Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ(7) บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

สำนักพิมพ์มติชนวางหนังสือใหม่เรื่อง บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ราคาเล่มละ 90 บาท ถูกมหาถูก เมื่อเทียบกับที่สำนักพิมพ์มติชนเคยพิมพ์หนังสือให้ผมความหนาเท่านี้ราคาเกินร้อยไปหลายสิบ (ฮา)

หนังสือดี ราคาถูกเช่นนี้ ต้องอ่าน แปลว่าให้ไปซื้ออ่าน ห้ามยืม


บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นข้อเขียนของ น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิมพ์ครั้งแรกเป็นตอน ๆ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เมื่อปีที่แล้ว ครั้งนี้เป็นการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก



กรุณาอ่าน จะได้ทราบว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในบ้านเราหรือที่เรียกติดปากว่าโครงการสามสิบบาท มิใช่เรื่องเหลวไหลที่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน มิใช่เรื่องการเมืองที่เกิดขึ้นเพราะการเมือง มิใช่ของฟรีลดแลกแจกแถมเหมือนที่หลายคนกล่าวหา


แต่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดจากการทบทวนองค์ความรู้ทางสาธารณสุขอย่างรอบด้าน ใช้สูตรคำนวณทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขทุกขั้นตอน ผ่านการทดลองและวิจัยในหลายพื้นที่ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังทุกวันนี้


ที่สำคัญคือแม้ลงมือปฏิบัติแล้ว การวิจัยยังคงดำเนินต่อไปเพราะไม่มีระบบอะไรที่อยู่นิ่ง ๆ แล้วจะรอดได้ ระบบที่ดีควรมีพลวัตและพร้อมปรับเปลี่ยนทันทีเมื่อมีหลักฐานยืนยันว่าต้องปรับเปลี่ยน


กรุณาอ่าน จะได้ทราบว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในบ้านเราเป็นก้าวใหญ่ของการปฏิรูปสังคม มิใช่เป็นเพียงการปฏิรูประบบสาธารณสุข เรื่องนี้สำคัญ


การปฏิรูปสังคมเป็นเรื่องของทุกคนทั้งสังคม มิใช่เรื่องของคนสาธารณสุขหรือกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายเดียวลำพังคำนิยมและคำนำของบุคคลทั้ง 4 คือ ท่านนายกรัฐมนตรี นพ. ประเวศ วะสี สว.จอน อึ๊งภากรณ์ และ นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ก็เกินราคา 90 บาทไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำนำของ นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ต้องอ่านให้ละเอียด เพราะมีชื่อของผมด้วย (ฮา)


จะคัดประโยคที่ผมคิดว่าเด็ดของแต่ละท่านมาย้ำ


ท่านนายกรัฐมนตรี เขียนว่า " ปัจจุบันโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้ช่วยให้คนไทยกว่า 49 ล้านคนที่ไม่เคยมีหลักประกันสุขภาพใด ๆ มาก่อนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ในยามเจ็บป่วย "


ขอย้ำว่า 49 ล้านคนมิใช่น้อย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ให้คน 49 ล้านคนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่สำคัญคือบริการ 30 บาทมีคุณภาพดีวันดีคืน ถึงตอนนี้ดีแซงหน้าประกันสังคมและข้าราชการไปแล้ว บางแห่งยังไม่ดีเราก็ต้องช่วยกันรุมตรวจสอบให้ดีให้จงได้


นพ. ประเวศ วะสี เขียนถึง เรื่องปัญญาและเรื่องเขยื้อนภูเขา ขอขยายความว่าในไซอิ๋วนั้น พระถังซำจั๋งคือศรัทธา โป๊ยก่ายคือศีล ซัวเจ๋งคือสมาธิ เห้งเจียคือปัญญา มีแต่เห้งเจียที่เขยื้อนภูเขาอยู่หลายครั้ง


สว.จอน อึ๊งภากรณ์ เขียนว่า " บริการที่จำเป็นด้านสุขภาพเป็นสิทธิของทุกคน (ไม่ใช่บริการที่จะได้มามากหรือน้อยขึ้นกับจำนวนเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า) "


ถูกต้องครับ การรักษาพยาบาลที่จำเป็นนั้น สังคมศิวิไลซ์ต้องให้ฟรีถ้วนหน้า และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับยากดีมีจน


คนจนอย่าพอใจกับสังคมสงเคราะห์รักษาฟรี เพราะที่ควรจะได้คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและบริการคุณภาพที่เท่าเทียม มิใช่รักษาฟรีแต่คุณภาพชั้นสาม


คนรวยอย่าโง่เสียเงินที่ทำมาหากินมาด้วยความยากลำบากไปกับการรักษาพยาบาลแบบฟุ่มเฟือยสนองความต้องการของบริษัทยาและครุภัณฑ์การแพทย์ต่างชาติ


คนจนควรเห็นใจคนรวยที่สามารถจนเฉียบพลันทันทีเมื่อเป็นมะเร็ง คนรวยควรเห็นใจคนจนที่ได้รับบริการชั้นสามมานานหลายปี


ทั้งคนรวยคนจนควรช่วยกันพัฒนาคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะสังคมคุณภาพเป็นหน้าที่ของทุกคน


ปิดท้ายด้วยคำนำของ นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เองที่ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโมเดลสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของท่านอาจารย์ประเวศเป็นของจริงที่ทำได้ เมื่อสามเสาหลักคือฝ่ายการเมือง (นายกรัฐมนตรี) ฝ่ายปัญญา (นพ.ประเวศ) และฝ่ายประชาสังคม (สว.จอน) ร่วมมือกันเริ่มต้นงานยากได้สำเร็จ


ที่เหลือจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะเขยื้อนภูเขานี้ต่อไป