Skip to main content

ผิด-อภัย

คอลัมน์/ชุมชน

24 1/6


นอกจากการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ และการดื่มกินทั้งสิ่งที่มีและไม่มีแอลกอฮอร์ สิ่งบันเทิงที่สร้างความสุขให้กับผมอีกอย่างหนึ่งก็คือกีฬา... ไม่สิ น่าจะเรียกมันว่าการแสดงแบบหนึ่งเสียมากกว่าที่ผมติดตามอยู่เป็นประจำ


ไอ้เจ้าการแสดงที่ผมพูดถึงก็คือ " มวยปล้ำอาชีพ" นั่นเองครับ


พูดถึงมวยปล้ำเนี่ย ... หลายๆคนคงตั้งแง่กับมันอยู่ไม่น้อย ด้วยความรู้สึกว่า " มันทำเป็นสู้กัน แต่มันเตี๊ยมกันเห็นๆ" หรือ " ดูอะไรกันเนี่ย มันรุนแรงเกินไปนะ" ซึ่งเมื่อผมได้ยินอย่างนี้จากหลายๆ คน ผมก็คิดในใจว่า... " กรูรู้แล้วเฟ้ย"


แต่เสน่ห์ของมวยปล้ำที่ทำให้หลายๆ คนติดอกติดใจ คงเป็นความที่มันเป็นการรวมลักษณะของหนังแอ็กชั่น โชว์สตั๊นท์แมน กายกรรม และละครเรื่องยาว มารวมอยู่ในสิ่งเดียวกัน



 


คนที่ชอบดูมวยปล้ำ ก็ไม่ต่างกับคนที่ติดละครเหมือนกันแหละฮะ ประมาณรู้ตัวว่ามันน้ำเน่า แต่ก็เต็มใจดู ( แม้บางครั้งจะรู้สึกว่ามัน " โปร" อเมริกันจนเกินงามก็ตามทีเถอะ) แหม... ถึงน้ำเน่า ก็ยังเห็นเงาจันทร์แหละน่า ;-)


อย่างไม่นานมานี้ ผมก็เพิ่งได้ดูวีซีดีประวัตินักมวยปล้ำคนหนึ่ง แกชื่อ Eddie Guerrero ซึ่งแฟนๆ มวยปล้ำของ WWE ( ย่อมาจาก World Wrestling Entertainment- สังกัดมวยปล้ำอาชีพที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้) คงรู้จักในมาดนักมวยปล้ำเชื้อสายลาตินที่มากด้วยความกวนTeen และลูกฮาต่างๆ ที่สามารถเรียกเฮให้กับแฟนๆ มวยปล้ำได้ แม้แต่ในยามที่เป็นฝ่ายอธรรมก็ตามทีเถอะ


Eddie เริ่มต้นด้วยการเกิดในครอบครัวนักมวยปล้ำ เขาเริ่มฝึกกับครอบครัวก่อนจะตระเวนปล้ำ สะสมชื่อเสียงในรายการเล็กๆ เริ่มตระเวนปล้ำในต่างประเทศ ก่อนจะกลายเป็นดาราดังในเวลาต่อมา


เมื่อเริ่มมีชื่อเสียง เขาก็เหมือนกับ " ดารา" ในวงการอื่นๆ ที่มักจะมีเป็นผู้หญิง เหล้า และยาเสพย์ติดมาคอยหว่านเสน่ห์อยู่เสมอ ซึ่งตัว Eddie เองก็เหมือนกับดาราอีกหลายๆ คนที่ตกหลุมพรางของมัน จนในที่สุดมีช่วงหนึ่งที่เขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จากฤทธิ์แอลกอฮอร์ ถูกจับขณะเมา ถูกไล่ออกจากงาน ภรรยาขอแยกทางเดิน


แต่สุดท้ายเขาก็พยายามจนสามารถหลุดพ้นจากปัญหาที่รุมเร้าจนสำเร็จ ประกอบกับการให้โอกาสของคนรอบข้าง ทำให้เขาสามารถหวนคืนสู่วงการ ครอบครัวกลับมาอยู่พร้อมหน้า และได้บทบาทถึงขนาดเป็นแชมป์โลกเลยทีเดียว


เขากล่าวถึงอดีตว่า " ผมอายในสิ่งที่ผมเคยทำผิดพลาด แต่ผมไม่อายกับสิ่งที่ผมพยายามทำเพื่อแก้ไขความผิดพลาดนั้น"


 


@#@#@#@#@


 


เมื่อสักเดือน - สองเดือนที่ผ่านมา ผมไปงานศพพ่อของเพื่อนสมัยประถมคนหนึ่งที่จากไปอย่างปัจจุบันทันด่วน


ผมสังเกตเห็นสีหน้าของเพื่อนคนนั้นดูเศร้ามากกว่าที่คราวงานศพของญาติพี่น้องอื่นๆ ที่ผมเคยเห็น ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้เอะใจอะไร ต่อมาผมจึงได้รู้เรื่องของเธอ ...


ก่อนหน้านั้นสักเดือนหนึ่ง เธอมีเหตุให้ต้องทะเลาะกับพ่อของเธอด้วยเหตุผลบางอย่าง แต่ก็ลงท้ายด้วยการไม่ได้ขอโทษขอโพยกัน และเรื่องโกรธเรื่องนั้นก็ดูเหมือนจะค่อยๆ จางหายไปตามเวลา


จนความตายของพ่อของเธอกลับขุดเรื่องเหล่านั้นขึ้นมาสู่จิตสำนึกของเธออีกครั้ง


เธอร้องไห้ เสียใจที่ก่อนหน้านี้เธอไม่ได้คิดจะขอโทษพ่อของเธอด้วยวาจาเลย แม้ว่าจากการกระทำก่อนการลาจาก พ่อเธอจะไม่ได้รู้สึกโกรธอะไรเธอแล้วก็ตาม และเธอเองก็ปรนนิบัติพ่อของเธออย่างดี


" ไม่เป็นไรหรอก... พ่อเธอเขารู้แหละ ว่าสิ่งที่เธอทำมันคือการขอโทษอย่างดีที่สุดแล้ว" ผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่งปลอบเธอ


 


@#@#@#@#@


 


ถ้าคุณๆ ติดตามรายการ "คนค้นฅน" เป็นประจำ คงจำเทปตอน "วันกลับบ้าน" ได้


"คนค้นฅน" ตอนที่ว่านั่นพูดถึงโอ๊ต-นักโทษคดีกระทำชำเราที่ต้องโทษตั้งแต่วัยหนุ่ม จนเมื่อวัยเข้าสู่เลขสาม อิสระภาพจึงเพิ่งมาเยือนตัวเขา เมื่อเขากลับบ้าน สิ่งที่เขาได้พบคือเศษซากความทรงจำที่ขาดวิ่น และบ้านที่ไม่เป็นบ้านหลังเดียวกันเหมือนกับวันที่เขาจากมา ทั้งในตัวบ้านที่ทรุดโทรมลงตามกาล และผู้คนในบ้านที่ต่างเจ็บปวดจากสิ่งที่เกิดขึ้น


การกลับมาของโอ๊ตจึงเหมือนกับการกลับมาฟื้นชีวิตของครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งให้กลับมาหายใจอยู่


มีเสียงหนึ่งจากห้องสนทนาในอินเตอร์เนตพูดขึ้นมาทำนองว่า "จะไปเสนอเรื่องราวของมันทำไม มันเป็นผู้ร้ายคดีข่มขืนผู้หญิงนะ" พอมีใครสักคนเข้ามาค้านความเห็นดังกล่าว ด้วยความรู้สึกว่าเขาก็ได้รับผลกรรมมามากพอแล้ว


" แล้วที่เขาทำให้ชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งเสียอนาคตไปล่ะ สมควรให้อภัยเหรอ?" นักตอบกระทู้คนนั้นตอกกลับ


ผมไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะหากเทียบความเจ็บปวดของหญิงสาวเหยื่อของโอ๊ต ตรอบครัวของโอ๊ตที่แตกสลาย หรือแม้กระทั่งโอ๊ตที่ต้องโต้คลื่นลมคำแดกดัน " ไอ้ขี้คุก" จากความผิดที่เขาได้ชดใช้แล้ว


ผมไม่รู้จริงๆ ว่าใครจะเจ็บปวดกว่ากัน...



 


@#@#@#@#@


 


ผมนั่งคิดถึงเรื่อง " ความผิดพลาด" และ " การให้อภัย"


ความผิดพลาดในก้าวย่างชีวิต เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้น และทุกๆ ครั้งที่มันเกิด มันก็พาให้ทุกคนที่ทำให้มันเกิดขึ้นต้องเจ็บปวด และอีกหลายครั้ง คนรอบข้างก็พากันเจ็บปวดไปด้วย


แม้ว่าทางแก้จะเป็นการแก้ข้อผิดพลาดให้เสร็จสิ้น แต่ถึงกระนั้น " การให้อภัย" ก็เป็นสะพานพาดทางสู่การแก้ไข ซึ่งไอ้เจ้าการให้อภัยนั้น คงต้องเริ่มต้นจากการให้อภัยตัวเอง และการอภัยกับความผิดของคนรอบข้างที่มาพร้อมกับความพยายามแก้ไขความผิดพลาด


แต่หลายๆ ส่วนในสังคมที่เราอยู่ก็ยังมองว่าความผิดเพียงครั้งเดียวในชีวิตสามารถทำให้คนๆ หนึ่งไม่สมควรมีชีวิตอยู่ ซึ่งเราคงไปบังคับกะเกณฑ์ใครเขาไม่ได้


อย่างน้อยที่สุด ก็ขอให้ตัวเรายกโทษให้ตัวเองก็แล้วกัน