Skip to main content

จิตวิญญาณของรัฐวิสาหกิจ

ในกรรมาธิการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของวุฒิสภา ได้มีการแสดงความกังวลใจต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย ซึ่งอำนาจการผูกขาดที่รัฐวิสาหกิจมีอยู่ยังคงสภาพเหมือนเดิมก่อนแปรรูป


 


ผลก็คือ ยังคงมีการใช้อำนาจผูกขาดกำหนดราคา โดยไม่เกิดการแข่งขันที่แท้จริง รัฐวิสาหกิจไหนที่มีอำนาจผูกขาดเยอะ กำไรก็จะเยอะ รัฐวิสาหกิจไหน อำนาจผูกขาดน้อย หรือมีการแข่งขันสูง กำไรก็จะน้อย


 


เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กำไรปีละหลายหมื่นล้าน เพราะมีอำนาจกำหนดค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย


 


ส่วนการบินไทยกำไรจะน้อย เพราะมีการแข่งขันจากสายการบินต่างประเทศ และการบินแบบโลว์คอส


 


ก่อนการแปรรูปเป็นบริษัท จิตวิญญาณในการบริหารงานจะมีการทำงานเพื่อบริการ ไม่ใช่มุ่งเน้นเรื่องของกำไร  แต่ถ้ามีการแปรรูปเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะมุ่งแต่ผลกำไรสูงสุด จิตวิญญาณแห่งการบริการจะหายไป


 


สิ่งที่วุฒิสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมาธิการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ได้แสดงจุดยืน และแนะนำรัฐบาลว่า หากมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องมีองค์กรกลางเพื่อกำกับดูแลอำนาจการผูกขาดก่อนมีการแปรรูป


 


ไม่ใช่เร่งรีบแปรรูปโดยไม่มีองค์กรอิสระในการควบคุมการผูกขาด  เช่น ต้องมีองค์กรกำกับดูแลในการกำหนดอำนาจการผูกขาดคิดค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)


 


ต้องมีองค์กรกำกับดูแลในการกำหนดราคาไฟฟ้า ประปา  เพื่อพิจารณาการคิดค่าไฟฟ้า ประปาให้เป็นธรรม ไม่ให้ใช้อำนาจผูกขาดไปเรียกค่าน้ำค่าไฟตามอำเภอใจ


 


องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เพราะมีการแข่งขันจากเอกชนหลายแห่งทำให้ค่าโทรศัพท์ต้องแข่งขันทางด้านราคาอยู่แล้ว แต่รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระในการดูแลคลื่นความถี่ซึ่งถือเป็นทรัพยากรของรัฐ


 


องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระในการจัดสรรคลื่นความถี่ในการส่งวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และวิทยุคมนาคม ก็คือ คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.)


 


หน้าที่อย่างหนึ่งของ กทช. ที่จะทำก็คือ ต้องให้มีการเชื่อมสัญญานคลื่นอย่างเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการเก็บค่าผ่านการใช้คลื่นของเครือข่ายอย่างที่เป็นปัญหาในขณะนี้  ต่างเครือข่ายก็มีการเรียกเก็บค่าผ่านเครือข่าย  จะมีปัญหาเรื่องโทรศัพท์ไม่ติด หรือติดยากในขณะนี้


 


งานที่สำคัญของ กทช.ในขณะนี้คือการจัดสรรคลื่นความถี่ ให้สามารถรองรับกับการให้งานของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นเดียวกับการที่จะมีวิทยุชุมชนในประเทศมากขึ้น ไม่เหมือนในอดีตที่คลื่นวิทยุจะต้องผูกขาดในหน่วยงานของรัฐเท่านั้น


 


หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องของวิทยุและโทรทัศน์ก็คือ กสช.  ซึ่งวุฒิสภาจะทำการเลือกกรรมการ กสช.ในเร็ว ๆ นี้


 


รูปแบบขององค์กรอิสระในการควบคุมอำนาจการผูกขาดจะมีลักษณะที่แตกต่างกันแล้วแต่รัฐวิสาหกิจ  ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ยินเรื่องขององค์กรอิสระอย่างนี้มากนัก  แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดองค์กรอิสระเพื่อประชาชนมากขึ้น  นอกจากในเรื่องของทรัพยากรสื่อสารของชาติแล้ว  ในอนาคตเราจะได้เห็นองค์กรอิสระในการกำหนดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค


 


ผมเล่าให้ท่านฟังในสัปดาห์นี้ก็เพื่อจะเน้นให้ท่านทราบว่า ในวุฒิสภาได้ทำหน้าที่เป็นกระจกให้กับฝ่ายบริหารทราบว่า การมุ่งแต่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้นมีปัญหา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเร่งรีบแปรรูปโดยไม่มีองค์การกำกับดูแลควบคุมอำนาจการผูกขาดจะทำให้เกิดการคิดค่าใช้จ่ายอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  รัฐควรจะมุ่งเน้น ความมีประสิทธิภาพในการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจก่อนที่จะมีการแปรรูป


 


เราก็ต้องติดตามดูว่ารัฐบาลจะฟังสิ่งที่วุฒิสภาเป็นห่วงหรือไม่  และผมจะมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป