Skip to main content

กว่าจะได้ 2 บาท 6 บาท ต่อวัน ลูกจ้างรายวันแทบตาย

คอลัมน์/ชุมชน

คุณภาพชีวิตที่น่าเป็นห่วงของคนงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด  ตั้งแต่วันละ 137 บาทถึง 175 บาท หากเป็นคนงานที่ได้ค่าแรงวันละ 137 บาทจะใช้จ่ายกันอย่างไร 


 


ค่าแรงที่ได้เป็นทั้งค่าอาหาร ค่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ บางคนต้องจ่ายค่าเช่าบ้านด้วย หากทำงานอย่างไม่มีวันหยุดเลยตลอดเดือน จะได้ค่าจ้าง 4,110 บาท ต้องถูกหักเงินรายได้เข้ากองทุนประกันสังคมร้อยละ 5 ของรายได้ต่อเดือน ซึ่งจะถูกหักไปราว 200 บาท เหลือรับจริง 3,900 บาท รายได้ขนาดนี้ไม่ต้องเสียภาษีทางตรงคือภาษีรายได้  เงินจำนวนที่เหลือต้องกันไว้เป็นค่าใช้จ่ายประจำสัก 500 บาท หากต้องจ่ายค่าเช่าคงต้องเป็นแบบเช่าร่วมกันหลายคน และเฉลี่ยจ่าย 500 บาทต่อเดือน คงเหลือ 2,900 บาท


 


หากต้องการซื้อทีวี ตู้เย็น เพื่อความสะดวกของชีวิต โดยผ่อนส่งเดือนละอย่างต่ำ 1,500 บาท  ก็จะเหลือเงินเป็นค่าอาหาร ค่ารถ 1,400 บาท  ต้องจ่ายอย่างประหยัดวันละไม่เกิน 45 บาท น่าจะกินข้าวได้มื้อละ 10-12 บาท หากได้รับการเพิ่มค่าแรงสูงสุดคือ 6 บาทต่อวัน ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 180 บาทต่อเดือนเท่านั้น โดยไม่ต้องคิดถึงการมีเงินออม หรือเงินสำหรับใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อน การผ่อนคลาย  ไม่มีโอกาสได้รับการเรียนรู้เพิ่มเติม ซึ่งส่งผลให้ทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปีโดยไม่อาจจะได้พัฒนาฝีมือแรงงาน โดยที่ค่าจ้างก็ไม่ได้ปรับขึ้นทุกปีโดยอัตโนมัติ ต้องเรียกร้อง ต้องต่อสู้จึงจะได้มาครั้งละบาท สองบาทต่อวัน 


 


ด้วยค่าจ้างต่ำอย่างนี้ ลูกจ้าง หรือคนงาน จึงต้องทำงานล่วงเวลากันทุกคน ทุกวัน วันละอย่างต่ำ 3 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อจะมีรายได้จากค่าแรงงานล่วงเวลา พอให้ดำรงชีวิตได้ดีขึ้นบ้าง  แต่ก็ต้องทำงานหนัก หักโหม แม้แต่คนวัยหนุ่มสาวเองที่เข้าสู่สภาพการจ้างงานก็ทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงได้ อย่างนี้จะทำให้คนมีคุณภาพได้อย่างไร


 


อาทิตย์ที่ผ่านมา มีการประชุมพิจารณาเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานเข้าใหม่ (บางทีเรียกแรงงานไร้ฝีมือ) โดยมีการเสนอเพิ่มสูงสุดที่ 6 บาทต่อวัน จนถึงเพิ่ม 2 บาทต่อวัน  ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีองค์ประกอบของกรรมการคือตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ 


 


ระหว่างการพิจารณาก็มีการออกมาเคลื่อนไหวกดดันกันทั้งจากฝ่ายลูกจ้างที่เสนอว่า ควรได้รับวันละ 233 บาทเพื่อให้เท่ากับแรงงานจบปริญญาตรีที่เข้ารับราชการ  ขณะที่ฝ่ายนายจ้างก็ออกมาขู่ว่าหากขึ้นไปถึง 233 บาทจะต้องปลดคนงานออกหลายหมื่นคน  ทั้งนี้  นายกรัฐมนตรีเองก็ส่งสัญญาณว่าให้ขึ้นได้ไม่เกิน 6 บาท  ที่สุดกรรมการกลางเสนอว่าไม่เกิน 6 บาท และให้กรรมการแต่ละจังหวัดไปพิจารณากันเอง จึงได้ตัวเลขออกมาแตกต่างกันไปแต่ละจังหวัด ระหว่าง 2-6 บาท  ดังได้กล่าวมาเบื้องต้น  ซึ่งต้องนำมาพิจารณาในคณะกรรมการกลางอีกครั้งในอาทิตย์นี้   อย่างไรก็ตาม  ลูกจ้างจะได้รับปรับค่าจ้างรายวันแน่แต่เป็นจำนวนน้อยมาก ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตแรงงานทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานปีละประมาณ 4 แสนคน


 


ทำไมจึงมีความพยายามกดค่าแรงไว้  ก็เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงาน สถานประกอบการ โดยใช้ข้อเสนอว่าค่าแรงต่ำแต่ผลิตงานได้อย่างมีคุณภาพ เป็นงานที่ต้องอาศัยความอึด ความอดทนของคนงาน ซึ่งคนงานไทยได้รับคำชมในเรื่องนี้ แต่สินค้าที่วางขายตามห้างร้าน มีราคาแพงจับใจ เช่น รองเท้าผ้าใบยี่ห้อดัง  ราคาคู่ละหลายพันบาท ต่างก็ผลิตโดยลูกจ้างรายวันไม่เกิน 175 บาทต่อวัน ราคาที่บวกเพิ่มไปเป็นทั้งค่าการตลาด การบริหารจัดการ และกำไรสำหรับผู้ถือหุ้น แต่ลูกจ้างผู้ทำงานหนักกลับไร้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี และโอกาสการพัฒนาฝีมือ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต


 


กว่าจะได้รับค่าจ้างเพิ่มแต่ละครั้งของลูกจ้างช่างเป็นเรื่องที่ยากแสนลำบาก ยังไม่ต้องพูดถึงการจัดการคุณภาพโรงงาน การดูแลสุขภาพในสถานที่ทำงาน การดูแลเรื่องความปลอดภัย  เห็นลูกจ้างเสนอให้มีการออกกฎหมายว่าด้วยอาชีวอนามัยมาหลายปีแล้ว ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐ  ทั้งที่ลูกจ้างเองได้จัดทำร่างกฎหมายเสนอให้แล้ว การรณรงค์ให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายก็แล้ว  ก็ยังไม่ปรากฏผล  ช่างเป็นเรื่องยากลำบากเหลือเกิน


 


แต่สิ่งหนึ่งที่ลูกจ้างยังพอมีหลักประกันบ้างนั่นคือ  การมีกองทุนประกันสังคม  ที่ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน โดยกองทุนดูแลสวัสดิการให้ลูกจ้าง ตั้งแต่การเจ็บป่วยสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินอีก เมื่อเจ็บป่วยไม่ได้ทำงานก็มีการชดเชยรายได้ให้  หรือเมื่อตกงานก็มีชดเชยให้พร้อมทั้งจัดฝึกฝนฝีมือเพื่อสามารถหางานใหม่ได้  เมื่อมีบุตรก็ได้รับเงินค่าบุตรเป็นรายเดือนเพิ่มจากรายได้อีก  เมื่อคลอดได้รับค่าคลอด  เมื่อชราภาพได้ค่าบำนาญ บำเหน็จ  และเมื่อเสียชีวิตได้รับค่าทำศพ ซึ่งถือว่าเป็นสวัสดิการที่ช่วยลดภาระของลูกจ้างได้มากมาย  แต่ก็เป็นเพียงสวัสดิการของตัวลูกจ้างคนเดียวเท่านั้น ไม่อาจเผื่อแผ่ไปให้ลูก สามี ภรรยา  และพ่อแม่ได้  หากตกงาน ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินส่งเข้ากองทุน ก็จะหมดสภาพผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการไปเลย 


 


เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการจัดระบบประกันสังคมให้กับประชาชนทุกคน  มีเพียงสำหรับลูกจ้างที่จ่ายเงินสมทบเท่านั้น  นอกนั้นก็มีระบบหลักประกันสุขาภาพที่ดูแลเฉพาะคนที่อยู่นอกเหนือประกันสังคมและเป็นสวัสดิการเฉพาะค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น ยังไม่มีระบบดูแลคนแก่ คนไม่มีงานทำ  


 


ทั้งลูกจ้างที่ได้รับค่าแรงต่ำ ๆ  และประชาชนที่ทุกข์ยากทั้งมวล ควรได้รับสวัสดิการทางสังคมจากรัฐ เพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชากร เพื่อให้ได้คนมีคุณภาพในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป อย่าปล่อยให้คนงานต้องออกมาวอนขอค่าจ้างกันครั้งละ 2 บาท 6 บาทอีกต่อไป แต่ควรมีระบบค่าจ้างที่ยุติธรรม พอเพียงต่อการดำรงชีพมนุษย์โดยทั่วถึงเท่าเทียม  ขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นธรรมและคำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ด้วย


 


...................................หากได้รับการเพิ่มค่าแรงสูงสุดคือ 6 บาทต่อวัน ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 180 บาทต่อเดือนเท่านั้น