Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ(8) ใครเป็นเจ้าของ

" ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ " คือวิสัยทัศน์หนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพ

ระบบหลักประกันสุขภาพ ประกอบด้วยผู้คนสามส่วน ส่วนที่หนึ่งคือผู้จัดหาบริการ ก็คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนที่สองคือผู้ให้บริการ ก็คือโรงพยาบาล ส่วนที่สามคือผู้รับบริการ ก็คือผู้ป่วย


เวลาพูดถึงผู้ให้บริการ จิตใจของเรามักคิดถึงแพทย์ พยาบาลและวิชาชีพอื่น ๆ ในโรงพยาบาล เรียกรวม ๆ ว่าเป็น (ฝ่าย) วิชาชีพ เวลาพูดถึงผู้รับบริการชวนให้คิดถึงผู้ป่วย หลายครั้งพวกเราเรียกว่า (ฝ่าย) ประชาชน


จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คล้าย ๆ จะแบ่งเป็นสองฝ่าย มิหนำซ้ำยังเป็นฝ่ายตรงข้ามกันอีกต่างหาก ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อย่างน้อยตอนทำบัตรตรวจผู้ป่วยนอกก็ต้องอยู่คนละฝ่ายของเคาน์เตอร์ทำบัตรอย่างแน่นอน


ที่ผ่านมา ประชาชนไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของระบบหลักประกัน นอกจากมิได้เป็นเจ้าของแล้วยังตกเป็นฝ่ายตั้งรับและถูกกระทำเสมอมา แต่เนื่องจากประชาชนเป็นนามธรรม จึงจำเป็นต้องมี " เครือข่ายภาคประชาชน " ให้เป็นรูปธรรม เพื่อช่วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพัฒนาระบบและปกป้องสิทธิของผู้ป่วยในระบบหลักประกัน ยามใดที่สิทธิถูกละเลยหรือถูกละเมิดก็ต้องร้องเรียนกัน


จะเห็นว่าคำศัพท์แต่ละคำช่วยตอกย้ำความเป็นฝักเป็นฝ่ายให้เห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่คำว่า " ภาคประชาชน " ชวนให้นึกถึงกลุ่มคนที่อยู่ตรงข้ามกับภาควิชาชีพ หรือคำว่า " ปกป้อง " และ " ร้องเรียน " ก็ชวนให้นึกถึงว่ามันจะต้องมีใครไม่ดีอยู่แถว ๆ นี้เป็นแน่แท้


คำศัพท์เหล่านี้ทำหน้าที่ตอกย้ำให้ผู้คนเห็นว่าผู้ป่วยหรือประชาชนส่วนใหญ่ยังถูกละเลย ไร้อำนาจต่อรอง ขาดความรู้ และเข้าไม่ถึงข้อมูล หากคำศัพท์เหล่านี้ทำหน้าที่ของตนเองสำเร็จ ตัวมันเองย่อมสูญสลายไปตามกาลเวลา ใครขืนนำมาใช้อีกเป็นได้เชยระเบิดเถิดเทิง เช่น วันใดก็ตามในอนาคตเมื่อสิทธิผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองอย่างดีเยี่ยมแล้ว ย่อมเกิดคำถามได้ว่าพวกเรายังต้อง " ปกป้อง " สิทธิอะไรกันอีก เป็นต้น


แต่อนาคตนั้นยังมาไม่ถึง หน้าที่ของคำศัพท์เหล่านี้ยังอยู่ คำศัพท์จึงยังคงต้องอยู่ หากจะเปลี่ยนคำศัพท์ในการต่อสู้ เอ๊ย ทำงาน ก็ต้องมั่นใจว่าคำศัพท์ใหม่ยังทำหน้าที่ของมันอย่างดี เช่น " ศูนย์ประสานงานประชาชน " หรือ " ศูนย์ประสานงานภาคประชาชน " สองคำนี้ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร


มีผู้ใหญ่ที่น่าเคารพท่านหนึ่งกล่าวว่าประชาชนหมายถึงคนอื่นเสมอ กล่าวคือในวงการการเมือง ประชาชนหมายถึงคนอื่นที่มิใช่นักการเมือง นั่นคือนักการเมืองเป็นนักการเมือง นักการเมืองมิใช่ประชาชน เมื่อมีการเรียกร้องสิทธิของประชาชนจึงเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงสิทธิของใคร (ที่กำลังถูกละเมิด) ในทำนองเดียวกันประชาชนจึงหมายถึงคนอื่นในระบบสุขภาพ กล่าวคือประชาชนหมายถึงคนอื่นที่มิใช่วิชาชีพ นั่นคือวิชาชีพเป็นผู้ให้บริการ วิชาชีพมิใช่ประชาชนในบริบทนี้ เมื่อมีการเรียกร้องสิทธิของประชาชนจึงเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงสิทธิของผู้ป่วย (ที่กำลังถูกละเมิด) เท่านั้นจ้า


มีคำถามว่าวิชาชีพมิใช่ประชาชนหรืออย่างไร


กลับไปที่วิสัยทัศน์ข้างต้น ลองเปลี่ยนคำศัพท์ " ประชาชน " เป็นคำอื่น ดูซิว่าจิตใจและความคิดคำนึงของตนเองจะเปลี่ยนแปรไปอย่างไร


" ผู้ป่วยทุกคนเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ "


" พลเมืองทุกคนเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ "


" ราษฎรทุกคนเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ "


" ประชากรทุกคนเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ "


หรือลองตัดคำว่า " ทุกคน " ออก


" มวลชนเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ "


" สังคมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ "


" ประชาสังคมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ "


" มหาชนเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ "


" ไทยรักไทยเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ "


อ้าว !