Skip to main content

ผู้หญิงดูฟุตบอล

คอลัมน์/ชุมชน


ทอแสง เคยแวะมาเล่าเรื่องราวประสบการณ์ในคอลัมน์ "ผู้หญิงนอกกรอบ" ให้ประชาไท คราวนี้ขอเวียนมาเยือนเรือนพักนักเดินทาง เล่าประสบการณ์จากต่างแดน


ทอแสง  


ดิฉันมี " โอกาสดี" ได้ดูฟุตบอลดีวีชั่นหนึ่งบุนเดสลีก้าของเยอรมันถึงขอบสนามสามนัดด้วยกัน หากนับย้อนไป ดิฉันไม่ใช่แฟนลูกหนังตัวยง พันธุ์แท้หรือพันธุ์ทางอะไรหรอกค่ะ แต่การที่ดิฉันได้ดูการแข่งฟุตบอลในสนามจริง ทำให้ดิฉันเริ่มสนใจและดูฟุตบอลมากที่สุดตั้งแต่เกิดมาก็ว่าได้ค่ะ เพราะ การไปดูฟุตบอลแต่ละครั้งดิฉันได้เห็นบรรยากาศของ " กีฬา" อย่างจริงจัง อาจจะเป็นเรื่อง " เก่า" ของใครหลายคน แต่สำหรับสายตาและมุมมองของดิฉันนับว่า " ใหม่" มากค่ะ


เริ่มจากไม่มีความรู้เรื่องฟุตบอลของเยอรมันหรือชาติใดในโลกเลย ไม่ได้ชื่นชอบทีมใดเป็นพิเศษ แต่ครั้งแรกที่ได้เหยียบสนามก็ประมาณว่า " ไปดูบรรยากาศ" ของสนามกีฬามากกว่า เพื่อนดิฉันขับรถออกมาจากบ้านเพื่อจอดไว้ที่ลานจอดรถ ขอบอกว่าฟรีค่ะ จากนั้นก็ต่อรถไฟไปสนาม ซึ่งราคาค่าโดยสารก็ถูกรวมไว้ในตั๋วดูฟุตบอลแล้ว หากสนามอยู่นอกเมืองก็จะมีรถเมล์ รถรางบริการ ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้คนใช้บริการสาธารณะมากขึ้นด้วย


เวลาการแข่งขันเริ่มบ่ายสามโมงครึ่งของวันเสาร์ หากแต่ช่วงเที่ยงหรือบ่ายหน่อยๆ ก็เตรียมตัวมุ่งหน้าออกไปสนามแล้วค่ะ เหมือนเป็นขบวนที่ต้องการแสดงศรัทธาต่อบางสิ่งบางอย่าง อารมณ์นั้น บรรยากาศให้แบบนั้นจริง ก็เริ่มตั้งแต่เสื้อ ธง ผ้าพันคอ เขียนหน้าทาแก้ม สารพัด แบบว่าออกจากบ้านมาก็รู้ว่าจะไปสนามฟุตบอลน่ะ หากมีลูกเด็กเล็กแดง ก็จะมีชุดของเด็กๆ อย่างที่เราเคยเห็นทางโทรทัศน์นั่นแหละค่ะ พอถึงหน้าสนามก็มีการพูดคุยกับเพื่อนฝูง ประมาณว่าวิเคราะห์เกมและก็ดื่มเบียร์เล็กน้อย ( หมายถึง 2-3 กระป๋องขึ้นไปค่ะ) เพื่อนชาวเยอรมันของดิฉันบอกว่า " คนเยอรมันเกือบครึ่งจะไปที่สนามฟุตบอล ส่วนที่เหลือก็ดูการถ่ายทอดสดที่บ้าน"


ส่วนเพื่อนอีกคนสำทับว่า " คนเยอรมันมีชีวิตเพื่อกีฬา และกีฬาก็คือฟุตบอลนั่นเอง พอชนะก็ดื่มเบียร์ แต่พอแพ้ก็ดื่มเบียร์มากขึ้น" แหม น่าอิจฉาเสียจริง ดิฉันก็ชอบดื่มเบียร์ค่ะ แต่พอไปอยู่ที่นั่น ดิฉันเป็นคอใหม่หัดดื่มไปเลยค่ะ ( แป่วววว)


นัดแรกที่ได้ดู ดิฉันก็ตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศของสนาม คนในสนามประมาณสองหมื่นกว่าคน ต้องเรียกว่าลานตาไปหมดค่ะ มีซุ้มเบียร์ที่มีไว้คอยบริการ มีดีเจเปิดเพลง ใครใคร่เต้นก็เต้น ก่อนการเข้าสนามต้องตรวจเรื่องความปลอดภัยเสียก่อนนะคะ เจ้าหน้าที่ก็แยกชายหญิงเพื่อความสะดวกในการลูบหรือคลำตามร่างกายก่อนว่าอะไรเอาเข้าไปได้บ้าง วันนั้นดิฉันเอากล้องถ่ายรูปไปและถ่านสำรองอีกสองก้อน แต่ว่าต้องฝากถ่านเอาไว้ เขาไม่ให้เอาเข้าไปอ่ะ คงกลัวว่าดิฉันจะปาลงไปในสนามโดนหัวนักเตะเข้า แต่ว่า … เห็นชุดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่นี่แล้วเนี่ย คิดว่าจะไปออกรบเสียอีก แหม…. ก็ดูรูปซิคะ เต็มยศซะ


Text Box:


ระหว่างที่ดิฉันดูฟุตบอลก็สังเกตอารมณ์คนข้าง ๆ ไปด้วย นัดแรกได้เห็นครอบครัวหนึ่งมีพ่อแม่ลูกสาว ลูกชายอายุไม่น่าเกิน 7 –8 ขวบ แน่นอนค่ะ อุปกรณ์ครบชุดทั้งครอบครัว ดิฉันก็ยืนข้างๆครอบครัวนี้ ส่วนอีกสองนัดเนี่ย เพื่อนดิฉันเป็นแฟนที่เรียกว่าแนบแน่นของทีมไมนซ์ (Mainz) เธอกับเพื่อนซื้อตั๋วรายปีเลยค่ะ ทุกวันเสาร์เว้นเสาร์ที่จะมีรายการเตะที่เมืองไมนซ์ด้วย อย่างที่เรียกว่า " เหย้ากับเยือน" นั่นแหละค่ะ ฉะนั้นทั้งสองคนก็จะมีที่นั่งที่เดิมตลอดปี แบบว่าพอดิฉันไป เพื่อนของเธอก็เสียสละที่นั่งให้ดิฉัน แล้วก็ไปยืนอีกมุมหนึ่งของสนาม ดิฉันได้นั่งติดกับคุณแม่กับลูกชายวัยรุ่นที่ต่างคุยกันออกรสชาติระหว่างการแข่งขัน ซึ่งเพื่อนดิฉันแอบค่อนขอดว่า " สองแม่ลูกนี้ช่างขี้บ่น โวยวายกันเสียจริง" แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แม่ลูกคู่นี้ใครเป็นแฟนของทีมไมน์มาก่อน เพื่อนดิฉันก็รีบบอกว่า ต้องเป็นแม่สมัยเป็นสาว ๆ แน่เลย แล้วก็พาลูกมาสนามตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งปัจจุบัน แหม… ก็อายุทีมไมนซ์ปีนี้ก็ครบร้อยปีพอดีค่ะ


ขั้นตอนการดูการเชียร์ก็มีลำดับนะคะ ต้องมีโฆษกสนามเพื่อกระตุ้นอารมณ์ของบรรดาแฟนานุแฟนจากอัฒจันทร์ทั้งสี่มุม ก็ประมาณ " ขอเสียงหน่อย" แต่ว่าสนุกสนานมากกว่านั้น แหมคนเกือบสองหมื่น ไม่เร้าใจก็ไม่ไหวแล้วค่ะ พ่อโฆษกสนามร่างตุ้ยนุ้ยคนนี้เคยประกาศลาออก แต่มีแฟน ๆ เขียนอีเมลไปบอกว่าไม่อยากให้ออกเลย อยู่ต่อเถอะ พ่อคนนี้ก็ทนเสียงขอร้องไม่ไหว ก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป แต่เห็นว่าจะทำอีกปีเดียวก็จะขอเกษียณตัวเองแล้ว การเชียร์ก็เริ่มต้นด้วยเพลงเชียร์ ชูผ้าพันคอ จังหวะตบมือ การยื่นมือไปข้างหน้าแล้วสั่นมือช่วงที่ทีมตนเองได้ลูกเตะมุมหรือได้ลูกโทษ ก็มีท่าทางประกอบ หลังๆดิฉันก็เริ่มออกอาการกับเขาบ้าง แบบว่าโดนเพื่อนสะกิดอ่ะ


หากทีมได้ประตูนี้นะคะ อาการดีใจของบรรดาแฟนๆก็ตีมือ กระโดดโลดเต้น เชียร์อย่างเอาเป็นเอาตาย อารมณ์นั้นเนี่ย ดิฉันก็ทำตามบ้าง ก็มันตื่นเต้นนี่คะ ระหว่างแข่งหรือพักครึ่งก็ลงไปซื้อเบียร์ หากใครไม่อยากไป หรือไม่อยากพลาดเกมก็ฝากเพื่อนข้างๆ ซื้อก็ได้ แหม .. นั่งด้วยกันมาเป็นปี ฝากไม่ได้ก็ให้มันรู้ไปเด่… เพื่อนบอกว่า หากคนที่มีตั๋วแล้วมาไม่ได้ ก็จะขายตั๋วให้เพื่อนคนอื่นมาดูแทน เป็นเหมือนชุมชนฟุตบอลที่รู้จักมักคุ้นกัน นี่ไม่นับรวมร้านขายเบียร์ (football bar) ของทีม ที่ต้องไปฉลองชัยชนะหรือความพ่ายแพ้กันที่นี่ ประมาณว่าลูกค้าทั้งหมดของงร้านเป็นแฟนของทีมไมนซ์นั่นแหละค่ะ


สิ่งที่สะดุดตาดิฉัน คือ แม่พาลูกสาวมาดูกีฬาที่สนาม จนต้องถ่ายรูปมาฝาก เมื่อดิฉันกลับมาบ้านเรา ดิฉันได้ดูการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 ( วันเสาร์ประมาณสองทุ่ม) แชมป์ของฤดูกาลนี้คือบาร์เยิน มิวนิคค่ะ เหล่าบรรดานักเตะก็หอบลูกเข้ามาในสนามเพื่อแสดงความยินดี เฉลิมฉลอง ( เอ…. ไม่ยักกะให้เมียเข้ามาด้วยแฮะ) เห็นโอลิเวอร์ คาห์น ผู้รักษาประตูมือฉมัง พาลูกสาวตัวน้อยมาด้วย ( ทำเอาหัวใจสลายบ้างเล็กน้อย… ไม่เป็นไรค่ะ) ยังไม่พอนะคะ กล้องได้ถ่ายภาพมุมใกล้ที่ผู้บริหารทีมคนหนึ่งหยิบลูกอมให้กับหลานตัวน้อย ช่างน่ารัก น่าชังเสียจริง


ดิฉันไม่เห็นบรรยากาศแบบนี้ที่บ้านเราเท่าไรนัก การปลูกฝังกีฬาให้กับเด็กตั้งแต่เด็ก การสร้างบรรยากาศที่ให้คนรักกีฬา เอื้ออำนวยให้คนมาดู มาเล่นกีฬา ดิฉันเห็นใคร ๆ ที่บ้านเราชอบพูดว่า " เล่นกีฬาต้านยาเสพติด" เหมือนท่องจำ ดูมันแห้ง ๆ ไม่มีชีวิตชีวา ทำให้มองไม่เห็นความสนุก ความสุขหรือความเพลิดเพลินที่ได้รับจากเล่นหรือดูกีฬาเลย หัวใจของกีฬาหายไปไหนคะ ยังไม่พอค่ะ หลังจากที่ดิฉันกับเพื่อนเข้าห้องน้ำ กินเบียร์ กินไส้กรอกกันพุงกาง ดิฉันเห็นชายชราสองคน อายุน่าจะราวเจ็ดสิบกว่า ๆ กอดคอกันเดินช้า ๆ ออกจากสนาม ดิฉันรีบบอกเพื่อนว่า " นั่นไง อนาคตของเธอกับเพื่อน" เขาก็หัวเราะชอบใจ นี่แหละค่ะ กีฬาคือชีวิต


Text Box:


Text Box:


Text Box: