Skip to main content

Since Otar Left : โกหกนั้นบาป ?

คอลัมน์/ชุมชน

เคยโกหกไหม ?


ทุกคนคงเคยโกหกสินะ นี่อาจจะเป็นพฤติกรรมของมนุษยชาติก็เป็นได้ ไม่ว่าใครก็เคยโกหกทั้งนั้น เพียงแต่การโกหกนั้นจะเป็นไปด้วยเหตุ (ผล) อันใด หรือเพื่ออะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางคนอาจะโกหกเพียงเพื่อความสนุกสนาน บางคนอาจจะโกหกเพื่อปกปิดความผิดที่ตนเองได้กระทำมา หรือบางคนก็อาจจะต้องโกหกเพื่อให้ชีวิตอีกชีวิตหนึ่งอยู่รอด


เหมือนกับ…โกหกเอก้า


เอก้า เป็นหญิงชราธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างจอร์เจีย ฉันมีความรู้เรื่องประเทศจอร์เจียน้อยมาก รู้แต่เพียงว่าจอร์เจียเป็นประเทศที่แยกตัวออกมาภายหลังที่โซเวียตล่มสลาย เป็นประเทศที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเอเชียกับยุโรป ประกอบด้วยผู้คนมากมายหลากหลายภาษาและชาติพันธุ์


เอก้าคงจะใช้ชีวิตมาตั้งแต่สมัยที่จอร์เจียยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต อาศัยอยู่กับลูกสาว มาริน่า และหลานสาวอีกหนึ่งคน เอด้า ในอพาร์ตเม้นต์เล็ก ๆ ในเมืองทบิลิชิ เอก้าเองมีลูกชายอีกคนชื่อโอทาร์ โอทาร์ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วย แต่ไปทำงานที่ปารีส ลูกชายคนเดียวที่แม่รักมากที่สุด


ฉันไม่รู้ว่า วัฒนธรรมการรักลูกผู้ชายมากกว่าลุกผู้หญิงนั้นเป็นวัฒนธรรมของชนชาติไหน อย่างที่ชัดเจนที่สุดคงจะเป็นจีน หรืออาจจะร่วมด้วยไทย ที่อาจได้รับวัฒนธรรมการักลูกชายมากกว่าลูกสาวมาจากจีน แต่ไม่แน่ใจว่าในกรณีของเอก้า หญิงชาวจอร์เจียนี้ การรักลูกชายโอทาร์มากกว่าลูกสาวอย่างมาริน่านั้น เป็นวัฒนธรรมของจอร์เจียด้วยหรือเปล่า ?


แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันสัมผัสได้คือความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมครอบครัว ในเรื่องราวของครอบครัวเอก้ากับครอบครัวในวัฒนธรรมไทย ลูกชายมักจะได้รับการปฏิบัติที่พิเศษจากแม่ ในทางกลับกันลูกสาวกลับไม่ อาจจะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม แต่เมื่อในช่วงสุดท้ายของชีวิต ฉันมักเห็นลูกสาวเป็นคนที่อยู่ใกล้ ๆ กับแม่เสมอ เช่นเดียวกับมาริน่า เธอไม่เคยโกรธ ถึงแม้โอทาร์จะเป็นลูกรักของเอก้าก็ตาม


ลูกสาวที่แม่ไม่รักอย่างมาริน่านี่แหละ ที่เลี้ยงดูปูเสื่อผู้เป็นแม่


โอทาร์มักส่งจดหมายพร้อมด้วยเงินจำนวนเล็กน้อย และโทรศัพท์มาหาเอก้าเสมอ นั่นเป็นสิ่งเดียวที่ยังแสดงถึงความรักและการมีชีวิตอยู่ของโอทาร์ ผู้ชายจากประเทศด้อยพัฒนา ที่ต้องดิ้นรนเพื่ออนาคตในการไปทำงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในฐานะแรงงานชั้นต่ำ


จดหมายและเสียงโทรศัพท์ นอกจากจะเป็นการแสดงความมีอยู่ของโอทาร์แล้ว ยังเป็นการแสดงความมีอยู่ต่อไปของเอก้าด้วยเช่นเดียวกัน เพราะทุกครั้งที่เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น หรือมีจดหมายมา ครั้งนั้นๆ ชีวิตของเอก้าก็จะถูกปลุกให้ตื่น สดใสราวกับฤดูใบไม้ผลิ


แล้ววันหนึ่งเสียงโทรศัพท์ก็หยุดดัง


มาริน่าได้รับข่าวว่าโอทาร์ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจนเสียชีวิต ข่าวร้าย และความเสียใจ ไม่ใช่เพียงการสูญเสียพี่ชาย สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัว แต่ยังรวมถึงชีวิตอีกชีวิตหนึ่งที่เหลืออยู่ ชีวิตของหญิงชราอีกคนที่เฝ้ารอความหวัง การได้พบหน้า กับลูกชายอันเป็นที่รักยิ่ง ชีวิตที่มาริน่าและเอด้าจะต้องรักษาไว้ด้วยการโกหก


โกหกนั้นบาปไหม ?


แน่นอน การโกหกเป็นสิ่งที่ไม่ดี และการโกหกเป็นการผิดศีล 5 ตามหลักพุทธศาสนา แต่การโกหกเพื่อให้ชีวิตอีกชีวิตหนึ่งอยู่ต่อไปได้ล่ะ เป็นบุญหรือเป็นบาป มาริน่าและเอด้า เห็นพ้องกันว่าไม่ว่าจะเป็นอย่างไร บาปหรือบุญ เอก้าก็คือสิ่งสำคัญที่ทั้งสองคนจะต้องช่วยกันให้ชีวิตนี้อยู่ต่อไปได้อย่างมีความหวังและกำลังใจ สำหรับหญิงชราคนนี้ จดหมายและเสียงโทรศัพท์นั่นคือหัวใจของเธอ


เอด้าตัดสินใจเขียนจดหมายถึงเอก้า เพื่อโกหกว่าโอทาร์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ปารีส หรือฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่เธอไม่รู้จัก ถึงแม้ว่าหญิงสาวที่เติบโตในประเทศด้อยพัฒนาคนนี้จะสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้ก็ตามที เธอรู้จักปารีสจากหนังสือ ปารีสที่รุ่มรวยไปด้วยภาษา วัฒนธรรม กวี ศิลปะ ปารีสที่สวยงาม ปารีสเมืองที่ก่อกำเนิดแห่งสิทธิและเสรีภาพ ปารีสในจินตนาการของเอด้าคือเมืองในฝัน เมืองแห่งโลกที่ทันสมัย เมืองแห่งเสรีภาพที่จะปลดปล่อยเธอจากจอร์เจีย แต่ปารีสแห่งนี้ก็คือเมืองที่ทำให้โอทาร์ต้องตาย ชายใช้แรงงานที่ต้องจบชีวิตลงในเมืองแห่งความหวังของประเทศโลกที่สาม



จดหมายฉบับแล้วฉบับเล่าที่เอด้าเฝ้าเพียรแต่งเรื่องขึ้น จนสุดท้ายเอด้าเริ่มที่ไม่สามารถจะต้านความความรู้สึกผิดบาปของการโกหกได้ แต่ก็เป็นเอก้าเองที่ตัดสินใจจะไปตามหาโอทาร์ที่ปารีส โดยการขายหนังสือของ "รุสโซ" ที่ตระกูลขอเธอเก็บไว้ช้านาน


รุสโซ เป็นนักปรัชญาการเมืองและกฎหมายชาวฝรั่งเศส ผู้คิดทฤษฎีเรื่องสัญญาประชาคม เป็นนักปรัชญาในยุคของการเรียกร้องเสรีภาพ เสมอภาค และความเป็นธรรมในสังคม เพื่อคัดค้านอำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 รุสโซ หรือหนังสือของรุสโซ จึงเป็นดั่งเสมือนตัวแทนเสรีภาพ เหมือนดั่งปารีส ที่จะปลดปล่อยประชาชน และผู้คนออกจากระบบสังคมอำนาจเบ็ดเสร็จของผู้ปกครอง


แล้วเอก้าก็ขาย (หนังสือแห่ง ) เสรีภาพเพื่อไป (เมืองแห่ง ) เสรีภาพ


Since Otar Left ไม่เพียงใช้เรื่องการโกหกเป็นแก่นในการดำเนินเรื่องราวของหนัง แต่หนังยังล่วงเลยไปถึงประเด็นของระบอบการเมืองการปกครอง เสรีประชาธิปไตย และสังคมนิยม คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เสรีภาพ และความใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า ผ่านเรื่องราวของครอบครัวคนธรรมดาที่ต้องปากกัดตีนถีบ เพื่อหาเลี้ยงชีวิตของตน ด้วยอาชีพที่ไร้ซึ่งหลักประกันแห่งชีวิต ด้วยชนชั้นและการศึกษาที่ต่ำต้อย ด้วยสังคมของประเทศด้อยพัฒนา


เอก้าบ่นเสมอเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำไม่ไหล ไฟดับ หรือรัฐบาลประกาศขึ้นค่าน้ำมัน พร้อมด้วยการก่นด่าเสรีภาพ เสรีประชาธิปไตยจอมปลอม ที่มาพร้อมกับความยากแค้นของประชาชน เอด้าเองก็ฝันถึงเสรีภาพที่แท้จริง ประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะปลดปล่อยเธอ จากชนชั้น ความยากจน ชีวิตที่จอร์เจีย


สังคมนิยมแบบโซเวียตเดิมกับเอก้า และจอร์เจียแบบเสรีประชาธิปไตยกับเอด้า จึงเป็นสิ่งที่คอยโต้เถียงกันอยู่เรื่อยไป บนพื้นฐานของคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ความยากจน ไม่ใช่หลักทฤษฎี เสรีภาพ หรืออะไรทั้งสิ้นที่อยู่ในหนังสือ


สุดท้าย เอก้า เอด้า และมาริน่า ก็ขายหนังสือแห่งเสรีภาพ เพื่อที่จะเมืองแห่งเสรีภาพ เมืองแห่งการปฏิวัติสู่เสรีประชาธิปไตย เพื่อที่จะพบกับ "ความจริง" อันเจ็บปวดที่เมืองแห่งเสรีภาพแห่งนี้


เสรีภาพใน Since Otar Left จึงมีราคาเพียงตั๋วเครื่องบิน เพื่อมาพบกับความจริงอันแสนเจ็บปวด (ที่ยอมรับได้)


เสรีภาพสำหรับเอด้า เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันถึง ถึงแม้ว่ามันจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวด แต่ถึงอย่างไร มันยังเป็นสิ่งที่เธอต้องการ


แต่สำหรับเอก้า หญิงชราคนนี้ เสรีภาพมันคือความจริงที่เธอไม่อยากจะพบเจอ เพราะเธอมีความสุขดีแล้วภายใต้ชีวิตแบบเดิมที่ถึงแม้ว่าจะไร้ซึ่งคำว่าเสรีภาพตามทฤษฎีในหนังสือ แต่น้ำก็ยังไหล ไฟก็ไม่ดับ


นั่นเพียงพอแล้วสำหรับเธอ