Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ(9) หาหมอคนใหม่

สิทธิผู้ป่วยข้อที่ 6 ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตนและมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการและสถานบริการได้


สำหรับผู้ป่วยรายบุคคล เมื่อผู้ป่วยไม่เข้าใจหรือไม่พอใจผู้รักษา ผู้ป่วยควรหาหนทางทำให้เข้าใจหรือพอใจ หากทำไม่สำเร็จก็คงถึงเวลาเปลี่ยนผู้รักษา หรือไม่ก็เปลี่ยนสถานที่รักษา พูดง่าย ๆ ว่า เปลี่ยนหมอหรือเปลี่ยนโรงพยาบาล


แม้ว่าสิทธิผู้ป่วยข้อนี้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เราควรมองเรื่องนี้เป็นเรื่องของระบบด้วย นั่นคือ หากผู้ป่วยจำนวนมากเฮกันใช้สิทธิข้อนี้กันอย่างพร่ำเพรื่อ ระบบสุขภาพคงจะต้องเสียทรัพยากรไปโดยไม่จำเป็นจำนวนมาก


ตอนเย็นของทุกวัน คลินิกทุกแห่งทั่วประเทศ มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ป่วยด้วยโรคง่าย ๆ เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย กำลังเปลี่ยนหมอเปลี่ยนคลินิก เฉพาะกลุ่มนี้กลุ่มเดียว ระบบสุขภาพกำลังเสียเงินซ้ำซ้อนมากเพียงใด


เชื่อว่าผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดหรือท้องเสียจะได้รับยาปฏิชีวนะจากคลินิกที่หนึ่ง เมื่อไปถึงคลินิกที่สอง คุณหมอจำนวนหนึ่งจะตรวจซ้ำแล้วให้ความมั่นใจ ภาษาอังกฤษว่า reassure ผู้ป่วยว่ายาเดิมดีแล้ว กรุณากินต่อให้หมดแล้วจะหายเอง แต่ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะไม่ฟัง เพราะเมื่อใจไม่ศรัทธาคุณหมอและยาที่ได้รับจากคลินิกแรกแล้ว จึงร้องขอจะเอายาชุดใหม่ คุณหมอคนที่สองจึงเปลี่ยนยาให้ใหม่รวมทั้งเปลี่ยนยาปฏิชีวนะให้ใหม่ด้วย ในบางกรณีคุณหมอคนที่สองก็ข้ามสเตป reassure คือตรวจใหม่ให้ยาใหม่ในทันที


ลำพังการสูญเสียยาปฏิชีวนะในกรณีเช่นนี้ก็มหาศาลแล้ว


เหตุการณ์เช่นนี้มิเพียงเกิดกับไข้หวัดหรือท้องเสีย มิเพียงเกิดกับคลินิกตอนเย็น แต่เกิดกับหลายโรคและในทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในตอนกลางวันด้วย


ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยคือผู้บริโภคที่ไม่มีข้อมูลอะไรอยู่ในมือ ผู้ป่วยจึงทำได้อย่างเดียวคือเปลี่ยนหมอไปเรื่อย ๆ จนกว่าตนเองจะหายหรือพอใจ ภาษาอังกฤษว่า shopping around


ที่เล่ามาอาจจะเป็นเรื่องเล็กเพราะป่วยด้วยโรคเล็ก ๆ แต่ถ้าผู้ป่วยป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรงขึ้น เช่น โรคจิต ผมพบว่าผู้ป่วยเกือบทุกคนจะถูกญาตินำไปพบจิตแพทย์มากกว่าหนึ่งคนเสมอ หากจิตแพทย์คนที่สอง reassure ญาติผู้ป่วยไม่สำเร็จ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนยา


ลำพังกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชก็มั่นใจได้ว่าระบบสุขภาพกำลังสูญเสียเงินอีกมหาศาล อย่าลืมว่าเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทรัพยากรสุขภาพ ที่สูญเสียมากกว่าอีกคือเสียแรงและเวลาของคุณหมอและพยาบาลและทีมทั้งหมดในการทำงานซ้ำ ๆ กับผู้ป่วยคนเดียว


หากผู้ป่วยป่วยด้วยโรคถึงตาย เช่น มะเร็ง และการตรวจต้องใช้ทรัพยากรสูง เช่น เจาะเลือดมากมาย เอกซเรย์มากมาย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์มากมาย ฯลฯ การที่ผู้ป่วยเปลี่ยนหมอโดยไม่มีเหตุอันควร แล้วเริ่มต้นเจาะเลือดมากมาย เอกซเรย์มากมาย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์มากมาย ย่อมทำให้ทรัพยากรสุขภาพเสียไปอีกมากกว่ามาก


อันที่จริงแล้ว ไม่มีผู้ป่วยคนใดอยากเปลี่ยนหมอ แต่ที่เปลี่ยนหมอเพราะมีความจำเป็น เช่น เหลือทน หรือไม่ก็ไม่จำเป็น เช่น ใจร้อน หากเรามีระบบสุขภาพที่สามารถรองรับความรู้สึกเหลือทนหรือใจร้อนของผู้ป่วยได้คงจะดีไม่น้อย และถ้าอย่างไร ๆ ผู้ป่วยก็ต้องการเปลี่ยนหมอแน่นอน หากเรามีระบบสุขภาพที่คอยช่วยเหลือผู้ป่วยเปลี่ยนหมอโดยประหยัดค่าใช้จ่ายก็น่าจะดีสำหรับทุกฝ่าย


ผู้ป่วยส่วนมากไม่มีญาติเป็นหมอหรือพยาบาล เวลาผู้ป่วยเข้าตาจนไม่รู้จะปรึกษาใครเป็นเรื่องควรเห็นใจ อย่างน้อยที่สุดระบบสุขภาพควรเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่มี " คนใน" ได้


เราควรออกแบบระบบสุขภาพเพื่อรองรับปัญหาเหล่านี้อย่างไรจึงเป็นกรณีศึกษาที่ท้าทาย การค้นหาคำตอบสำหรับเรื่องนี้ต้องการความคิด ความเห็น ความรู้ และความสามารถของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ ผู้จัดหาบริการ รวมทั้งนักวิชาการอิสระและผู้สังเกตการณ์ระบบ


สิทธิผู้ป่วยข้อที่ 6 มิใช่เรื่องของบุคคล แต่ที่แท้แล้วเป็นเรื่องของระบบ