Skip to main content

กว่าจะถึงปลายทาง (3)

คอลัมน์/ชุมชน












'โลกใต้รองเท้าแตะ' เป็นนักเดินทางตัวยง เรื่องเล่าและเรื่องราวจากการเดินทางของเธอจึงมีเก็บไว้ในซุกในซอกของความทรงจำเธอเต็มไปหมด เธอจึงเก็บเล็กผสมน้อยในระหว่างทางของแต่ละวิธีการเดินทางที่ผ่านมาแต้มปันรอยยิ้มให้แก่เรือนพักนักเดินทางของเรา
 

 


"โลกใต้รองเท้าแตะ"


อะไรที่มันผ่านพ้นครั้งแรกไปได้แล้ว ความตื่นเต้นก็จะค่อย ๆ ผ่อนคลายลง จนเป็นปกติ การเขียนเรื่องลงเว็บย่อมเข้าสูตรเดียวกันกับการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางช่วงหยุดเทศกาล ถ้าใครไม่เคยลองย่อมไม่รู้ว่ามันมีเสน่ห์อย่างประหลาด (ว่าเข้านั่น) อาจตื่นเต้นบ้างในครั้งแรก แต่จะผ่านพ้นไปได้และกลายเป็นเรื่องธรรมดาในที่สุดในครั้งต่อไป


อ่อยเหยื่อไว้คราวที่แล้วว่าจะเล่าเรื่อง "เดินทางช่วงเทศกาล"คร ๆ ก็รู้ดีว่าการเดินทางช่วงเทศกาลไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ ตรุษจีน ตรุษไทย ตรุษแขก หรือวันหยุดยาวอื่นเท่าที่คนงานอย่างเรา ๆ จะเลือกหยุดได้นั้น มักถูกจัดให้เป็นประสบการณ์แสนสาหัสเข้าขั้นทรมานบันเทิง แต่เป็นเรื่องจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าท่านจะเป็นลูกกตัญญู หรือจัดเข้ากลุ่ม "อยู่เพื่อเที่ยว" วันหยุดเทศกาลจึงเป็นสวรรค์บันดาลโดยแท้ วันหยุดตามธรรมเนียมประเพณี 3 วัน ลารวมหัวท้ายอย่างสงกรานต์ที่ผ่านมาได้ไป 9 วันก็มี (แหม น่าอิจฉานัก ไม่รู้ทำบุญด้วยอะไรกัน)


เรื่องที่คนมักเข็ดขยาดกับการเดินทางช่วงเทศกาลก็คือกลัวว่าจะไม่มีตั๋วโดยสาร (เหมารวมหมดไม่ว่าจะรถทัวร์ รถไฟ เครื่องบิน) เพราะดีมานด์มากกว่าซัพพลาย อันนี้ก็ต้องแจ้งท่านทั้งหลายไว้เลยว่าที่ผ่านมา ฉันเดินทางผ่านฉลุยลุยตลอดในช่วงปีใหม่ สงกรานต์ แม้จะไม่ค่อยอยากออกเท่าไร แต่ก็ให้มีอันต้องไปทำธุระต่างจังหวัดช่วงนั้น 1-2 วันอยู่เสมอ แม้ไม่ถึงกับไปทุกปีก็ตาม


เคล็ดลับการเดินทางช่วงอย่างว่านั้น หากวางแผนการเดินทางได้ควรวางไว้แต่เนิ่น ๆ หลักการทั่วไปสำหรับการเดินทางโดยรถไฟ ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วล่วงหน้าได้ 3 เดือนหรือ90วันก่อนวันออกเดินทาง คิดง่าย ๆ คือกลับจากเที่ยวปีใหม่ยังไม่ทันหายเหนื่อยก็เตรียมซื้อตั๋วเที่ยวสงกรานต์ได้เลย


เมื่อมีหลักการหรือกฎทั่วไปแล้วก็ต้องมีข้อยกเว้น ยิ่งกับคนไทยที่ชอบทำอะไรตามใจคือไทยแท้ด้วยแล้ว ฝันไปเถอะ วางแผนล่วงหน้า 3 เดือน ภาพที่เราเห็นกันเจนตาก็คือ การต่อคิวยาวเหยียดเข้าซื้อตั๋วตามสถานีขนส่งทั้งหลายทั้งเหนือ ใต้ ออก ตก ก่อนวันเดินทางไม่กี่วัน นัยว่าชัวร์กว่า ลุ้นกว่า สร้างสีสันให้ชีวิตมากกว่ากันเยอะเลย


ปีแรก ๆ ของการเดินทางช่วงเทศกาล ตอนนั้นฉันเลือกเอาช่วงสงกรานต์ มิใช่ถือฤกษ์อะไร แต่บังเอิญว่างกระทันหัน เลยตัดสินใจเดินไปลองหาตั๋วแถวหมอชิต สมัยนั้นยังอยู่หมอชิตเก่าตรงที่เดี๋ยวนี้เป็นลานจอดรถของบีทีเอสไปแล้ว คลื่นคนเริ่มหนาตาเพราะเป็นช่วงแรก ๆ ของการเดินทางอพยพออกนอกกรุง ใจฉันก็เต้นตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ พลางคิด "ตูจะได้ตั๋วมั้ยเนี่ย" ช่องขายตั๋วหลายที่เริ่มวางป้าย ตั๋วระหว่างวันที่เท่านั้นถึงเท่านั้นหมดแล้ว ให้มาซื้อในวันเดินทางเลย แต่หลายช่องก็ยังมีพนักงานนั่งขายตั๋วกันอยู่ เลยลองสุ่มเข้าไปถามดูว่า


" พี่ ๆ ตั๋วไปเชียงใหม่คืนนี้ยังมีมั้ย"


" ไปกี่คนคะ" พนักงานสาวหน้าแฉล้มถามกลับมา


" คนเดียวค่ะ" ฉันตอบไปอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวที่สุด พลางกลั้นใจฟังคำตอบจากสวรรค์


" อ๋อมีค่ะ รอบนี้เลยยังมีว่างอยู่ คนเดียวเนี่ยง่าย"



เฮ้อโล่งไป พร้อมกับรู้แล้วว่าต้องใช้คติ แยกกันเดินถึงจะง่ายกว่า อย่าเดินทางเป็นกลุ่ม ฉันสรุปเป็นเคล็ดวิชาส่วนตัวในการเดินทางช่วงเทศกาล



ฉันเชื่อว่าตอนนี้บริษัทหลายแห่งก็ยังใช้วิธีแบบนี้ คือให้คนมาซื้อตั๋วในวันเดินทางเลยในช่วงสงกรานต์ เพราะเขากะดูความต้องการของคนกับจำนวนรถที่จะนำมาเสริมแบบวันต่อวัน เป็นอันว่าพอกันทั้งผู้โดยสารและผู้ประกอบการ


คุณ ๆ คงเคยได้ยินเรื่องเก้าอี้เสริมใช่ไหม ถ้าเป็นเก้าอี้เสริมดูหนังตามโรงก็ไม่เท่าไร แต่นี่เป็น เก้าอี้เสริมตรงแถวกลางของรถทัวร์ จากอุบลราชธานีเข้ากรุงเทพฯ ฉันเคยเห็นมาแล้ว


ช่วงปีใหม่ปีนั้นเป็นประสบการณ์ล่าสุด ฉันไปเที่ยวบ้านเพื่อนกับเพื่อนอีกคนแต่ต้องกลับก่อน เราไปกันอย่างกระทันหันมาก กระทันหันแบบว่าเจ้าหล่อนโทรมาชวนตอนเช้าบอกว่าโทรเช็คการรถไฟแล้วว่ายังมีตั๋วตู้นอนที่เขาเสริมขึ้นรับช่วงปีใหม่โดยเฉพาะ "ถ้าแกไป ฉันจะไปซื้อตั๋วทันที ออกเดินทางค่ำนี้" เออเอากะมันสิ เจอลูกนี้ฉันก็บ้าพอที่จะบอกว่าเออเอา ได้ตั๋วแล้วโทรมาบอกละกัน แล้วค่ำนั้นฉันก็ออกเดินทางด้วยรถไฟตู้นอนอย่างดี ไปค้างที่อุบลฯ คืนเดียว เพื่อที่จะเดินทางกลับในอีกคืนถัดมา ฉันหวั่นใจเหมือนกันว่าจะได้กลับมั้ยเนี่ยเพราะวันกลับมันตรงกับวันสุดท้ายของการหยุดพักผ่อน เรียกว่าเป็นช่วงพีคที่หมู่เฮาต้องกลับมาเฮ็ดงานกันแล้วล่ะอีหล่าเอ๊ย


ตอนซื้อตั๋วรถทัวร์ขากลับ เพื่อนเจ้าถิ่นของฉันก็ไหวพริบดีเป็นเลิศ หลังจากที่หาตั๋วของบริษัทอื่นไม่ได้ มันบอกว่าเท่าที่สังเกตเห็นว่ารถทัวร์ของบริษัท..มันเอ่ยชื่อบริษัททัวร์แห่งหนึ่งว่ามักจะมีออกช่วงเทศกาลเสมอ "ไม่รู้มันจัดการยังไง แต่ลองดูอันนี้ละกันน่าจะมีหวัง" แล้วก็เป็นอย่างที่ว่า พนักงานขายตั๋วบอกว่า "มีพี่ เที่ยวสองทุ่มคืนนี้ยังมี"


พอถึงเวลา ฉันก็ขึ้นไปนั่งประจำที่ตามเบอร์ที่ระบุไว้ ใกล้เวลารถออกแล้วแต่ยังดูไม่ค่อยพร้อมเท่าไร พอคนนั่งเต็มที่นั่งทั้งสองฟากแล้ว เด็กรถก็เริ่มเอาเก้าอี้พลาสติกกลมไม่มีพนักมาตั้งวางตรงทางเดินแถวกลางของรถ ณ บัดนั้น ฉันซาโตริขึ้นมาเลยว่า อ๋อมันเล่นอย่างนี้เองถึงได้มีที่นั่งเพิ่มขึ้นมาได้ ภูมิปัญญาชาวบ้านแสนยอดเยี่ยมจริง ฉันนึกไม่ออกว่าถ้าหากตัวเองต้องตกที่นั่งเก้าอี้เสริมจะผ่านพ้นคืนนั้นไปได้อย่างไร


จะว่าไปแล้วบริษัททัวร์นั้นก็คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารโดยเฉพาะผู้โดยสารสาว ๆ ไม่น้อยเลย ก่อนรถออก เด็กรถเดินตรวจตราความเรียบร้อยอีกครั้ง พอเห็นเก้าอี้คู่ไหนที่เป็นชายกับหญิงนั่งคู่ น้องเขาก็ถามก่อนว่ามาด้วยกันเปล่าพี่ ถ้าไม่ใช่เขาจะเชิญผู้โดยสารคนใดคนหนึ่งให้ไปนั่งคู่กับเพศเดียวกัน ชายนั่งกับชาย หญิงนั่งกับหญิง น้องเขาไม่บอกเหตุผลหรอกแต่เข้าใจได้ว่าคงไม่อยากให้เกิดกรณีลวนลามบนรถประจำทางให้เสียอารมณ์


นวัตกรรมอย่างที่ว่ามานี้นี่ไม่รู้เกิดขึ้นได้อย่างไร ช่างเก๋ไก๋เหลือประมาณ สาบานได้ว่าไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนนอกจากทัวร์สายอุบลฯ-กรุงเทพช่วงเทศกาล


เอาล่ะ "กว่าจะถึงปลายทาง" ได้เดินทางมาถึงตอนที่ 3 ซึ่งน่าจะเป็นตอนจบได้เสียที ทำท่าว่าจะเลียนแบบหนังไตรภาคอย่าง ลอร์ด ออฟ เดอะริงส์ เสียแล้ว ทั้งหมดที่เล่ามาก็แค่อยากแบ่งปันประสบการณ์สนุก ๆ ระหว่างการเดินทางให้เพื่อนผู้ไม่รู้จักหน้าได้ร่วมฮาร่วมขำกันบ้างพอสมควร

คงต้องขอจบกันดื้อ ๆ อย่างนี้แหล่ะ ไว้โอกาสหน้าค่อยเจอกันใหม่ ตามป้ายรถเมล์ รถทัวร์ และสถานีรถไฟทั่วราชอาณาจักร สวัสดี