งหน้าหมู่บ้านเท่าไหร่นั่งเรือออกไปซัก 10 นาทีก็ได้กู้ลอบกันแล้ว


โดยลอบปลาหมึกจะมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมโดยมีใบจากผูกติดไว้ข้างบน ผูกถุงทรายถ่วงด้านล่างแล้วใช้กระป๋องน้ำมันเป็นทุ่นกะความยาวเชือกให้ลอบลอยอยู่กลางน้ำพอดี นอกจากนั้นยังใช้ไม้ไผ่ทำเสาผูกผ้าสีต่าง ๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นของใครอีกที การวางลอบปลาหมึกนี้จะได้หมึกหอมตัวใหญ่ ๆ เนื้อหนา เค้าจะใช้ไข่มันผูกไว้เพื่อล่อให้มันเข้ามาวางไข่ในลอบ เวลากู้สังเกต ง่าย ๆ ถ้ามีหมึกอยู่ข้างในมันจะพ่นหมึกจนน้ำเป็นสีดำปี๋


วันนี้เราโชคไม่ค่อยดีได้ปลาหมึกมา 3 กิโลกว่า ก็ต้องรีบเข้าเนื่องจากมีพายุตั้งเค้าจากบนฝั่งมา พี่ที่ขับเรือเลยบอกว่าพอก่อนดีกว่า หมึกที่ได้ตัวใหญ่มากเนื้อหนาตัวเกือบศอกยังมีเลย ขายได้กิโลประมาณ 70 บาทแน่ะ พี่ที่ขับเรือบอกว่าช่วงเดือนที่แล้ววันหนึ่งได้เกือบร้อยกิโลกรัมทีเดียว


- 4 -


จากที่เขียนบรรยายมาเสียยืดยาวก็เพื่อจะบอกเล่าและบอกกล่าวว่า การท่องเที่ยวแบบเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งชีวิตคนและธรรมชาติที่พึ่งพาอาศัยกันมานั้นมันทำให้ผมเองได้รับรู้อะไรในความเป็นจริงมากขึ้น


เพราะผมเองมองว่าที่หลายคนเที่ยว ๆ กันอยู่นั้น มันเป็นการย้ายโลกแบบคนเมืองของตนเองไปไว้บนเขาในป่า ในทะเล โดยไม่ได้พาใจและตัวตนออกไปเปิดเพื่อสัมผัสกับความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย แต่ใช่ว่าที่กล่าวมาจะเป็นการโอ้อวดหรือยกตนข่มท่าน เพียงแต่อยากที่จะนำเสนอมุมมองและรูปแบบการท่องเที่ยวในอีกรูปแบบหนึ่งที่ทั้งให้ความรู้และความรู้สึกอีกแบบหนึ่งก็เท่านั้น