Skip to main content

ตามรอยประวัติศาสตร์ฉบับสามัญชน

คอลัมน์/ชุมชน










26/03/48


 

 


 


ผมกลับมาที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ อีกครั้ง ในวันที่การเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็น "พิพิธภัณฑ์ 14 ตุลาฯ" กำลังถูกก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ …หากเป็นการก้าวช้า ๆ ที่ยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่สะดุด


ผมมาที่นี่เพื่อเดินตามความคืบหน้าของพิพิธภัณฑ์ 14 ตุลาฯ ทั้งในฐานะของผู้ที่ต้องมาเล่าความคืบหน้าให้ท่านผู้อ่านได้ฟัง และในฐานะของแขกที่มักมาเยี่ยมเยือนอนุสรณ์สถานฯ อยู่บ้าง ในเวลาที่ที่นี่มีกิจกรรมต่าง ๆ


ผมพบกับเจ็ง - เจ้าหน้าที่ของอนุสรณ์สถานที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล เพื่อประกอบรูปร่างของพิพิธภัณฑ์ให้เสร็จสมบูรณ์ ตอนนี้เธอกำลังตามหาปากคำจาก "ผู้อยู่ในเหตุการณ์" ทั่วไป


เธอเล่าให้ฟังว่า ได้มีการประกาศตามหาข้อมูลจากผู้อยู่ในเหตุการณ์มาได้ส่วนหนึ่ง แต่ถึงกระนั้น ทางอนุสรณ์สถานฯ ก็ยังต้องการข้อมูลประจักษ์พยานมากกว่านี้ จึงต้องเริ่มเสาะหาข้อมูลของบุคคลที่เคยร่วมเหตุการณ์จากแหล่งต่าง ๆ


แหล่งหนึ่งที่ใช้ คือรูปภาพเหตุการณ์จากสื่อต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น ซึ่งนอกจากภาพบุคคลที่ "เป็นข่าว" ในช่วงเวลานั้น ก็ยังมีภาพของคนธรรมดา ๆ ในเหตุการณ์อยู่ ซึ่งภาพเหล่านี้แหละคือตัวสืบหาบุคคลในเหตุการณ์ชั้นดี


"พอเรารู้ว่าใครอยู่ในภาพนั้น เราก็จะถามเขาว่าคนที่ยืนอยู่ข้าง ๆ เป็นใคร ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง เพราะด้วยเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว บางทีเจ้าตัวก็ลืมไปแล้วว่าใครที่อยู่ข้าง ๆ" เจ็งเล่าให้เราฟัง


อีกแหล่งหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการตามหาผู้อยู่ในเหตุการณ์ คือ สำเนาจดหมายของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ถูกส่งมายังคอลัมน์ "เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์" บนหน้าหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2516 ซึ่งในตอนนั้นมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เขียนเล่าเหตุการณ์ในช่วง 14 ตุลาฯ เพื่อลงในคอลัมน์ดังกล่าว


สำเนาจดหมาย 126 ฉบับ เป็นเหมือนลายแทงในการตามหา แต่กระนั้นอุปสรรคก็ยังมีอยู่ เพราะจดหมายหลายฉบับไม่ได้ระบุชื่อ-ที่อยู่ไว้ บางฉบับแม้จะมีระบุไว้ แต่ช่วงเวลาที่ผ่านไปยาวนานก็ทำให้ไม่พ้นที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง


"ถ้าเป็นผู้หญิงที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น หลายคนก็แต่งงานไปแล้ว นามสกุลจึงเปลี่ยนไป บางคนก็เปลี่ยนชื่อ" เจ็งเล่าถึงอุปสรรคในการทำงาน


ผมหยิบจดหมายบางฉบับจากกองนั้นมานั่งอ่าน แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า 30 ปี แต่ความรู้สึก และภาพของเหตุการณ์ยังปรากฎผ่านตัวหนังสืออยู่ ผมยังรู้สึกถึงความฮึกเหิม ความโกลาหล ความโกรธแค้น ความร่วมมือร่วมใจปนคราบน้ำตายังคงกระจ่างอยู่ในนั้น



จดหมายเหล่านี้ นอกจากจะเป็นข้อมูลในการตามหาผู้อยู่ในเหตุการณ์แล้ว ยังทำให้ภาพของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีชีวิตชีวาและมีมิติลึกกว่าภาพจากมิติของ "ผู้นำนักศึกษา" ที่เราเคยรับรู้


ซึ่งคงเป็นสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ 14 ตุลาฯ หวังเอาไว้