Skip to main content

" ความทรงจำที่ลำน้ำซองกาเรีย"

คอลัมน์/ชุมชน

โดย : สุเจน กรรพฤทธิ์


 


ฤดูหนาว 2548 … แม่น้ำซองกาเรีย


สายวันนั้น ผมกลับมาเยือนสถานที่คุ้นเคย


ใครไม่รู้กล่าวว่า " กาลเวลาทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ทำให้พบและพลัดพรากจากบางสิ่ง"


สายหมอก ขุนเขา ยืนตระหง่าน วันเวลาไหลไปไม่เคยเปลี่ยน สุดท้ายคือคน …



๑๑๑๑๑๑๑๑



มกราคม 2545 … ผมสัมผัสซองกาเรียครั้งแรก หลงรักบรรยากาศขณะเดินบนสะพานไม้ซึ่งทอดยาวเหยียดข้ามสายน้ำ


ทอดสายตามองหมู่บ้านปลายสะพาน มันไม่ต่างอะไรกับหมู่บ้านชนบททั่วไป ห่างไกล ขาดความเจริญ แต่มีเสน่ห์อย่างประหลาด


เดินผ่านบ้านมุงจาก มั่นคงบ้าง พังมิพังแหล่บ้างตามตรอกบนไหล่เขาข้างวัด


ที่นั่น … มีสะพานไม้เชื่อมร้อยผู้คน
ในตำราเรียน นึกไปถึงพระเจ้าฟ้ารั่วหรือมะกะโท ที่แอบพาพระธิดาพ่อขุนรามคำแหงหนี ต่อมารวบรวมแผ่นดินมอญ แล้วกลับไปขอพระราชทานอภัยโทษพ่อตา สุดท้ายก็สวามิภักดิ์สุโขทัย


พระเจ้าธรรมเจดีย์ พระนางเชงสอบู ราชาธิราช และ ฯลฯ กษัตริย์มอญเหล่านี้ผุดขึ้นในความทรงจำ


ถ้าเป็นดังพงศาวดาร วันนี้ลูกหลานมะกะโทยังกระจายอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย - พม่า รวมถึงในเมืองไทยอีกจำนวนนับไม่ถ้วน บ้างกลายเป็นคนไทยไปแล้ว แต่ก็ยังรักษาประเพณีได้อย่างยอดเยี่ยม นึกไม่ออกก็ที่พระประแดงนั่นไง เขาจัดงานสงกรานต์คนมอญทุกปี



รูปพระเจ้าราชาธิราชที่สามารถพบได้ในบ้านคนมอญ รวมไปถึงอาจพบรูปพระนเรศวร ซึ่งชาวมอญก็ให้ความเคารพนับถือไม่แพ้กัน


๑๑๑๑๑๑๑๑


 


" มอญไม่มีอยู่ในโลกนี้อีกแล้ว" อูถั่น ชาวพม่า อดีตเลขาฯ UN เคยประกาศก้องในที่ประชุมสหประชาชาติ


" ไม่! ผมนี่ละมอญ" เสียงอดีตนายกรัฐมนตรีไทยขัดขึ้นมา


ไม่มีใครรู้ว่าวันนั้น " อูถั่น" ทำหน้ายังไง…



๑๑๑๑๑๑๑๑



โลกโบราณช่างเล่นตลก กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมและอารยธรรมยิ่งใหญ่ ดูเหมือนจะพ่ายแพ้เผ่าที่เก่งการศึกสงครามอยู่ร่ำไป " มอญ" ก็ดูจะหนีไม่พ้นชะตากรรมนี้


หากแต่พวกเขาพ่ายแพ้เฉพาะการฆ่าฟัน มิได้พ่ายแพ้ทางวัฒนธรรม !


หลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ แสดงความจริงที่ผู้ชนะอย่างพม่าหรือแม้กระทั่งสยามที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณปฏิเสธไม่ได้ว่า มอญนั้นเป็นผู้ชนะทาง " อารยธรรม" อย่างชัดเจนในสองดินแดน


มอญเป็นชาติพันธุ์แรก ๆ ที่รับวัฒนธรรมจากอินเดีย นักวิชาการหลายท่านบอกว่า จุดศูนย์แรกของมอญอยู่ที่เมืองสะเทิม ชายฝั่งอันดามัน มีการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าอินเดียอาหรับอย่างคึกคัก เป็นที่มาของการรับศาสนาพุทธในยุครุ่งเรืองสุดขีดสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียที่ทรงมีพระราชศรัทธา ส่งพระธรรมทูตเผยแผ่พุทธศาสนาไปรอบ ๆ มหาอาณาจักรของพระองค์หลายสาย


พระเถระที่มาทางสุวรรณภูมิคือพระโสณะและอุตระ จุดแรกที่มาว่ากันว่าคืออาณาจักรมอญ เมื่อพม่าสมัยอาณาจักรพุกามรบชนะมอญที่สะเทิมได้ พระเจ้าอโนรธา มหาราชองค์แรกของพม่าก็กวาดต้อนนักปราชญ์และช่าง ในราชสำนักมอญไปด้วยซึ่งส่งอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมของพม่าต่อมาชั่วลูกชั่วหลาน โดยเฉพาะการก่อสร้างสิ่งเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ศิลปะมอญเข้าไปมีอิทธิพลไม่มากก็น้อย


สยามก็รับพุทธเถรวาทต่อจากมอญ ภาษามอญก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นธารภาษาไทยปัจจุบัน ในกรณีสยามต่างกับพม่าในด้านศาสนาก็ตรงที่รับเรื่องของพราหมณ์มาจากเขมรแล้วนำไปผสมกับพุทธที่รับมาจากมอญ ทำให้ศาสนาพุทธแบบสยามมีทั้ง พุทธ-พราหมณ์ ปะปนกัน


ใครอ่านประวัติศาสตร์คงจำได้ว่าอยุธยาถูกกองทัพ " อังวะ" สมัยพระเจ้ามังระตีแตกเมื่อ พ.ศ.2310 การเสียกรุงครั้งที่ 2 ครั้งนั้นได้กลายเป็น " ประวัติศาสตร์บาดแผล" ทำให้คนไทยยุคหลังนับร้อยปีมีม่านบัง มองพม่าที่ชายแดนตะวันตกติดกันกว่า 2,400 กิโลเมตรเป็นศัตรูจนถึงทุกวันนี้


ม่านนี้หนาแน่นแค่ไหน ? ดูง่ายๆ จากที่หลายคนเดินออกจากโรงภาพยนตร์หลังเรื่อง " บางระจัน" จบ ตอนนั้นร้อยละ 90 สามารถไปเผาเมืองหลวงเพื่อนบ้านทันทีในวันรุ่งขึ้นหากชาติต้องการ


ที่เล่าถึงสงครามเสียกรุงครั้งที่สองก็เพราะระหว่างสงคราม คนที่มีบทบาทมากก็คือมอญ คือถูกพม่าโดยพระเจ้าอลองพญาตีแตกก่อนแล้วเผ่นหนีมาไทย และเขตแดนอยุธยาก็ชนกับอังวะนับแต่นั้น


พระเจ้าอลองพญาเดิมทีเป็นไพร่ราบทหารม้าจากหมู่บ้านมุกโชโบ เริ่มจากกองทัพเล็กๆ ต่อสู้มอญที่รุกขึ้นไปทางเหนืออย่างหนักจนสามารถตีโต้ถึงขึ้นยึดมอญได้ทั้งอาณาจักรราว พ.ศ.2300


หลังจากนั้นมอญก็ไม่สามารถฟื้นตัวได้อีก กระจัดกระจายตามชายแดน มาอยุธยาบ้าง หลบตามป่าเขาบ้าง บางคนถูกกองทัพอังวะเกณฑ์ไปรบ แต่อย่างไรก็ตาม มอญมีส่วนในประวัติศาสตร์สงครามระหว่างอยุธยากับอังวะในระดับรายละเอียดตลอดมา จนอังกฤษยึดพม่าทั้งประเทศ สงครามระหว่างสยามกับคู่รักคู่แค้นฝั่งตะวันตกก็หยุดลง


" รัฐชาติ" ซึ่งต่างจากอาณาจักรโบราณ ถือกำเนิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบ " รัฐมอญ" มีหวังกำเนิดขึ้นอีกครั้ง แต่เมื่อนายพลอองซานบิดาเอกราชของพม่า ผู้ทำ " สนธิสัญญาปางโหลง" อันระบุว่าชนกลุ่มน้อยมีสิทธิแยกตัวจากสหภาพพม่าไปตั้งประเทศ เมื่อ 10 ปี (ของการกำเนิดพม่า) ผ่านไปถูกฆ่า สัญญาก็ถูกลืม และแทบไม่ต้องทวง เมื่อนายพลเนวินซึ่งเป็นเผด็จการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนพม่า (อูนุ) คำสัญญาก็กลายเป็นอากาศธาตุในบัดดล


มอญจึงไร้ประเทศอยู่ด้วยสาเหตุทางประวัติศาสตร์ ซ้ำร้ายต้องหนีจากเผด็จการที่เอาแต่ทารุณกดขี่คนในประเทศอย่างหัวซุกหัวซุนจนถึงปัจจุบัน มอญที่ผมพบในสังขละบุรี ก็คือลูกหลานมอญที่หนีภัยจากรัฐบาลเผด็จการมาทำมาหากินเมื่อหลายสิบปีก่อนนั่นเอง


สาวร มิตรชาวมอญที่อาศัยแถบนี้มานานบอกผมว่า หมู่บ้านวังกะตั้งขึ้นได้ด้วยเมตตาของหลวงพ่ออุตตมะ พระซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของมอญ ไทย กะเหรี่ยง ซึ่งท่านมีอีกสถานะเป็นเสาหลักของคนมอญในสังขละบุรีด้วย



๑๑๑๑๑๑๑๑



ซองกาเรียในอดีตไม่กว้างและเอ่อล้น เขื่อนเขาแหลมที่สร้างเมื่อปี 2527 ทำแม่น้ำเปลี่ยนโฉมไปพอสมควร


ปัจจุบันที่นี่มีแม่น้ำ 3 สายไหลรวมกันเป็นทะเลสาบเหนือเขื่อนคือ ซองกาเรีย บิคลี่ รันตี ทำให้น้ำเอ่อล้นตลอดปี ยกเว้นปีไหนแล้ง สันดอนจะโผล่กลางน้ำ ใครเคยอ่านหนังสือเล่มละ 25 บาท ชื่อ UNSEEN IN THAILAND ที่ ททท. ทำ เรื่องราวของวัดจมน้ำและเมืองบาดาล ก็คือสิ่งที่ซุกซ่อนใต้ผืนน้ำของเขื่อนเขาแหลมนี่เอง



" สามประสบ" จุดที่แม่น้ำสามสายไหลรวมกัน ทั้งเป็นจุดความทรงจำของชาวมอญที่อยู่ใต้ผืนน้ำในนาม "เมืองบาดาล"


 


" วัดจมน้ำ" คือวัดวังก์วิเวการามแห่งแรกที่หลวงพ่ออุตตมะเคยจำวัดสมัยสร้างหมู่บ้าน ไม่ใช่เมืองบาดาลอย่างที่จู่ ๆ ก็เกิดขึ้นใต้เขื่อนแบบไม่มีที่มา ตามที่ ททท.โฆษณาหลอกนักท่องเที่ยว


หมู่บ้านมอญเก่าก็อยู่รอบๆ วัดนั่นแล …


คิดขึ้นทีไรอดสะท้อนใจไม่ได้ เมื่อสังเกตสายตาของพวกเขาบางคน โดยเฉพาะคนเชื้อสายมอญรุ่นเก่า (ที่อพยพมาพร้อมพ่อและแม่พวกเขาเพื่อตั้งหมู่บ้านเมื่อหลายสิบปีก่อน) เหม่อมองไปใต้ผืนน้ำอย่างมีความหมาย


หนังสือหลวงพ่ออุตตมะบันทึกว่า ตอนเริ่มย้ายของหนีน้ำ งูเงี้ยวเขี้ยวขอโผล่ออกมามากมายขณะทางการปิดเขื่อน คนมอญต้องหาที่อยู่กันจ้าละหวั่น เพราะไม่มีสิทธิแต่อย่างใดในผืนดินที่ไม่ให้ความเป็นพลเมืองแก่พวกเขา คนมอญที่นี่ส่วนมากไม่มีบัตรประชาชน บ้านที่พวกเขาอยู่ปัจจุบันเป็นที่ดินของวัดหลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรรัฐบาลจะไล่พวกเขาออกไป … บางคนบอกว่าเมื่อสิ้นหลวงพ่อนั่นแหละ หายนะจะมาเยือน



๑๑๑๑๑๑๑๑


จุดขายของที่นี่อีกจุดหนึ่งคือ " สะพานไม้ หรือสะพานอุตมานุสรณ์"



สะพานไม้ สะพานมอญ สะพานอุตตมานุสรณ์ จะเรียกอย่างไรก็คือสะพานเดียวกัน


สะพานไม้ที่น่าจะยาวที่สุดในไทยสร้างตั้งแต่ปี 2529 ด้วยแรงศรัทธาต่อหลวงพ่ออุตตมะ เพราะหลังน้ำท่วมจากเขื่อน คนมอญต้องข้ามน้ำจากหมู่บ้านไปทำธุระที่ตัวอำเภออย่างยากลำบากด้วยสะพานรูปบวบที่นำมาต่อกันยาวเหยียด ซึ่งปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ไม่ดีบ่อย เด็กหลายคนจมน้ำ หลวงพ่อต้องออกมาเป็นผู้นำในการสร้างสะพานไม้ถาวร


เวลาก่อสร้าง 1 ปี ได้สะพานกว้าง 8 ยาว 200 เมตร จากที่ทดลองเดินก็น่าอัศจรรย์ เพราะตรงคำบอกเล่าชาวบ้านว่ามีทั้งหมด 673 ก้าว กลางสะพานมีจุดพัก 4 จุด


ยามเย็นเด็กหลายคนใช้จุดเหล่านี้กระโดดลงไปดื่มด่ำกับสายน้ำยามแสงตะวันสีทองสุดท้ายตัดขอบฟ้า


นอกจากวิถีชีวิตประจำวัน … มอญที่นี่ยังรักษาประเพณีไว้ได้ แม้กระแสสังคมสมัยใหม่จะเข้ามา ผมมีโอกาสดูพิธีกวนข้าวยาคูอันน่าตื่นตา ชาวบ้านต่างช่วยจับตะหลิวใบเบ้อเร่อกวนข้าวในกระทะขนาดใหญ่ ภาพหน้าเจดีย์พุทธคยาของวัดวังก์วิเวการาม ยังติดตามาจนถึงทุกวันนี้


แต่นั่นก็คืออดีต …


โดยสรุป ซองกาเรียบอกอะไรผมหลายอย่างในการสัญจรครานั้น . . . .



ต้นเดือนธันวาคม 2547… เสียงวิทยุดังทั่วไปในหมู่บ้าน วัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์โฉบไปมา


ผมงุนงง …. เวลา 3 ปี เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างินเตอร์เน็ต ร้านเกมผุดขึ้นมาหลายร้าน


คนชราในหมู่บ้านเหมือนเดิม แต่เด็ก ๆ ของพวกเขาเปลี่ยนไปแล้ว


ผมแอบเสียดายวิถีชีวิตสงบงาม แม้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงตามคำสอนพระพุทธองค์ ตระหนักรู้ว่าเราไม่มีสิทธิแช่แข็งพวกเขา กล่าวอย่างถึงที่สุด ผมมาที่นี่แทบทุกปีด้วยซ้ำ เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆของผู้คนและผืนน้ำ ควรจะทำใจได้


ปัญหาสัญชาติคาราคาซังต่อไป...ดีที่ไม่มีใครมาไล่คนมอญ อย่างน้อยก็ตอนที่การท่องเที่ยวมาแรง


ยามเย็น … ทะเลสาบซองกาเรียสงบนิ่ง สเตอริโอในหมู่บ้านเบาลงแล้ว


เย็นวันนั้น ไม่มีเด็ก ๆ กระโดดน้ำ …


นักเดินทางคนเดิม แอบคิดถึงซองกาเรียเมื่อ 3 ปีก่อนอยู่เงียบ ๆ