Skip to main content

ตามสายน้ำ : รักของเราไหลไปตามสายน้ำ

คอลัมน์/ชุมชน

ความรักคงมีหลากหลายแบบ เหมือนกับชื่อของหนังไทยเรื่องหนึ่ง "รักออกแบบไม่ได้" เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่พยายามสร้างแบบของมันให้ลงตัวที่สุด เพียงเพื่อหวังให้ความรักมันมั่นคงถาวร เหมือนกับการออกแบบบ้าน เพื่อสร้างบ้านให้มั่นคงถาวร แต่ก็ลืมไปว่า ถึงแม้บ้านมันจะมั่นคงเพียงใดก็ตาม จะออกแบบได้สวยงามถาวรเพียงใด สักวันหนึ่ง อาจจะเป็นด้วยเงื่อนไขแห่งเวลา หรือเงื่อนไขอื่นใดก็ตาม บางครั้งบ้านหลังนั้น ก็อาจจะต้องรื้อเพื่อสร้างใหม่ และบางทีอาจจะต้องออกแบบใหม่อีกครั้งหนึ่ง



ความรักก็คงเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ใช่ไหม ?


รักบางรูปแบบ ดูเหมือนจะมีคู่มือ หรือเครื่องนำทางบางอย่างคอยแนะแนวทางแห่งความรัก คอยชี้ทางในความเป็นไป เหมือนรักของชายหญิง และในความรักอีกรูปแบบ รักของชาย- ชาย หญิง-หญิง ความรักคงเหมือนกับการเดินทางในป่าที่รกชัฏ ไร้ซึ่งเข็มทิศ แผนที่ และคนนำทาง ต่างคนก็คงต้องเป็นเหมือนที่พึ่งกันและกัน ที่จะต้องคอยพากันไปสู่จุดหมายปลายทาง หรือไม่ก็อาจจะต้องพลัดพราก หรือบางทีก็อาจต้องตายอย่างโดดเดี่ยวกลางป่า


รักของเกย์ ก็คงเป็นเช่นนั้น ใครบางคนบอกว่ารักนี้เหมือนมีคำสาป คำสาปที่ให้มีรัก แต่ไม่ยอมให้มีรักที่ยั่งยืนและมั่นคง เกย์บางคนดิ้นรนค้นหา บางคนก้มหน้าปล่อยชะตาไปตามคำสาป เลือกความสัมพันธ์เพียงชั่วครู่ยาม บางคนฝืนท้าคำสาปประกาศกล้าเพื่อพิสูจน์รักแท้ แต่แล้วก็อาจจะค้นพบว่าแท้สุดแล้วก็ต้องปล่อยวาง เหมือนดังเช่น กฤติ เกย์ผู้ปรารถนารักแท้ รักแท้คำตอบที่เขาคิดว่ามนจะนำพาเขา "หลุดพ้น" จากอะไรบางอย่าง


ตามสายน้ำ (Down the River) เป็นหนังสั้น ผลงานนิสิตจากนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำกับการแสดงโดยอนุชา บุญยวรรธนะ ซึ่งถือเป็นผลงานเพื่อจบการศึกษาของเขา และหนังเรื่องนี้ยังได้รับรางวัล "รางวัลวิจิตรมาตรา" และ "รางวัล The Competition (ถ่ายภาพยอดเยี่ยม)" จาก เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 8 (ปี 2547) จัดโดย มูลนิธิหนังไทย และสนง.ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม


หนังเรื่องตามสายน้ำ เป็นหนังที่กล่าวถึงเรื่องเกย์กับพุทธศาสนา ผู้กำกับหนังเรื่องนี้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ได้รับแรงบันดาลใจการสร้างหนังเรื่องนี้จากการที่ได้อ่านหนังสือบรมธรรมของพุทธทาสภิกขุ โดยได้นำแนวคิดเรื่องไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ) และ "ความเย็น" แห่งพระพุทธศาสนา และศิลปะไทยเป็นสื่อผ่านในหนัง ในการเล่าสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ และความไม่เที่ยงในความรักของตัวละคร ผ่านเรื่องราวการค้นหา และเหนี่ยวรัก ความรัก และคนรักของเกย์อย่างกฤต


เรื่องราวในตามสายน้ำ ได้เปรียบเปรยเรื่องเกย์และพระพุทธศาสนาไว้อย่างน่าสนใจ และสวยงามในเชิงศิลปะของหนัง กฤติ ต้องการที่จะชวนแฟนหนุ่ม วิน ผู้ที่ยังไม่สามารถจะยอมรับตัวเองได้ว่าเป็น "เกย์" ขึ้นไปไหว้พระบน "ชั้นเจ็ด" ของน้ำตกแห่งหนึ่ง เรื่องราวของเกย์ทั้งสองคนถูกเล่าตัดสลับกับการเดินทางขึ้นไปในแต่ละชั้นของน้ำตก ทั้งเรื่องของความรัก ความใคร่ ตัวตน กิเลศ ตัณหา


การไปถึง "ชั้นเจ็ด" ของน้ำตกนั้น เพื่อไปไหว้พระ การไปไหว้พระเป็นของกฤติเพื่อขอพรจากพระเพื่อให้ความรักของตนสุขสมหวัง น้ำตกชั้นที่เจ็ดในความหมายของกฤติคงเป็นเสมือนกับการ "ความอิ่มเอมอย่างที่สุดในรักและเพศรส" อย่างที่ตนเองต้องการจากวิน ชายผู้เป็นที่รัก และการหลุดพ้นจากสภาวะความไม่เที่ยงแห่งรัก เมื่อพรจากพระอันศักดิ์สิทธิ์เป็นจริงดั่งปรารถนา สิ่งสูงสุดในพุทธศาสนา คือนิพพาน การหลุดพ้นจากไตรลักษณ์ทั้งสาม สิ่งสูงสุดในวิถีแห่งรัก ก็คงเป็นการได้เสพความสุขแห่งเพศรสในรักอย่างยั่งยืน และเที่ยงแท้แน่นอน


กฤติ ชอบเก็บสิ่งต่าง ๆ มาทับไว้ในหนังสือ ดอกไม้ ใบไม้ แม้กระทั่งปุยนุ่น เป็นเสมือนกับการเก็บเรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างกฤติกับวิน เพื่อที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวบางอย่างของทั้งสองคนไว้ด้วยกัน แต่ปุยนุ่นนั้น เมื่อมันแตกออกมาจากฝักของมัน มันก็จะล่องลอยไปตามสายลมที่พัดไป ตกสู่พื้นดิน และบางทีพื้นน้ำ และก็ย่อยสลาย หายไป


การที่กฤติพยายามเหนี่ยวรั้ง ยึดถือ วิน ชายหนุ่มผู้เป็นที่รัก ในการขึ้นไปไหว้พระบนน้ำตกชั้นที่เจ็ด เพื่อเป็นการหลุดพ้น หรือบรรลุในจุดประสงค์อะไรบางอย่างในทางโลกแห่งความรัก แต่ในขณะเดียวกัน การยึดเหนี่ยวตัวตนของคนอีกคนหนึ่งไว้ เพื่อถามหารักแท้ หรือความยั่งยืนเที่ยงแท้ในวิถีแห่งรัก (ของเกย์ ) นั้นกลับเป็นการสร้างทุกข์ แรงราคะ แรงปรารถนาทางเพศรส และความรักอย่างยั่งยืนในตัวชายผู้เป็นที่รัก กลับเป็นการยึดถือตัวตน ที่เป็นเหตุนำพาแห่งทุกข์ในทางพุทธศาสนา และเป็นเหตุอุปสรรคในการ "หลุดพ้น" จากความไม่เที่ยงอย่างแท้จริง


แท้จริงแล้วสุขที่ยั่งยืนในความรัก ก็คือทุกข์ที่ยั่งยืนในพุทธศาสนา ?


ในท้ายที่สุด กฤติเองก็ได้พบแล้วว่า การหลุดพ้นที่แท้จริง ไม่ใช่หลุดพ้นจากคำสาปคือรักที่ไม่มีวันประสบความสำเร็จของเกย์ ให้เป็นรักที่เที่ยงแท้ยั่งยืน ไม่ใช่การนำพากันและกันไปสู่สวรรค์ "ชั้นเจ็ด" แต่การหลุดพ้นที่แท้จริง คือการที่รู้จัก "ปล่อยวาง" "เลิกยึดถือ" ในความรัก เพราะแท้จริงแล้ว "รัก" ไม่ว่าจะเป็นรักแบบไหน รักกันเพียงชั่วข้ามคืน หรือรักกันไปจนตาย รักก็คือความไม่เที่ยงแท้นั่นเอง


หากรักไม่เที่ยงแท้ตั้งแต่ต้น แล้วเราจะมีรักไปทำไม ?


ฉันคิดว่า หนังเรื่องนี้ อาจจะไม่ได้พูดเพียงแค่รักของเกย์ หรือแสดงภาพความไม่เที่ยงแท้ของความสัมพันธ์แบบเกย์เพียงเท่านั้น ซึ่งถ้าจะว่ากันอย่างแท้จริงแล้ว ความไม่เที่ยงแท้ในความรักล้วนเกิดได้ในทุก ๆ เพศ ไม่ว่าจะเป็นเกย์ หรือชายหญิงเองก็ตาม เพียงแต่ทางเลือกในการใช้ชีวิตของแต่ละแบบนั้นไม่เหมือนกัน ชายหญิงอาจจะมีการแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก มีรูปแบบที่หลากหลายมากกว่า ซึ่งทำให้คนสองคนอยู่ด้วยกันไปจนวาระสุดท้าย โดยไม่ต้องถามหาว่าความรัก


แต่ในรูปแบบความรักของเกย์ ซึ่งไม่มีสิ่งใดผูกพันกันไว้ด้วยกัน นอกจากความรักและเซ็กส์ และเมื่อความรักไม่เที่ยงแท้ เซ็กส์ก็เป็นสิ่งที่แยกขาดจากความรักโดยสิ้นเชิง จึงกลายเป็นเหมือนว่า ความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ "ไม่แน่นอน" ทั้ง ๆ ที่ ความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ในทุก ๆ แบบนั้นล้วนเท่ากัน เพราะการอยู่ด้วยกันไปจนตาย กับการรักกันไปจนตายเป็นคนละเรื่อง คนละความหมายโดยสิ้นเชิง


เมื่อเราเลือกที่จะรักแล้ว การหลุดพ้นในความหมายนี้ คงไม่ใช่การปล่อยวางทุกสิ่งเพื่อให้ถึงนิพพานแต่อย่างใด แต่การหลุดพ้นรัก คงหมายถึง การมองมันอย่างที่มันเป็น ในเมื่อรักมันไม่เที่ยงแท้ตั้งแต่แรก คงไม่ได้หมายถึงเราไม่ต้องรัก แต่คงหมายถึง เรียนรู้มัน อย่าเป็นสิ่งที่พร้อมที่จะเกิดและพร้อมที่จะหายไปได้ทุกเมื่อ เมื่อเลือกที่จะรัก เลือกที่จะยึดถือ หากรักแล้วสุขก็คงไม่เป็นไร แต่เมื่อใดก็ตามที่รักแล้วยึดถือไว้ก็พลอยแต่ทุกข์ พลอยแต่เจ็บ การปล่อยวางคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ปล่อยวางเพื่อให้หลุดพ้นจากรักที่ทุกข์ เพื่ออาจจะนำไปสู่รักที่สุข


ถึงแม้ว่าความสุขก็ไม่เที่ยงแท้เช่นเดียวกัน เพราะสุดท้าย เราเองเลือกที่จะอยู่กับความไม่เที่ยงแท้ไม่ใช่หรือ ?