Skip to main content

เรื่องเล่าจากคนทำงาน

คอลัมน์/ชุมชน










14/6/48


 

 


 


ผมกลับมาที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลาฯ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ห่างหายจากการมาที่นี่ไปได้สักพักใหญ่ ๆ


สิ่งที่ผมได้พบ ซึ่งก็ไม่ต่างกับที่ได้เจอในครั้งก่อน ๆ ที่ผมมาที่นี่ นั่นก็คือกองหนังสือขนาดใหญ่ เอกสารที่วางสุมกันไว้รอการจัดเก็บ และเจ็ง - เจ้าหน้าที่ประจำอนุสรณ์สถานที่นั่งหัวฟูจัดเอกสารอยู่อย่างขะมักเขม้น ( ต้องขอย้ำครับ ว่าคุณเธอทำงานจนหัวฟูจริง ๆ)



เมื่อผมถามเธอ ผมถึงทราบว่าเธอกำลังจัดแยกหนังสือที่มีอยู่ เพื่อแยกส่วนที่เป็นหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ และหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง เพื่อนำมาจัดเป็นห้องสมุดภายในพิพิธภัณฑ์ ส่วนหนังสือเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ก็จะแยกเก็บไว้ เพื่อนำไปบริจาคตามโรงเรียนต่าง ๆ ต่อไป


หลังจากทักทายกันเสร็จสรรพ ผมก็เลยถามเจ็งว่า งาน ในแต่ละวันของเธอในการรวบรวมข้อมูลเพื่อพิพิธภัณท์ ๑๔ ตุลาฯ นั้น ต้องทำอะไรบ้าง


" จริงๆ ในแต่ละวันก็มีสิ่งที่ต่างกันที่ต้องทำนะแหละ" เจ็งบอกกับผม


" บางวันก็ออกไปสัมภาษณ์คนในเหตุการณ์ บางวันก็นั่งจัดการเอกสารกับน้องอีกคนที่มาช่วยงานน่ะ"



ผมเลยได้ที ถามเจ็งว่าบรรดาข้อมูลต่าง ๆ ที่เข้ามานั้น จะถูกจัดการยังไงต่อไป เจ็งก็เล่าให้เราฟังเป็นฉาก ๆ ว่า


" อย่างพวกภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ พอได้มาแล้ว ก็จะเริ่มแบ่งตามแหล่งที่มาของรูป โดยทำรหัสไว้คร่าว ๆ อย่างเช่น ถ้ารูปไหนมาจาก นสพ. ไทยรัฐ ก็ใช้ตัวย่อว่า TR นำหน้า จากนั้นก็จะเอารูปที่จัดเรียงตามแหล่งที่มาทั้งหมด มาแยกแบ่งตามช่วงเวลาของเหตุการณ์ หลังจากนั้นก็จะนำรูปทั้งหมดไปใส่ไว้ฐานข้อมูล เพื่อให้สามารถสืบค้นทั้งจากแหล่งที่มาและจากช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ "


" ส่วนของเอกสารจำพวกหนังสือต่าง ๆ ที่มีคนนำมามอบให้ ก็จะต้องนำมาแยกอีก ถ้าอันไหนที่มีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ก็จะแยกมาเก็บไว้ นอกเหนือจากนั้นก็จะนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนต่าง ๆ"



พูดถึงตรงนี้ ผมก็คิดถึงบรรดาจดหมายที่ส่งเข้ามาหาคอลัมน์ " ประชาชนคือเสียงสวรรค์" ที่ผมเคยเล่าให้ฟังในครั้งก่อน ๆ ว่าเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการตามหา " บุคคลในเหตุการณ์" นั้น เจ็งเล่าถึงขั้นตอนการตามหาว่า


" ในส่วนของบรรดาจดหมายที่ได้มา เมื่อได้รับมาแล้วก็จะเริ่มต้นสืบค้นประวัติของทุกคนที่มีชื่ออยู่ในจดหมาย เพื่อหาชื่อ- ที่อยู่ปัจจุบัน จากนั้นก็จะติดต่อไปยังบุคคลเหล่านั้นเพื่อถามว่าในเหตุการณ์ตอนนั้นเขาทำอะไร และอยู่ที่ไหน"


" นอกจากคนที่เราต้องออกไปหาเขา แล้วมีใครที่เข้ามาหาเราเองหรือเปล่า" ผมถามเจ็ง เธอตอบผมว่า


" ก็มีนะ อย่างหลายคนที่ได้เห็นประกาศตามหาผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่อนุสรณ์สถานฯ เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ ก็เข้ามาให้ข้อมูลต่าง ๆ กับทางอนุสรณ์สถานอยู่บ้าง แต่ที่น่าสนใจก็คือคนที่เข้ามาให้ข้อมูลกับเราส่วนใหญ่จะเป็นคนธรรมดาสามัญในเหตุการณ์ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากมาย แต่กับบรรดาคนที่เป็นที่รู้จักในสังคมก็ยังไม่ค่อยมีเข้ามามากนัก"



ก่อนที่ผมจะกลับผมถามเจ็งถึงสิ่งที่เธอหวังจะได้เห็นจากพิพิธภัณฑ์ฯ เธอตอบผมสั้น ๆ ว่า


"ก็หวังว่าที่นี่จะเป็นสถานที่สำหรับคนทุกรุ่น ไม่ใช่สถานที่เพื่อระลึกความหลังของคนบางรุ่น และอยากให้เป็นพื้นที่สำหรับวัยรุ่นได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ และการเมืองไทยได้โดยไม่รู้สึกเกร็ง"


@#@#@#@#@


หลังจากผมคุยกับเจ็งเสร็จ ผมก็เดินขึ้นมาจากตัวอาคารของอนุสรณ์สถานฯ (ซึ่งใครบางคนพูดถึงมันว่ามีลักษณะคล้ายกับหลุมหลบภัยพิกล) เมื่อขึ้นมาถึงบริเวณชั้นบน ผมก็พบว่ามีคนสาม-สี่คนให้ความสนใจกับบอร์ดนิทรรศการที่จัดอยู่บริเวณนั้น ผมจึงลองเดินดูบอร์ดนิทรรศการเหล่านั้น


ทันใดนั้น…ผมก็พบกับ …!!!!!!


(โปรดติดตามตอนต่อไป)