Skip to main content

เทศกาลเทผักชี

คอลัมน์/ชุมชน


1


เรื่องของกลิ่นเสีย ยังเป็นปัญหาสำคัญของเมืองแสนเก้า มลพิษจากกลิ่นเสียทำให้ผู้คนต้องติดเชื้อและป่วยอย่างรักษาไม่หาย


 


แม้ว่าสาเหตุของกลิ่นเสียจะเกิดจากน้ำเน่าจากโรงงาน การใช้โฟม การเผาขยะ และ ฯลฯ แต่สิ่งที่ทางเมืองแสนเก้าได้รณรงค์คือ ทำให้คนกลัวกลิ่นเสีย เช่น รณรงค์กลิ่นเสียดมแล้วต้องตาย กลิ่นเสียเกิดจากการไม่ใช้ของอย่างเดียว การใช้ของที่มั่ว เป็นต้น


 


แต่การรณรงค์ก็ยังปรากฏว่ามีผู้ที่ต้องติดเชื้อจากมลพิษกลิ่นเสีย ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว  ด้วยเหตุนี้แล้ว ทางเมืองแสนเก้าจึงได้มีความพยายามในการกำจัดกลิ่นเสียในหลายช่องทาง โดยส่วนหนึ่งคือ การจัดเทศกาลเทผักชี ดับกลิ่นเสีย


 


การเทผักชีนั้นเกิดจากที่ชาวเมืองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพโดยการปลูกผักชี และชาวเมืองเชื่อว่ากลิ่นผักชีจะช่วยบรรเทากลิ่นเสียต่างๆ ได้ จึงเป็นที่มาของเทศกาลดังกล่าว และในปีนี้ทางเมืองจึงมอบหมายให้ชุมชนหมื่นสาม ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ของเมืองเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน


 


ทุก ๆ ปีจะมีผู้คนจากชุมชนต่าง ๆ ภายในเมืองแสนเก้าเข้าร่วมงานเทศกาลเทผักชี  แต่ผ่านมาหลายปี ปัญหามลพิษกลิ่นเสียยังคงปรากฏอยู่ทั่วไป ทั้งที่เมืองแสนเก้าก็พยายามรณรงค์ทุกวิถีทาง ทั้งการป้องกันโดยการใช้ของที่มีกลิ่นหอม ลดการใช้โฟม หรือแม้แต่การดูแลผู้ที่ติดเชื้อจากกลิ่นเสีย


 


แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับ การจัดทำการสำรวจโดยการแอบถ่าย แอบมอง ของเมือง พบว่า เมืองที่มีสถิติการใช้ของที่มีกลิ่นเสีย และเป็นชุมชนที่เสี่ยงต่อการได้รับพิษจากกลิ่นเสียคือเมืองร้อยห้า ดังนั้น ในการจัดเทศกาลเทผักชีในปีนี้ ทางเมืองแสนเก้าจึงทำการรณรงค์อย่างหนักเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อภายในชุมชนร้อยห้าด้วยกลวิธีต่าง ๆ ที่น่าสนใจ


 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมืองแสนเก้าจะพยายามลดอัตรากลิ่นเสียกับชุมชนร้อยห้าเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่เป็นผล  ดังนั้น การจัดเทศกาลเทผักชีในปีนี้ ทางเมืองแสนเก้าจึงกำหนดให้ชาวชุมชนต่าง ๆ เห็นความสำคัญของชุมชนร้อยห้า โดยกำหนดหัวข้อคือ "กลิ่นเสียลดต้องกล้า  ให้ชุมชนร้อยห้ามีส่วนร่วม"


 


2


พอทราบข่าวว่าการจัดเทศกาลเทผักชีในปีนี้  ทางเมืองแสนเก้าให้ความสำคัญกับชุมชนร้อยห้า ชาวบ้านในชุมชนดีใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะถือโอกาสใช้เทศกาลนี้รวมพลัง ส่งเสียงเพื่อลดกลิ่นเสีย ชาวชุมชนส่งจดหมายไปให้ลูกหลานที่อยู่ต่างจังหวัด กลับบ้าน บางคนเรียนก็ต้องลา บางคนทำงานก็ต้องลา ทุกคนตั้งใจทำงาน แต่ที่น่าซาบซึ้งคือ ชาวบ้านชุมชนร้อยห้า มีผักชีน้อยกว่าชุมชนอื่นในเมือง แต่ก็พากันเก็บเกี่ยวมาได้จำนวนหนึ่ง เพื่อนำผักชีไปสมทบภายในงาน


 


การจัดเทศกาลปีนี้ค่อนข้างกระชั้นชิด การเตรียมงานมีปัญหามาก สถานที่ปีนี้ต่างจากทุกปีที่จัดกันที่วัด โดยปีนี้ ทางเมืองมาจัดที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง กิจกรรมภายในงาน มีการแสดงจากชุมชนต่าง ๆ การจัดซุ้มแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เวทีวัฒนธรรม  ส่วนกิจกรรมของชุมชนร้อยห้าก็เตรียมมามากกว่าทุกปี เพราะต้องมาร่วมกับ ชุมชนเก้าร้อย ชุมชนพันสี่  .. ปีนี้จึงตื่นเต้นกว่าปีก่อน ๆ


 


ภายในงานมีฝ่ายการทำงานต่าง ๆ เช่น เตรียมผักชี ฝ่ายต้อนรับ ฝ่ายสถานที่ ฝ่ายพิธีกรรม ฝ่ายทำความสะอาดและฝ่ายกรองกลิ่นเสียเข้าหู (ฝ่ายกรองกลิ่นเสียมีไว้เพื่อกรองกลิ่นไม่ให้เข้ามาทำลายระบบการได้ยินของผู้ร่วมงาน เพราะกลัวว่าจะทำให้การได้ยินของชาวเมืองมีปัญหา เพราะมีรายงานจากที่ทำการเมืองว่า โอกาสที่กลิ่นเสียจะทำลายระบบการได้ยิน จนไปถึงขั้นหูตึง หูเสีย มีโอกาสเป็นไปได้สูง –จึงต้องตั้งฝ่ายนี้มาดูแล)


           


1 วันก่อนงานเริ่ม  ชาวร้อยห้าพากันตระเตรียมการแสดงและป้ายรณรงค์  เพื่อมาร่วมในพิธีเปิดของงานโดยพ่อเมืองแสนเก้า   คืนนี้ ชาวร้อยห้ามีเวลาพักผ่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนงานจะเริ่ม และยังต้องเดินจากที่พักไปบริเวณงานด้วย


 


วันรุ่งขึ้น อากาศค่อนข้างมีปัญหา คือ แดดร้อนจัดมาก ชาวบ้านเห็นว่าแดดร้อนอาจมีผลต่อผักชีที่นำมา เพราะกลัวผักชีตาย จึงเอาป้ายที่เขียนมาเป็นกันบังแดด แล้วเดินไปงานพร้อมกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว


 


ในพิธีเปิด ผู้คนที่มาร่วมงานก็ค่อย ๆ ทยอยเข้ามาเพราะแดดร้อนมาก และผักชีที่นำมาอาจเสียได้ ในช่วงพิธีเปิดจึงกินเวลาไปนานพอสมควร เมื่อเวลาที่เปิดงานมาถึง พ่อเมืองก็มา ชาวชุมชนต่าง ๆ ดีใจมากที่พ่อเมืองมา และให้ความสำคัญกับงานนี้ และหลังจากนั้นก็เป็นการแสดงของชาวร้อยห้า


 


การแสดงของชาวร้อยห้า แม้จะมีเวลาเตรียมไม่มากแต่ก็ออกมาดี แต่ยังมีเสียงนินทาว่า การแสดงเกะกะ มาวุ่นวายงาน ชาวร้อยห้าได้ยินแต่ก็ไม่ว่าอะไร เพราะคนที่ไม่เข้าใจก็ไม่ผิดที่จะว่ากล่าว ….. (ไม่ถือสา แต่รู้สึก)


 


ภายในบริเวณงาน แดดร้อนมาก ผู้คนพากันนำผักชีมาเก็บไว้ในที่ล่ม บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงาไม่มีผู้คนมากหน้าหลายตาเหมือนทุกปี ที่เคยจัดที่วัด


 


กิจกรรมในงานแบ่งชัดเจนคือ ข้างหน้าสวนเป็นของชุมชนอื่น ๆ รวมกัน และข้างหลังสวนเป็นของชุมชนร้อยห้า คนที่มาร่วมงานที่ด้านหน้าก็จะไม่ไปด้านหลังเพราะเดินไกล แดดร้อนมาก งานจึงออกมาแบบแบ่งกันชัดเจนเกินไป ชาวร้อยห้าจึงเหมือนจัดงานดูกันเอง


 


3


วันที่สองของงาน ไม่ค่อยมีแดดมากเหมือนวันแรก มีคนสนใจกิจกรรมของชุมชนร้อยห้ามากขึ้น มีคนมาร่วมลานวัฒนธรรม และซุ้มกิจกรรม ที่สำคัญคือ ชาวชุมชนร้อยห้าจะมีโอกาสแสดงการแสดงในพิธีปิด เพราะทางชุมชนหมื่นสาม แม่งานหลักได้แบ่งเวลาให้หลายนาที


 


พอทราบ ชาวร้อยห้าก็เตรียมการแสดงในพิธีปิดไปด้วย โดยการวาดรูปภายในงานเพื่อเผยแพร่ให้กับชุมชนอื่น มีทีมวาดรูป ที่ตั้งหน้า ตั้งตาวาดรูปตั้งแต่เช้าถึงเย็น


 


ในคืนสุดท้ายก่อนจบงาน  ชาวชุมชนร้อยห้าได้เตรียมการแสดงพิธีปิด ชาวชุมชนร้อยห้ามุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ที่จะแสดงให้ชุมชนอื่นได้ดู   คืนนี้ทุกคนก็มีเวลานอนไม่กี่ชั่วโมงเหมือนวันแรก


 


วันสุดท้ายมาถึง วันนี้มีกิจกรรมไฮไลท์ของงานคือ การนำผักชีที่แต่ละชุมชนนำมา มารวมกันที่เตาอบแล้วจะมีการอบกลิ่นให้โชยไปทั่วเมือง โดยจะเผาเมื่อพ่อเมืองมาปิดงาน


 


วันนี้เอง ทีมที่วาดรูปของชุมชนร้อยห้าที่ยังทำไม่เสร็จก็ตั้งใจทำอย่างเร่งรีบ ไม่ได้กินข้าวเช้า ข้าวเที่ยง  และแล้วเวลาที่จะต้องปิดงานก็มาถึง ชาวชุมชนร้อยห้า ต้องช่วยกันขนของจากหลังสวน มาที่หน้าสวนซึ่งเป็นบริเวณปิดงาน   พอมาด้านหน้าสวน ปรากฏว่าภายในศาลาที่ปิดงาน มีคนนั่งเต็มไปหมดไม่มีที่เหลือในชาวชุมชนร้อยหานั่งสักที่  ชาวร้อยห้าจึงต้องนั่งนอกศาลา พร้อมกับอากาศร้อนอบอ้าว


 


พิธีปิดเริ่มขึ้น โดยตัวแทนชุมชนหมื่นสามพูดรายงาน โดยย้ำว่างานนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะช่วยกันลดกลิ่นเสีย โดยให้ความสำคัญกับชุมชนร้อยห้า และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ดังคำขวัญที่ว่า "กลิ่นเสียลดต้องกล้า  ให้ชุมชนร้อยห้ามีส่วนร่วม"


 


แล้วเชิญพ่อเมืองมาพูดปิดงานและทำพิธีเทผักชีโรยหน้าเตาอบแล้วจึงจุดเตาให้กลิ่นของผักชีระเหยไปทั่วเมือง   จากนั้นพ่อเมืองก็กล่าวปิดงาน และมีการแสดงมหรสพจากชุมชนสามพัน และย้ำว่าพิธีปิดจบแล้ว กลับบ้านได้เลย ไม่ต้องอยู่แล้ว ผู้คนบางกลุ่มก็กลับจริง ๆ แต่บางคนก็จะอยู่รอดูมหรสพก่อน


 


อารมณ์ของผู้คนในงานตอนนี้คงอยู่ที่ความสนุกจากมหรสพมากกว่าอื่นใด….


 


ชาวชุมชนร้อยห้า งงงวยกับพิธีการในช่วงปิดมาก เพราะทุกปีเท่าที่ทราบคือ ต้องแสดงให้จบหมดก่อนแล้วพ่อเมืองกล่าวปิด แต่ปีนี้ต่างกันมาก  บรรยากาศไม่ดีด้วย ชาวชุมชนร้อยห้าเสียใจกับสิ่งที่ออกมามากจึงพากันเดินออกจากศาลา กลับไปหลังสวน ทำการปิดกันเอง   


 


ผลคือ การแสดงที่เตรียมมาร่วมพิธีปิด ไม่ได้แสดง……. ภาพที่ตั้งใจวาดอย่างยิ่งก็ไม่ได้เผยแพร่…… สุดท้ายก็ทำให้กันดู แต่อารมณ์ซึ้งกว่างานปิดที่ศาลามากกว่า


 


ปิดกันเองเสร็จ ชาวชุมชนร้อยห้าต่างพากันกลับชุมชน ลูกหลานที่มาจากต่างถิ่น ก็กลับไปเรียน ไปทำงานตามเดิม


 


4


เทศกาลในครั้งนี้ อาจเป็นพิธีกรรมหนึ่งของเมืองแสนเก้าที่จัดทำมาทุกปี เป็นการสร้างกระแสให้ผู้คนลดกลิ่นเสียจากสาเหตุต่าง ๆ  เทศกาลปีนี้ ฝ่ายกรองกลิ่นเสียเข้าหู คงต้องทำงานหนักในปีหน้า เพราะปีนี้ผู้คนคงหูเสียไปตาม ๆ กัน แต่ไม่ว่าหูของใครจะเสียขนาดไหน หากทุกชุมชนในเมืองแสนเก้า มาร่วมมือกันทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ก็จะช่วยลดอันตรายและผลกระทบจากกลิ่นเสียได้เป็นอย่างดี  ไม่ต้องเสียเวลามาจัดเทศกาลเทผักชีทุกปีให้มันผ่าน ๆ ไปก็ได้ เพียงแต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เท่านั้นเอง


 


เทศกาลเทผักชีปีนี้จบลงด้วยความสุขของชุมชนอื่น ๆ แต่ไม่ใช่กับชุมชนร้อยห้า ชุมชนหมื่นสามคงเข้าใจคำว่ามีส่วนร่วมเพียงแค่ให้ชาวร้อยห้าเป็นผู้เข้าร่วมเท่านั้น  คำถามคือ เทศกาลนี้ชาวร้อยห้ามีส่วนร่วมขนาดไหน??   สุดท้ายก็เป็นเครื่องมือดี ๆ ของเมืองเท่านั้นเองหรือ???


 


กลิ่นของผักชีหอมระทวยไปทั่วเมือง พร้อมกับคำถามที่ค้างคาใจชาวร้อยห้า ต่าง ๆ นานา ……………………..


 


ทำไมถึงไม่จัดที่วัดเหมือนทุกปี ทำไมปีนี้มาจัดที่สวนสาธารณะ


ทำไมต้องแยกกิจกรรมหน้าสวน หลังสวน


ทำไมแดดร้อนจัดมาก


ทำไมชาวร้อยห้า ไม่มีโอกาสได้แสดงในพิธีปิด


ทำไมช่วงปิดงานปีนี้ วางพิธีการไม่เหมือนปีก่อน ๆ


ทำไมต้อง "กลิ่นเสียลดต้องกล้า  ให้ชุมชนร้อยห้ามีส่วนร่วม" 


ทำไม การลดกลิ่นเสียไม่ดึงชุมชนอื่นมาร่วมด้วยช่วยกัน


 


รู้ไหมว่า ชาวร้อยห้าเหนื่อยเพียงไหน


รู้ไหมว่า ชาวร้อยห้าเตรียมงานแต่ละวันมีเวลานอนเท่าไหร่


รู้ไหมว่า ชุมชนร้อยห้าไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของงาน แต่เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำร่วมกับชุมชนอื่นอย่างเท่าเทียมกัน


รู้ไหมว่า ลูกหลานของชุมชนร้อยห้าต้องเสียการเรียน การทำงานแค่ไหน ที่ต้องมางานนี้


รู้ไหมว่า ผักชีที่ชุมชนร้อยห้านำมาสมทบคือผักชีไร่สุดท้ายของชุมชนแล้ว


 


และ


รู้ไหมว่า…….. ใครเจ็บ !?