Skip to main content

เรื่องใหญ่ ๆ ในวิกฤตพลังงานไทย

คอลัมน์/ชุมชน

1. คำนำ


รัฐบาลได้ขอร้องให้คนไทยช่วยกันประหยัดพลังงานด้วยมาตรการต่างๆ และกำลังจะเพิ่มมาตรการอีก คงไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับเจตนาที่ดีของรัฐบาล แต่ถามว่า " การประหยัด" เป็นเพียงวิธีเดียวเท่านั้นหรือ


บทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่สำคัญต่อวิกฤตพลังงานในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ (1) ความเข้าใจของรัฐและประชาชนต่อปัญหาการใช้พลังงาน (2) อิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังแนวนโยบายพลังงานของรัฐบาล และ(3) ตัวอย่างรูปธรรมจากบางประเทศ


ผมจะไม่กล่าวถึงปัญหาจากระบบผูกขาดและการเก็งกำไรในระดับโลก เพราะเป็นเรื่องยากที่เราจะหลุดพ้นจากอุ้งมือของบริษัทข้ามชาติได้ แต่ผมเชื่อว่าการจัดการทั้งในประเด็นที่ (1) และ (2) จะทำให้เราเป็นอิสระจากพ่อค้าพลังงานได้มากขึ้น


2. ความเข้าใจต่อปัญหาการใช้พลังงาน


การใช้พลังงานไม่ได้มีปัญหาอยู่ที่เชื้อเพลิงที่มาจากน้ำมันแพงขึ้นและมีจำนวนลดน้อยลงเท่านั้น แต่น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงประเภทเดียวกัน (เรียกรวมๆว่า พลังงานฟอสซิล)เป็นปัจจัยหลักที่ก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมของโลก ทำให้โลกร้อนจนเกิดภัยธรรมชาติไปทั่ว บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกพบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติมีจำนวนสูงกว่าผู้เสียชีวิตจากสงครามและการจราจร


เราไม่เคยได้ยินผู้นำรัฐบาลไทยออกมาทำความเข้าใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนฟังเลย มีแต่พูดถึงการนำเข้าที่สูงขึ้นจนประเทศขาดดุลการค้าและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเท่านั้น


ชาวโลกได้เริ่มเห็นปัญหาภัยสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 จนเกิดเป็นกระบวนการสีเขียวไปทั่วโลก เช่น กลุ่มกรีนพีช เป็นต้น


ชาวยุโรปซึ่งระยะหนึ่งได้หันไปใช้นิวเคลียร์ แต่ก็เริ่มเปลี่ยนทิศทางไปหาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น (ซึ่งได้แก่ ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล และคลื่น เพราะไม่ก่อมลพิษและใช้แล้วไม่มีวันหมด) เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ประเทศยูเครนจนต้องอพยพพลเมืองนับแสนคนเมื่อปี 2511 แต่สารกัมมันตภาพรังสียังคงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันนี้


พลเมืองชาวยุโรปที่ตื่นรู้ได้ร่วมใจกันผลักดันให้นักการเมืองและรัฐบาลหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แม้ต้นทุนการผลิตในระยะแรกจะแพงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์ แต่พวกเขาก็ยินดีจะจ่ายเพื่อสุขภาพจิตของชุมชนและการถนอมรักให้กับโลกที่เจ็บป่วย


ชาวญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสิ่งแวดล้อมโลกจนนำไปสู่ " อนุสัญญาเกียวโต" เมื่อปี 2540 ด้วยความที่เป็นเจ้าภาพ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซล) ไว้ที่บ้านพักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าพลังงานหมุนเวียนได้เข้ามาอยู่ในศูนย์กลางของอนาคตด้านพลังงานแล้ว


ในปี 2546 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจะเร่งติดตั้งโซลาร์เซลเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 4 ,820 เมกะวัตต์(หรือประมาณ 25 % ของไฟฟ้าสูงสุดที่คนไทยทั้งหมดใช้ในปี 2548) ภายในปี 2553


ญี่ปุ่นเพิ่งสนับสนุนให้เกิดกังหันลมเมื่อประมาณ 15 ปีมานี้เอง ข้อมูลเมื่อ 5 ปีก่อนบอกว่า ญี่ปุ่นได้ติดตั้งกังหันลมไปแล้วถึงเกือบ 1 , 500 เมกะวัตต์แล้ว


เมื่อเราได้ทราบขนาดของกิจการไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์และลมแล้ว เราลองมาทำความเข้าใจกับกิจการพลังงานในประเทศไทยดูบ้าง เราพบว่าค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดมาจากน้ำมัน และไฟฟ้า คิดเป็น 56% และ 32% ของพลังงานทั้งหมด (ข้อมูลปี 2545) เฉพาะไฟฟ้าอย่างเดียวคิดเป็นมูลค่าถึง 2.5 แสนล้านบาท


ถ้าเราสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลมได้ในอัตราที่ไล่เลี่ยกับญี่ปุ่น เราก็สามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศได้ปีละนับแสนล้านบาท


นี่ยังไม่นับการทำไฟฟ้าจากเศษไม้ (ชีวมวล) เราพบว่าในชนบทมีที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้ทำการเกษตรเต็มไปหมด ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเมื่อปลูกมาแล้วไม่คุ้มทุนบ้าง ไม่มีตลาดบ้าง ถ้าเรานำที่ดินเหล่านี้มาปลูกไม้เพื่อนำเศษไม้มาทำไฟฟ้าหรือหรือพืชบางชนิดที่ให้น้ำมัน ชาวบ้านก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น


ปัญหาพลังงาน จึงไม่ได้มีแค่ที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ยังมีมิติการว่างงานและความยากจนด้วย ลองคิดดูว่า ในขณะที่แต่ละปีคนไทยจ่ายค่าพลังงานทั้งหมดประมาณ 1 ล้านล้านบาท (หรือประมาณ 1 ใน 5 ของจีดีพี) ถ้าเราสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งผูกขาดโดยคนเพียงไม่กี่คนลงมาได้สัก 10% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท แล้วหันมาเสริมด้วยพลังงานลม แสงอาทิตย์ เศษไม้และแอลกอฮอล์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องใช้คนจำนวนมาก ปัญหาการว่างงานก็จะลดลง ความเข้มแข็งของชุมชนก็สูงขึ้น


นักวิชาการในระดับโลกหลายคนกล่าวตรงกันว่า " ประเทศโลกที่สามไม่อาจแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนได้ ถ้าไม่หันไปหาพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นพลังงานที่ใครก็ตามไม่สามารถผูกขาดได้"


ผมสงสัยจังว่า นายกฯทักษิณมีอะไรดี ถึงได้หาญประกาศว่าจะทำให้คนจนหมดไปโดยไม่แตะต้องเรื่องพลังงานหมุนเวียนเลย


3. อิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังแนวนโยบายของรัฐบาล


เรื่องนี้ต้องขอกล่าวอย่างสั้น ๆ เพียงเพื่อให้ความคิดเป็นระบบ เพราะท่านทั้งหลายต่างทราบดีอยู่แล้ว ว่ากันตรงๆ รัฐมนตรีพลังงานคนปัจจุบันคืออดีตผู้จัดการใหญ่บริษัทค้าน้ำมัน แม้ท่านจะเคยเป็นพนักงานของรัฐ แต่ประสบการณ์และความคิดของท่านอยู่กับพวกฟอสซิลมาตลอด คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติก็ประกอบด้วยกลุ่มคนจำนวนน้อยที่คิดอะไรเหมือนๆกัน


แม้เราจะมีนักวิชาการน้ำดี เป็นที่น่าเคารพของประชาชนมาเป็นประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ . ) แต่สังคมสงสัยว่าท่านมีอำนาจแท้จริงหรือไม่ เพราะถึงขั้นท่านต้องขู่จะลาออกจากตำแหน่ง หากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมเปิดเขื่อนปากมูลให้ชาวบ้านตามมติของ ครม.


เมื่อมีการรณรงค์ปิดไฟฟ้าคนละดวง รัฐบาลก็เลือกทำในช่วงกลางคืนแทนที่จะเป็นการงดการรีดผ้าและปิดแอร์เวลาบ่ายสองโมง ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ผมประมาณการอย่างคร่าวๆว่า ถ้าทำอย่างที่ผมว่าจะสามารถลดกำลังการผลิตลงได้ถึงกว่า 2,000 เมกะวัตต์ (เท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 โรง)


อิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังแนวนโยบายเหล่านี้คือผลประโยชน์ของนักธุรกิจพลังงานนั่นเอง


4. ข้อมูลการใช้พลังงานในบางประเทศ


ประเทศเยอรมันนีและยุโรปได้ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนด้วยการตราเป็นกฎหมาย โดยให้ผู้ประกอบการไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากลมและแสงแดดในราคาที่สูงกว่าราคาที่ผู้ประกอบการขายให้ผู้บริโภค ทั้ง ๆ ที่ไฟฟ้าเหล่านี้ไม่มีความแน่นอนโดยธรรมชาติ เรื่องนี้เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับพี่ไทยเรากำลังทำอยู่อย่างสิ้นเชิง


เมื่อปี 2543 ญี่ปุ่นมีแผนการจะลดการพึ่งพลังงานจากปิโตรเลียมจากร้อยละ 47 ให้เหลือ 41 ภายในปี 2553 ในขณะที่รัฐบาลไทยก็ทำสิ่งเดียวกัน แต่เป็นตัวเลขจากร้อยละ 83 ในปี 2545 เป็น 81 ในปี 2554 ช่างต่างกันจนสามารถสัมผัสความจริงใจได้


5. สรุป


นายกฯโคอิซูมิ แห่งญี่ปุ่นกล่าวว่า " นี่คือวิถีทางที่ประเทศเราควรจะเปลี่ยนเพราะชาติของเราแทบจะไม่ทรัพยากรอะไรเหลืออยู่เลย" ผมไม่เคยได้ยินนายกฯ ทักษิณพูดในทำนองนี้เลย แม้แต่การปาฐกถาเมื่อคืนวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา


ดังนั้น ทางออกจากวิกฤตพลังงานของชาติเราหรือชาติใด ๆ ก็ตาม อยู่ที่ภาคประชาชนต้องช่วยกันผลักดันให้สาธารณะลุกขึ้นมาสนับสนุนด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วนทุกมิติครับ