Skip to main content

บุคคลในภาพประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลา

คอลัมน์/ชุมชน










07/05/48


 

 


คณะผู้จัดทำข้อมูลเพื่อพิพิธภัณฑ์ ๑๔ ตุลา


เมื่อนึกไปถึงภาพมวลชนเรือนแสนที่เบียดเสียดกันอยู่ในทุกอาณาบริเวณของท้องถนนราชดำเนินในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยทุกคนย่อมเคยได้เห็นอยู่จนชินตา จากจำนวนผู้คนอันมากมายนี้ มีการคาดการณ์ปริมาณผู้เข้าร่วมเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่าอาจมีจำนวนถึง ๕๐๐,๐๐๐ คน


แต่ที่ผ่านมา---คลื่นมวลชนจำนวนมหาศาลที่ถูกกล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ว่านี้ กลับมีฐานะเป็นเพียงแค่ "ตัวเลข" เพื่อถูกนำมาอ้างถึงความพร้อมใจหรือพลังมวลชน อย่างที่มักถูกพูดถึงทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญในครั้งนั้น บุคคลเรือนแสนที่มักถูกกล่าวอ้างจึงมีค่าเสมือน "หนึ่งขีด" บนกระดานนับแต้มที่ไม่เคยถูกจารึกการมีตัวตนและให้ความสำคัญใด ๆ


ความจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งมักปรากฏเมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งคือ เราจะพบว่ามีชื่อบุคคลหรือกลุ่มคนอยู่เพียงจำนวนหนึ่งซึ่งถูกกล่าวซ้ำว่าเป็นเสมือนผู้วางหมากในเหตุการณ์นั้น จริงอยู่ว่าบุคคลหรือกลุ่มดังกล่าวอาจจะเป็นผู้ก่อการสำคัญต่อเหตุการณ์นั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ทว่าการพยายามย้ำภาพแต่เพียงด้านเดียว ย่อมทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์เกิดความไขว้เขวไปได้เช่นกัน เพราะความจริงก็คือ ผู้นำย่อมไม่สามารถดำรงการเป็นผู้นำได้ถ้าปราศจากมวลชน


จากความพยายามค้นหาบุคคลที่เคยเป็นเพียงแค่ "เลขนับแต้ม" ให้กลับกลายเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงมากกว่าที่จะเป็นเพียงจินตนาการ เราคณะผู้จัดทำข้อมูลเพื่อพิพิธภัณฑ์ ๑๔ ตุลา จึงได้เริ่มควานหาผู้คนเรือนแสนที่ไม่เคยถูกบันทึกเหล่านี้จากภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เรามีอยู่


เราเพียงอยากรู้ว่าวันนั้นเขาไปทำอะไร? และวันนี้เขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่?


ด้วยความตั้งใจเหล่านี้ โดยการประกาศหาผ่านสื่อไประยะหนึ่ง มีผู้คนจำนวนหนึ่งให้การตอบรับและช่วยเหลือ ทั้งที่เป็นเจ้าตัวเอง เป็นเพื่อน หรือเป็นลูกศิษย์ของผู้นั้น ต่อมาเราจึงได้พบกับความสว่างหลังจากต้องงงงวยอยู่ในความมืดมนอนธการมาระยะหนึ่ง


นอกจากงานที่ต้องตั้งหน้าตั้งตาทำอยู่จะบรรลุไปได้ระดับหนึ่ง เหนือสิ่งอื่นใด ผู้ทำงานเองยังได้เรียนรู้บทเรียนเพิ่มเติมจากการสนทนากับบุคคลเหล่านี้ ซึ่งสามารถกระทุ้งความโง่เขลาออกไปได้บ้าง


และต่อไปนี้คือ ส่วนหนึ่งของผู้คนที่เราได้พบเจอ จากการประกาศตามหาตามสื่อต่าง ๆ อยู่หลายเดือน ------


อนันต์ชัย พฤทธพงศ์


สถานภาพเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ : นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และพนักงานบริษัทสยามไฟร์สโตน
ปัจจุบัน : ประกอบอาชีพค้าขาย พำนักอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ



-- อนันต์ชัย พฤทธพงศ์ ในปัจจุบัน --



-- อนันต์ชัย พฤทธพงศ์ --



-- อนันต์ชัย พฤทธพงศ์ --



-- อนันต์ชัย พฤทธพงศ์ --



-- หนังสือที่คุณอนันต์ชัยถือติดตัวไปด้วยตลอดทาง --


"ตอนนั้นไม่รู้ว่าเป็นใคร มารู้ทีหลังว่าชื่อ จีระ บุญมาก ตอนที่ถูกยิงผ่านผมไปนิดเดียว
พอโดนยิงเข้าสมอง สมองทะลุแตก ผมก็เหลียวหันไปมอง ปรากฏว่าเขาล้มลงไป
ผมก็เลยคว้าธงมา ทำเป็นเหมือนว่านี่เขตของใคร ยิงกันเลยเหรอ นี่แผ่นดินไทยนะ"



จำลอง เอมแย้ม


สถานภาพเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ : นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ วิทยาครูธนบุรี (มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ในปัจจุบัน)
ปัจจุบัน : ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สส. (อนุสรณ์ ปั้นทอง) พรรคไทยรักไทย เขตสายไหม



-- จำลอง เอมแย้ม ในปัจจุบัน --



-- จำลอง เอมแย้ม --


"ตอนนั้นผมเป็นประธานนักศึกษา พาพวกน้อง ๆ ที่เป็นนักกีฬาไปใช้สนามซ้อมที่ธรรมศาสตร์
ทุกวันตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ พอวันแรกที่มีการชุมนุม ก็ได้พวกน้อง ๆ นักกีฬาเป็นคนช่วยยกโต๊ะ
แบกของตั้งแต่เช้า"


 


นงนุช (ทศพร) โล่ห์สุนทร


ปัจจุบัน : อายุ 60 ปี เปลี่ยนชื่อเป็น "ทศพร"


-
- นงนุช(ทศพร) โล่ห์สุนทร เครื่องหมายกาชาดที่หน้ารถ ใช้ผ้าเช็ดหน้าเขียนด้วยลิปติกที่ติดตัวมา --


"วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้ยินข่าวจึงนั่งรถแท็กซี่ออกมาดู ลงเดินตรงสี่แยกคอกวัว
เห็นทหารกราดยิงใส่ฝูงชน และปาแก๊สน้ำตา จึงต้องมีการแจกจ่ายน้ำล้างหน้า จากนั้นเห็นรถถังแล่นมาหยุดอยู่บริเวณกรมประชาสัมพันธ์ และมีคนขับรถขนขยะและรถเมล์ขาวเข้าชน
แต่ก็ไม่สำเร็จ ภายหลังได้ไปอยู่บริเวณหน่วยพยาบาล โรงแรมรัตนโกสินทร์ และติดไปกับรถซึ่งจอดอยู่บริเวณนั้นดัดแปลงเป็นรถรับส่งคนบาดเจ็บ และเครื่องหมายกาชาดที่อยู่หน้ารถ
เกิดจากการนำลิปสติกที่ติดตัวมาเขียนลงบนผ้าเช็ดหน้า"