Skip to main content

ยาฟุ่มเฟือยมีมากกว่ายาจำเป็น

ที่ผู้คนไม่ทราบคือโลกของเรามียาฟุ่มเฟือยมากกว่ายาจำเป็น      
ยาจำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยนั้นมีน้อย   ยารักษาโรคก็มีไม่มาก  แต่ยาที่ไม่จำเป็นต่อการรักษาโรคมีมากกว่ามาก


ยาที่ไม่จำเป็นต่อการรักษาโรคมีมากกว่ามาก ได้แก่ ยาหลอก  ยาที่ให้หรือไม่ให้ผู้ป่วยก็หาย  ยาที่ใช้บรรเทาอาการที่ไม่สำคัญเล็ก ๆ น้อย ๆ  รวมทั้งยาที่ไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาใด ๆ  ยาเหล่านี้มักถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าจำเป็นและตั้งราคาสูงเอาไว้


ผู้ป่วยหรือผู้บริโภคไม่มีความรู้ทางการแพทย์จึงไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่า ยา 3 ซอง 5 ซองที่ได้กลับบ้านนั้นเป็นยาที่ไม่จำเป็นกี่ซอง   ดังที่ว่าความรู้คืออำนาจ   เมื่อไม่มีความรู้เสียแล้วจึงไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ   แม้ว่ายาที่ไม่จำเป็นจะตั้งราคาไว้สูงถึงเม็ดละ 30-40 บาทก็ต้องซื้อกลับบ้าน   ที่พบบ่อย เช่น ยาที่อ้างว่าช่วยให้สมองเด็ก ๆ ที่สติปัญญาบกพร่องดีขึ้น  เป็นต้น   ยากลุ่มนี้ราคาแพงและเห็นจ่ายกันมาก    คงไม่มีคุณแม่คนไหนที่จะไม่ยอมเสียเงินไม่ว่ามากเท่าไรเพื่อเอายาวิเศษกลับไปช่วยลูก    แต่คุณแม่ก็ไม่มีความรู้ว่ายาที่ได้ไปนั้นคือยาที่ไม่จำเป็น   เป็นยาที่ไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาด้วยซ้ำไป


ต้นเดือนกรกฎาคม 2548    หนังสือพิมพ์ข่าวสดพาดหัวข่าว  บริษัทยาส่งทีมขายประกบแพทย์  หลังโรงพยาบาลตัดงบยา 30 บาท


บริษัทยาแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลตัดยาราคาแพงออกเพื่อลดต้นทุน  เนื่องจากโครงการ 30 บาท  นอกจากนี้ยังส่งทีมขาย 300 คนเข้าถึงแพทย์โดยตรงเพื่อแนะนำข้อมูลยาใหม่  รวมทั้งเตรียมงบประมาณ 30-40 ล้านบาทจัดมหกรรมสุขภาพให้ความรู้แก่ผู้บริโภค


ข่าวนี้มี 3 ประเด็น  ประเด็นที่หนึ่งคือเรื่องยาราคาแพง       เรื่องนี้อธิบายแล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 8 กรกฎาคม 2548 หน้า 10    
 
"นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่าจากกรณีที่มีข่าวเรื่องบริษัทยาพาดพิงโครงการ 30 บาท เรื่องการจัดซื้อยาในโรงพยาบาลเน้นยาราคาถูกว่า ยาในโรงพยาบาลใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกโรค  โดยทั่วไปมีการแบ่งยาในท้องตลาดเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรกมีความจำเป็นต่อชีวิตผู้ป่วยโดยตรง  รพ.ทุกแห่งต้องมี  กลุ่มที่ 2 จำเป็นสำหรับรักษาโรค และกลุ่มที่ 3 เป็นยาที่ไม่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาลจะมีหรือไม่มีผู้ป่วยก็ไม่ได้รับความเสียหายอะไร


นพ.ประเสริฐกล่าวว่า  กรรมการยาจะให้ความสำคัญกับยากลุ่มแรกและกลุ่มที่ 2 มากกว่า    ในขณะที่ยานำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง  (อาจจะ) เป็นยาที่อยู่กลุ่มที่มีหรือไม่มีก็ได้   ปรากฏว่ามีการใช้มากเนื่องจากบริษัทยามีการทำตลาดหรือส่งเสริมการขายกับแพทย์โดยตรง   ให้ผู้บริโภคเชื่อว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้  ทำให้มีการใช้กันมาก  ทั้งที่หากเป็นยาในกลุ่มแรกหรือกลุ่มที่ 2 จะมียาในชื่อสามัญเดียวกันแต่ชื่อการค้าต่างกันบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติครบอยู่แล้ว เช่น ยาลดคลอเรสเตอรอลควรรับตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์  มิใช่ว่าไขมันในเลือดสูงแปลว่าต้องได้รับยาดังกล่าวเสมอไป


ผศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติในขณะนี้มีความครอบคลุมและเหมาะสมกับโรคมากพออยู่แล้ว  ทั้งนี้ได้ศึกษาวิจัยการใช้ยาของประชาชนในประเทศไทยพบว่ายาบางรายการไม่มีความจำเป็นที่แพทย์จะต้องสั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วย   โดยเฉพาะยานำเข้าจากต่างประเทศ  เนื่องจากมียาทดแทน  ถ้าใช้ยาฟุ่มเฟือยจะส่งผลให้ค่ายาในประเทศไทยสูงขึ้นถึงปีละ 60,000 ล้านบาท"


 "ต้องยอมรับว่ายาไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่จะมีมูลค่าการบริโภคมหาศาล เช่น สินค้าอุปโภค-บริโภคอื่นๆได้    ไม่ควรมีการตั้งอัตราเติบโตแบบก้าวหน้า    แต่ต้องทำอย่างไร ที่จะทำให้ประชาชนมีหลักในการใช้ยาที่เหมาะสม และมองว่าระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเติบโตด้านยา แต่ระบบหลักประกันสุขภาพจะเป็นระบบที่สร้างให้ระบบยามีประสิทธิภาพมากขึ้น"  ผศ.ดร.วิทยากล่าวเพิ่มเติม 


นายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์  โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า "ที่บริษัทยาพูดถึงการที่โรงพยาบาลไม่ซื้อยาราคาแพงเข้าโรงพยาบาลนั้น อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่ายาในโครงการไม่มีคุณภาพ ความจริงยาในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะมี ศ.นพ.จรัส  สุวรรณเวลา  ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติและยังมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ประกอบวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มาร่วมกันคัดเลือกยาที่มีคุณภาพและปลอดภัย    ที่สำคัญยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นกลุ่มยาที่ถือว่ามีความจำเป็นในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้ครอบคลุมเกือบทุกโรค    รวมทั้งใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการและผู้มีสิทธิประกันสังคมด้วยเช่นเดียวกัน   แต่มีประชาชนหลายคนไม่เข้าใจคิดว่ายาตามบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นยาคุณภาพไม่ดี เป็นยาชั้นสอง    ในความเป็นจริงแล้วเป็นยาที่ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ   และมีการปรับปรุงบัญชียาอยู่เสมอด้วย"
   
ประเด็นที่ 2 เรื่องการส่งทีมขาย 300 คนประกบแพทย์   เรื่องนี้หากเป็นจริงจึงเป็นโอกาสอันดีที่วิชาชีพแพทย์ควรจะแสดงจุดยืนทางจริยธรรม  คัดค้าน  ต่อต้าน และแสดงให้สังคมเห็นว่าบริษัทยาจะกระทำเช่นนี้มิได้  กระทำก็มิได้  ออกข่าวก็มิได้


ประเด็นที่ 3 เรื่องการจัดมหกรรมสุขภาพเพื่อให้ความรู้ผู้บริโภค    เรื่องนี้ควรระวังเรื่องการส่งเสริมการขายที่แฝงมากับการให้ความรู้ด้านสุขภาพและการตรวจเช็คร่างกาย   ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ  แผ่นพับ  หรือการตรวจเลือดหานั่นหานี่  เพราะของอะไรถ้าผลิตขึ้นมาแล้วก็ต้องขายให้จงได้